แบงก์-นอนแบงก์
EXIM BANK เดินหน้าลุยปั้นคนตัวเล็กเป็นผู้ส่งออก เปิดตัวโครงการ "EXIM เพื่อคนตัวเล็ก" สร้าง SMEs ให้แกร่ง พาบุกเจาะตลาดอาเซียน เตรียมวงเงิน 5 พันล้าน ปล่อยกู้


 
EXIM BANK ฉลองครบรอบ 29 ปี ก้าวขึ้นสู่ปีที่ 30 เปิดตัวโครงการ “EXIM เพื่อคนตัวเล็ก” ตอกย้ำบทบาท “ธนาคารเพื่อการพัฒนาประเทศไทย” โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เร่งสร้าง SMEs ให้แข็งแกร่ง ขับเคลื่อนภาคการส่งออกและเศรษฐกิจไทย พร้อมเตรียมวงเงินปล่อยกู้ 5 พันล้านบาท ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ปล่อยกู้รายละ 2 แสนบาท - 2 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 6%
 
 
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ในโอกาสครบรอบ 29 ปี ก้าวขึ้นสู่ปีที่ 30 ของการเปิดดำเนินงาน EXIM BANK ได้เปิดโครงการ “EXIM เพื่อคนตัวเล็ก” ซึ่งเป็นโครงการที่จะช่วยเหลือและเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการไทยให้สามารถเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจระหว่างประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา วิสาหกิจชุมชน หรือผู้ประกอบการ SMEs ที่ทำธุรกิจเชื่อมโยงกับ Supply Chain การส่งออก โดย SMEs ถือเป็นรากแก้วของประเทศไทยที่มีจำนวนมากถึง 99.6% ของผู้ประกอบการไทยทั้งหมด สร้างการจ้างงานได้มากถึง 12.6 ล้านราย คิดเป็นสัดส่วน 72% ของทั้งระบบ และมีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ 35% ของ GDP ดังนั้น EXIM BANK จึงให้ความสำคัญในการดูแลให้รากแก้วของประเทศเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยใช้เครื่องมือ “3 เติม” ได้แก่ “เติมความรู้ เติมโอกาส และเติมเงิน” และชูบทบาทธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ดูแลให้คำปรึกษา บ่มเพาะ สร้างโอกาส และเติมเงินทุนอย่างใกล้ชิดและครบวงจร

 
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวต่อไปว่า EXIM BANK เริ่มต้นจากการให้คำปรึกษาแนะนำ ทั้งทางออนไลน์และการสัญจรลงพื้นที่ แก้ไขปัญหาให้ธุรกิจระดับครัวเรือนและชุมชน หมายรวมถึงการแก้ปัญหาหนี้ภาคธุรกิจ ซึ่งข้อมูล ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2565 พบว่า หนี้ภาคธุรกิจอยู่ในระดับกว่า 13.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% จากช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ซึ่งอยู่ที่ 11.4 ล้านล้านบาท โดยวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมาได้ซ้ำเติมภาคธุรกิจยิ่งขึ้นไปอีก ทำให้ NPLs ของ SMEs ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2565 อยู่ในระดับสูงถึง 6.8% สวนทางกับ NPLs ของธุรกิจขนาดใหญ่ที่เริ่มลดลงมาอยู่ที่ 1.9% สาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก SMEs ไทยขายแต่ในประเทศเป็นหลัก ซึ่งเศรษฐกิจไทยมีขนาดเล็ก โตเฉลี่ย 10 ปีเพียง 2.3% หนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ระดับสูงถึง 88.2% ต่อ GDP ยิ่งบั่นทอนกำลังซื้อภายในประเทศขึ้นไปอีก นอกจากนี้ EXIM BANK มีโครงการอบรมบ่มเพาะความรู้และทักษะของผู้ประกอบการ ประกอบกับการพัฒนาช่องทางใหม่ๆ อาทิ แพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อเป็นช่องทางลัดให้ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพสามารถเข้าสู่การค้าไร้พรมแดนได้โดยเร็ว ตลอดจนเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลายและครบวงจร ทั้งสินเชื่อและบริการประกันการส่งออก เพื่อเสริมสภาพคล่องและคุ้มครองความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศให้ธุรกิจ SMEs ไทยเดินต่อไปได้อย่างไม่สะดุด เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ท่ามกลางปัจจัยท้าทายทั้งทางการค้าและการเมืองระหว่างประเทศ

 
ดร.รักษ์ กล่าวว่า ภายใต้โครงการ EXIM เพื่อคนตัวเล็ก EXIM BANK จะเร่งเดินหน้าปั้นคนตัวเล็กเป็นผู้ส่งออก อาทิ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ซึ่งผลิตและจำหน่ายสินค้าในประเทศหรือจำหน่ายให้แก่ผู้ส่งออกอยู่แล้ว แต่ยังไม่เคยเริ่มต้นส่งออกเอง และกลุ่มผู้ส่งออกทางอ้อม (Indirect Exporters) อาทิ พ่อค้าแม่ค้าที่ขายสินค้าให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ นอกจากจะสร้างรายได้จากการขายแล้ว ยังเป็นการสร้างพลัง Soft Power ให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จักและนิยมในตลาดโลกมากขึ้นด้วย โดยรูปแบบของการให้คำปรึกษาจะมีทั้งทางออนไลน์และลงพื้นที่ในตลาดหรือชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาเราได้นำร่องจัด “คลินิก EXIM เพื่อคนตัวเล็ก” ไปแล้ว เพื่อต่อยอดจากมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ที่กระทรวงการคลังร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยและสถาบันการเงินของรัฐ 9 แห่งเพิ่งจัดเสร็จไปทั้งสิ้น 5 ครั้งในช่วงปลายปี 2565-2566 โดยมีเป้าหมายเพื่อตรวจสุขภาพทางการเงินและให้คำปรึกษาด้านการปรับแผนธุรกิจ การบริหารจัดการทางการเงิน การปรับโครงสร้างหนี้และแก้ไขหนี้เสีย และการเติมเงินทุน ในระยะข้างหน้า EXIM BANK มีโครงการจะพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ใหม่ ๆ เพื่อสร้างโอกาสให้คนตัวเล็กเข้าสู่ตลาดโลกได้มากขึ้น รวมทั้งเร่งใช้โมเดล “พี่จูงน้อง” เชื่อมโยง Supply Chain การค้าระหว่างประเทศ

 
“โมเดลพี่จูงน้อง จะเป็นในลักษณะเจ้าสัวหรือกิจการขนาดใหญ่ช่วยคนตัวเล็กหรือกิจการขนาดเล็ก โดยสั่งซื้อสินค้าวัตถุดิบที่จะนำมาผลิตจาก SMEs ซึ่ง EXIM BANK จะลดอัตราดอกเบี้ยให้ 0.25% เพื่อสนับสนุนให้คนตัวเล็กขายสินค้าได้และสร้างโอกาสให้คนตัวเล็กเข้าสู่ตลาดโลกได้”ดร.รักษ์ กล่าว

 
ดร.รักษ์ กล่าวต่อไปว่า จากจุดยืนใหม่สู่บทบาทธนาคารเพื่อการพัฒนาประเทศไทย โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง EXIM BANK วันนี้จึง Go the Extra Mile จัดทำโครงการที่ก้าวข้ามข้อจำกัด นอกเหนือจากภารกิจหน้าที่โดยตรง เป็นมากกว่าธนาคาร (Beyond Banking) รับฟังและแก้ไขปัญหาทางการเงินให้แก่ประชาชาชน กระตุ้นให้เกิดธุรกิจที่แข็งแรงพอจะเข้าร่วม Supply Chain การส่งออกได้ นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับฐานรากให้แข็งแกร่ง สร้างมูลค่าและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยมีคนตัวเล็กร่วมขับเคลื่อน

 
 
“ปัจจุบัน SMEs รายเล็กของไทยมี 3.17 ล้านราย แต่มีเพียง 1% เท่านั้น หรือประมาณ 3 หมื่นราย ที่มีความเข้มแข็งและส่งออกได้ ที่เหลือมีอยู่จำนวนไม่น้อยที่เป็นหนีเสีย จึงต้องพยายามหาทางคิดโครงการเข้ามาช่วยเหลือเพื่อให้ SMEs ที่อ่อนแอกลับมาเข้มแข็งและยืนอยู่ต่อไปได้และพร้อมที่จะเป็นผู้ส่งออกได้ในอนาคต จึงเกิดโครงการ EXIM เพื่อคนตัวเล็ก ขึ้นมาโดยร่วมมือกับพันธมิตร พร้อมกันนี้ได้เตรียมวงเงินไว้ 5 พันล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ให้กับคนตัวเล็ก โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ต้องเข้ามาอยู่ในโครงการนี้ก่อนเท่านั้น โดยจะปล่อยกู้ให้รายละ 2 แสนบาท - 2 ล้านบาท ด้วยอัตราดอกเบี้ยเพียง 6% และหากประกอบธุรกิจดีสามารถขยายวงเงินกู้ได้อีก นอกจากนี้ หากเป็นธุรกิจที่เน้นความยั่งยืนด้าน ESG โดยเป็นกิจการที่มีกระบวนการผลิตสินค้าที่ Green สะอาด รักษาระบบนิเวศน์ อัตราดอกเบี้ยจะลดลงเหลือเพียง 5% เพื่อผลักดันให้สินค้าไปขายในตลาดโลกได้ นอกจากนี้ เร็วๆ นี้  EXIM BANK จะออก Green Bond เพื่อ SMEs ไทย ซึ่งจะเป็นการผลักดันให้ธุรกิจ SMEs ก้าวไปสู่ตลาดโลก” ดร.รักษ์ กล่าว

 
ดร.รักษ์ กล่าวอีกว่า เป้าหมายของ EXIM BANK ที่วางไว้ในปีนี้ในการจะทำให้ SMEs รายเล็ก เข้มแข็งจนสามารถเป็นผู้ส่งออกได้ คือ เพิ่มจำนวนขึ้นอีก 1 หมื่นราย จากเดิม 3 หมื่นราย เป็น 4 หมื่นราย และในอนาคตจะเพิ่มมากขึ้นต่อไป ด้วยบทบาทของ EXIM BANK ในการเป็นพี่เลี้ยงนำพา SMEs รายเล็กเหล่านี้บุกไปเจาะตลาดต่างประเทศ ไม่เฉพาะตลาด CLMV (กัมพูชา ลาว สหภาพเมียนมาร์ เวียดนาม) เท่านั้น แต่ไปเจาะตลาดอาเซียนด้วย ทั้งมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เพราะมองว่าปี 2566 นี้ ตลาดอาเซียนน่าจะเติบโตสูงสุดในโลก

 
สำหรับเครื่องมืออื่นที่จะช่วยคนตัวเล็กในการบุกตลาดโลก นอกจากเครื่องมือ 3 เติม แล้ว “เติมความรู้ เติมโอกาส และเติมเงิน” ก็จะมีการให้บริการทางด้านประกันการส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงให้ผู้ส่งออกค้าขายได้ด้วยความมั่นใจว่าจะได้รับเงินแน่นอน โดยครอบคลุมความเสี่ยงทั้งที่เกิดจากสาเหตุด้านการค้าและด้านการเมือง รวมถึงบริการเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน จากภาวะตลาดการเงินโลกผันผวน

LastUpdate 17/02/2566 18:19:44 โดย : Admin
18-09-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ September 18, 2024, 12:37 pm