Krungthai COMPASS มองว่า กรณีที่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาด ส่งออกหลักถุงมือยางของไทยประกาศห้ามใช้ถุงมือยางธรรมชาติในอุตสาหกรรมการแพทย์และอุตสาหกรรมอาหารในระยะสั้นจะกระทบต่อการส่งออกถุงมือยางของไทยไม่มากนัก เนื่องจากจนถึงปัจจุบันมีการบังคับใช้กฎหมายนี้เพียง 8 จาก 50 รัฐ อย่างไรก็ตาม การห้ามนำเข้าถุงมือยางธรรมชาติในรัฐอื่นของสหรัฐฯ รวมทั้งในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วยังคงเป็นประเด็นต้องจับตาต่อไป
ในปี 2566-2567 คาดว่ามูลค่าส่งออกถุงมือยางของไทยจะอยู่ที่ 1,603 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 1,699 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 3.8%YoY และ 6.0%YoY จากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมการแพทย์และอุตสาหกรรมอาหารของโลกยังคงมีแนวโน้มเติบโต ขณะที่ในปี 2566 ราคาส่งออกจะลดลงจากอุปทานส่วนเกินที่ยังมีอยู่ ส่วนในปี 2567 การผลิตและความต้องการใช้ถุงมือยางโลกที่เริ่มสมดุล ทำให้ราคาส่งออกกลับมามีเสถียรภาพมากขึ้น
ผู้ประกอบการควรพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ที่แพ้ถุงมือยางธรรมชาติ รวมทั้งขยายตลาดส่งออกใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เช่น จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เป็นต้น ขณะที่ภาครัฐควรสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
แม้ไทยจะเป็นผู้ส่งออกถุงมือยางรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากมาเลเซีย และจีน แต่ในปี 2566 อาจกล่าวได้ว่าเป็นอีกหนึ่งปีที่ท้าทายสำหรับธุรกิจส่งออกถุงมือยางไทย ความท้าทายดังกล่าวเริ่มทยอยปรากฎตั้งแต่ปี 2565 เมื่ออุปทานถุงมือยางตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากการเร่งขยายกำลังการผลิตของผู้ประกอบการรายใหญ่ของโลก ส่งผลให้ราคาส่งออกถุงมือยางลดลง ขณะเดียวกันประเทศคู่ค้าก็เข้มงวดในด้านสวัสดิภาพแรงงานและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมาตรฐานความปลอดภัยของสินค้ามากขึ้น ยกตัวอย่างในปี 2564 ที่สหรัฐฯ มีคำสั่งกักสินค้าของบริษัท Top Glove Corp ผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่สัญชาติมาเลเซียไม่ให้เข้าประเทศ โดยอ้างว่าทางบริษัทมีการบังคับใช้แรงงานในสายการผลิต
จนถึงปัจจุบันมี 8 รัฐในสหรัฐฯ แล้วที่ห้ามใช้ถุงมือยางธรรมชาติ (Latex Gloves) ในอุตสาหกรรมธุรกิจบริการอาหารและอุตสาหกรรมการแพทย์ ซึ่งสร้างความกังวลต่อหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องว่าจะกระทบต่อการส่งออกถุงมือยางของไทยแค่ไหน เนื่องจากสหรัฐเป็นตลาดส่งออกถุงมือยางอันดับ 1 ของไทย คิดเป็นสัดส่วนถึงราว 44% ของการส่งออกถุงมือยางทั้งหมด (รูปที่ 1) จึงมีคำถามที่น่าสนใจว่า ท่ามกลางแรงกดดันที่กล่าวมาข้างต้น การส่งออกถุงมือยางไทยยังไปต่อได้หรือไม่ รวมทั้งผู้ประกอบการไทยควรปรับตัวอย่างไร
สถานการณ์ส่งออกถุงมือยางของไทยไปสหรัฐฯ ช่วงที่ผ่านมาเป็นอย่างไร?
ในปี 2565 มูลค่าส่งออกถุงมือยางธรรมชาติและถุงมือยางสังเคราะห์ของไทยไปตลาดสหรัฐฯ อยู่ที่ 625 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 55.4%YoY ซึ่งเป็นผลจากทั้งด้านราคาและปริมาณ โดยราคาส่งออกลดลง 40.2%YoY ตามทิศทางราคาถุงมือยางตลาดโลกที่ลดลง เนื่องจากอุปทานถุงมือยางในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นมาก จากการที่ผู้ประกอบการถุงมือยางรายใหญ่ของโลกเร่งขยายกำลังการผลิต ส่วนปริมาณส่งออกอยู่ที่ 6.7 ล้านคู่ หรือลดลง 25.5%YoY เนื่องจากความต้องการใช้ถุงมือยางของสหรัฐฯ ลดลงจากการระบาดของ COVID-19 ที่คลี่คลาย แต่ก็ยังถือเป็นระดับการส่งออกที่สูงกว่าในช่วงก่อนเกิด COVID-19
ไทยส่งออกถุงมือยางธรรมชาติมากน้อยแค่ไหน?
เมื่อพิจารณาการส่งออกถุงมือยางธรรมชาติ ไทยส่งออกถุงมือยางธรรมชาติเป็นหลักคิดเป็นสัดส่วนราว 68% ของการส่งออกถุงมือยางทั้งหมดของไทย ที่เหลือเป็นถุงมือยางสังเคราะห์ โดยไทยมีสัดส่วนส่งออกถุงมือยางธรรมชาติไปยังสหรัฐคิดเป็น 58% ของการส่งออกถุงมือยางทั้งหมด (จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ พบว่า ในปี 2565 ไทยส่งออกถุงมือยางธรรมชาติไปสหรัฐฯ คิดเป็น 86% ของการส่งออกถุงมือยางธรรมชาติทั้งหมด) ซึ่งหากจำแนกตามอุตสาหกรรมที่ใช้ถุงมือยางในสหรัฐ ส่วนใหญ่ใช้ในอุตสาหกรรมการแพทย์คิดเป็นสัดส่วน 80% ของการนำเข้าถุงมือยางทั้งหมด ที่เหลือใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งอุตสาหกรรมการผลิต (รูปที่ 3)
ล่าสุดมีกี่รัฐในสหรัฐฯ แล้ว ที่ออกกฏหมายห้ามใช้ถุงมือยางธรรมชาติ?
ปัจจุบัน 8 รัฐจากทั้งหมด 50 รัฐในสหรัฐออกกฏหมายห้ามใช้ถุงมือยางธรรมชาติ ได้แก่ รัฐแอริโซนา รัฐแคลิฟอร์เนีย รัฐคอนเนกทิกัต รัฐฮาวาย รัฐโอไฮโอ รัฐโรดไอแลนด์ รัฐแมสซาชูเซตส์ และล่าสุด คือ รัฐอิลลินอยส์ (รูปที่ 4) ที่มีการผ่านร่างกฎหมายห้ามใช้ถุงมือธรรมชาติในธุรกิจบริการอาหาร ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 และอุตสาหกรรมการบริการทางการแพทย์ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2567 โดยสาเหตุหลักที่หลายรัฐต่างออกกฎหมายห้ามใช้ถุงมือยางธรรมชาติ เนื่องจากมีข้อมูลบ่งชี้ว่า ผู้ใช้บางรายเกิดอาการแพ้แป้งในถุงมือยางธรรมชาติ (สาเหตุที่ถุงมือยางธรรมชาติส่วนใหญ่มีการเคลือบแป้ง เพื่อช่วยให้สวมใส่ได้ง่ายขึ้น) หรือบางรายมีอาการแพ้โปรตีนที่อยู่ในยางธรรมชาติ ส่งผลให้มีอาการระคายเคืองผิวหนัง ผื่นคล้ายลมพิษ มีน้ำมูกไหล ไอ จาม ระคายเคืองในคอ บางรายถึงกับมีอาการหายใจลำบาก หอบหืด และช็อกได้
นอกจากสหรัฐแล้ว มีประเทศไหนอีกบ้างที่ห้ามใช้ถุงมือยางธรรมชาติ?
ในช่วงที่ผ่านมามีหลายประเทศที่ห้ามใช้ถุงมือยางธรรมชาติแล้ว โดยเยอรมนีเป็นประเทศแรกๆ ที่ออกกฎระเบียบในการห้ามใช้ถุงมือยางที่มีส่วนประกอบของแป้งในการผ่าตัดและตรวจโรค โดยเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2543 ต่อมาในช่วงปี 2558-2564 หลายประเทศก็ทยอยออกมาตรการห้ามใช้ถุงมือยางที่มีส่วนประกอบของแป้ง เช่น ซาอุดิอาระเบีย ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น ขณะที่เมื่อพิจารณารายละเอียดของมาตรการห้ามใช้ถุงมือยางที่มีส่วนประกอบของแป้งจะเป็นการห้ามใช้ในวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เช่น การผ่าตัด การตรวจโรค (ตารางที่ 2)
มาตราการแบนถุงมือยางถุงมือธรรมชาติของประเทศคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐฯ จะส่งผลต่อผู้ประกอบการกลุ่มไหนบ้าง?
Krungthai COMPASS ประเมินว่า มาตรการดังกล่าวจะกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานยางพาราไทย ดังต่อไปนี้
1. ธุรกิจผลิตถุงมือยางธรรมชาติ เพราะผู้นำเข้าบางส่วนหันไปนำเข้าถุงมือยางประเภทอื่นมากขึ้น เช่น ถุงมือยางสังเคราะห์ อย่างไรก็ตามสำหรับตลาดส่งออกในสหรัฐฯ แม้จะเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย แต่คาดว่าในระยะสั้นความรุนแรงของผลกระทบยังไม่มากนัก เนื่องจากเป็นการบังคับใช้กฎหมายเพียงบางรัฐ
Krungthai COMPASS ประเมินว่า ผลกระทบล่าสุด จากการที่รัฐอิลลินอยส์ผ่านร่างกฎหมายห้ามใช้ถุงมือธรรมชาติจะกระทบการส่งออกถุงมือยางธรรมชาติของไทยเท่ากับ 3.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 41.69 ล้านคู่ คิดเป็น 0.2% ของปริมาณส่งออกถุงมือยางทั้งหมดของไทย โดยวิธีการคำนวณจะประเมินจากความต้องการนำเข้าถุงมือยางสหรัฐฯ ทั้งหมดในปี 2566 ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 3,449 ล้านเหรียญสหรัฐ คูณด้วยสัดส่วนการประเมินเบื้องต้นว่าสหรัฐนำเข้าถุงมือยางธรรมชาติ สัดส่วน 21.3% ของการนำเข้าถุงมือยางทั้งหมด ถ้าคิดเฉพาะสัดส่วนของรัฐอิลลินอยส์ซึ่งมีประชากรราว 3.8% ของประชากรรวมในสหรัฐ จะกระทบมูลค่าการนำเข้าถุงมือยางธรรมชาติ เท่ากับ 27.85 ล้านเหรียญสหรัฐ และกำหนดให้ผลกระทบแต่ละประเทศที่ส่งออกถุงมือยางธรรมชาติไปสหรัฐ จะได้รับผลกระทบตามสัดส่วนตลาด ซึ่งไทยมีสัดส่วนตลาดในสหรัฐประมาณ 13.6% ที่เหลือเป็นการนำเข้าจากประเทศมาเลเซีย และจีน
ทั้งนี้จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ พบว่า ผู้ส่งออกถุงมือยางธรรมชาติ 10 อันดับแรก เป็นผู้ประกอบการสัญชาติไทยมากที่สุด (3 ราย) รองลงมาเป็นอินเดีย (2 ราย) จีน (2 ราย) ที่เหลือเป็นอเมริกา (1 ราย) ศรีลังกา (1 ราย) มาเลเซีย (1 ราย) อย่างไรก็ตาม ผลกระทบอาจมากน้อยแตกต่างกัน โดยผู้ประกอบรายใหญ่บางรายมีความสามารถในการปรับเปลี่ยนไปส่งออกถุงมือยางในกลุ่มไนไตรล์แทนได้ ซึ่งตลาดดังกล่าวไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้ อีกทั้งบางรายมีการเพิ่มสัดส่วนรายได้ของการส่งออกถุงมือยางธรรมชาติที่ปราศจากแป้งบ้างแล้ว โดยถุงมือยางกลุ่มนี้เป็นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเคลือบผิวสัมผัสภายในถุงมือยาง เพื่อให้สวมใส่ได้ง่ายโดยไม่ต้องใช้แป้ง
2. ธุรกิจผลิตน้ำยางข้น เนื่องจากผลผลิตน้ำยางข้นทั้งหมดที่ไทยผลิตเพื่อใช้ในประเทศในแต่ละปีใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตถุงมือยางราว 44% (รูปที่ 5) ที่เหลือใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตถุงยาง ยางรัดของ นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำยางข้นไปในตลาดมาเลเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกถุงมือยางธรรมชาติรายใหญ่ของโลก จากความต้องการใช้น้ำยางข้นของมาเลเซีย เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตถุงมือยางเพื่อส่งออกที่ลดลงจากการปรับเปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบประเภทอื่นทดแทน
ทิศทางการส่งออกถุงมือยางในระยะข้างหน้าจะเป็นอย่างไร?
Krungthai COMPASS ประเมินว่า ในปี 2566-2567 มูลค่าส่งออกถุงมือยางรวม (ถุงมือยางธรรมชาติและถุงมือยางสังเคราะห์) จะอยู่ที่ 1,603 ล้านเหรียญสหรัฐ (56,909 ล้านบาท) และ 1,699 ล้านเหรียญสหรัฐ (56,927 ล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้น 3.8%YoY และ 6.0%YoY ซึ่งเมื่อพิจารณาในด้านปริมาณส่งออกถุงมือยางคาดว่าจะอยู่ที่ 24.3 พันล้านคู่ และ 25.3.พันล้านคู่ ตามลำดับ เพิ่มขึ้น 5.7%YoY และ 4.3%YoY เนื่องจากความต้องการใช้ถุงมือยางในตลาดโลกที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมการแพทย์ที่มีแนวโน้มเติบโต อีกทั้งถุงมือยางยังเป็นสินค้าจำเป็นในยุคที่ผู้บริโภคใส่ใจเรื่องสุขอนามัย รวมทั้งความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมอาหารที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการให้ความสำคัญในเรื่องมาตรฐานการผลิตอาหารที่ถูกสุขลักษณะและความปลอดภัยของอาหาร
ขณะที่ราคาส่งออกถุงมือยางในปี 2566 จะอยู่ที่ 66.0 เหรียญสหรัฐต่อพันคู่ หรือลดลง 1.5%YoY จาก 67.1 ในปี 2565 และในปี 2567 ราคาส่งออกจะอยู่ที่ 67.1 เหรียญสหรัฐต่อพันคู่ หรือเพิ่มขึ้น 1.6%YoY ตามลำดับ โดยราคาที่ลดลงในปี 2566 เกิดจากอุปทานส่วนเกินในช่วงที่มีการเร่งขยายกำลังการผลิตในช่วงการระบาดของ COVID-19 ส่วนในปี 2567 คาดว่าปัญหาอุปทานถุงมือยางส่วนเกินจะเริ่มคลี่คลายจากการผลิตและความต้องการใช้ถุงมือยางโลกที่เริ่มเข้าสู่ภาวะสมดุล (รูปที่ 6) ส่งผลให้ราคาส่งออกถุงมือยางกลับมามีเสถียรภาพมากขึ้นอยู่ที่เฉลี่ย 67.1 เหรียญสหรัฐต่อพันคู่ (รูปที่ 7) อย่างไรก็ตาม ในระยะข้างหน้ายังต้องจับตามาตรการห้ามนำเข้าถุงมือยางธรรมชาติในรัฐอื่นของสหรัฐ รวมทั้งในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วที่ให้ความสำคัญกับมาตรฐานความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ค่อนข้างมาก
Implication:
Krungthai COMPASS แนะนำผู้ประกอบการผลิตถุงมือยาง ดังต่อไปนี้
• วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ สำหรับผู้ที่แพ้ถุงมือยางธรรมชาติ โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศมีการทำตลาดในสินค้ากลุ่มนี้แล้ว เช่น บมจ. ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) มีการพัฒนาถุงมือยางที่ไม่มีส่วนผสมของแป้งส่งออกไปยังสหรัฐฯ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเคลือบผิวสัมผัส เช่น การเคลือบสารโพลิเมอร์ภายในถุงมือยาง เพื่อให้สวมใส่ได้ง่ายโดยไม่ต้องใช้แป้งข้าวโพด ทำให้ผู้ที่แพ้แป้งสามารถใส่ถุงมือยางได้ หรือบริษัท Top Glove ของมาเลเซีย ที่พัฒนาถุงมือยางที่ไม่ระคายเคืองต่อผิวหนัง รวมทั้งปลอดจาก Type I Latex Allergy & Type IV Allergic
• ขยายตลาดส่งออกใหม่ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ความต้องการใช้ถุงมือยางยังเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากมีสัดส่วนการใช้ถุงมือยางต่อประชากรในระดับต่ำ เช่น จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ โดยกลุ่มประเทศเหล่านี้มีความต้องการใช้ถุงมือยางของประชากรอยู่ที่เพียง 6-14 ชิ้นต่อคนต่อปี ต่ำกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งมีความต้องการใช้ถุงมือยางอยู่ที่ 133-300 ชิ้นต่อคนต่อปี และโดยเฉพาะในตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และเป็นตลาดส่งออกถุงมือยางอันดับ 2 ของไทยรองจากสหรัฐฯ โดยจากข้อมูลของ Arizton (2022) คาดว่าในปี 2565-2570 ความต้องการใช้ถุงมือยางของจีนมีจะขยายตัวเฉลี่ยถึงปีละ 9.6% CAGR
• ภาครัฐควรสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการต่อยอดไปในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ยกตัวอย่างเช่น การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ที่ร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับน้ำยางข้น โดยผลิตอุปกรณ์ฝึกสอนการเย็บแผลที่ผลิตจากยางพารา 100% หรือ การที่กยท. ร่วมมือกับหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาแผ่นรองพื้นรองเท้าเพื่อสุขภาพที่ผลิตจากยางพารา 100% เป็นต้น
อภินันทร์ สู่ประเสริ
อังคณา สิทธิการ
Krungthai COMPASS
ข่าวเด่น