ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 72 - 82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 79 - 89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (27 – 3 มี.ค. 66)
ราคาน้ำมันดิบคาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังดัชนีภาคการผลิต (PMI) ของยูโรโซนและสหราชอาณาจักรสูงกว่า 50 แสดงถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขยายตัว ลดความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ขณะที่ราคาน้ำมันมีแนวโน้มได้รับแรงสนับสนุนจากจีนที่มีการนำเข้าน้ำมันดิบมากขึ้นสอดคล้องกับ IEA ที่ปรับคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันโลกมากขึ้นเนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันของจีนที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับท่อขนส่งน้ำมัน CPC ในคาซัคสถาน ซึ่งมีปริมาณการนส่งราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวันได้หยุดดำเนินการชั่วคราวจากสภาพอากาศที่เลวร้าย ส่งผลกระทบต่ออุปทาน อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงกังวลต่อท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ซึ่งมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในการประชุม 3 ครั้งต่อไปในปีนี้
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้
S&P Global ประกาศดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคการผลิตของยูโรโซน (PMI) ประจำเดือน ก.พ. 66 ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 52.3 สูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 50.3 ขณะที่ตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคการผลิต (PMI) ของสหราชอาณาจักร (UK) ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 53.0 สูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 48.5 ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 8 เดือน ทั้งนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคการผลิตของเขตยูโรโซนและสหราชอาณาจักร ซึ่งสูงกว่า 50 สะท้อนถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขยายตัว ส่งผลให้ตลาดผ่อนคลายความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยของยุโรปลงเล็กน้อย
การนำเข้าน้ำมันดิบ Ural ของจีน ในช่วงครึ่งเดือนแรกของ ก.พ. 66 อยู่ที่ระดับ 0.8 ล้านตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันที่ระดับ 0.4 ล้านตัน เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันในจีนมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้นักวิเคราะห์หลายสำนัก (Wood Mackenzie, FGE, Energy Aspects และ S&P Global) คาดการณ์ตัวเลขการนำเข้าน้ำมันดิบในจีนมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นราว 0.5 - 1.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปีนี้ ขณะที่ปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบของอินเดียในเดือน ม.ค. 66 ปรับตัวดีขึ้นเช่นกันโดยเพิ่มขึ้น 1.7 % จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 19.96 ล้านตัน ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 6 เดือน
สำนักงานพลังงานสากล หรือ IEA คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันโลกในปี 66 เฉลี่ยที่ระดับ 101.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 1.9 ล้านบาร์เรลต่อวันเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ในรายงานเดือน ม.ค. ซึ่งเป็นการปรับเพิ่ม 0.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับรายงานเดือนก่อนหน้า หลังปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในจีนมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ IEA คาดการณ์ว่าความต้องการใช้น้ำมันอากาศยานจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.84 ล้านบาร์เรล เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
สภาพอากาศที่เลวร้ายส่งผลให้ท่อส่งน้ำมันของบริษัท Caspian Pipeline Consortium หรือ CPC ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างรัสเซีย และคาซัคสถาน ประกาศหยุดดำเนินการ โดยท่อส่งน้ำมัน CPC เป็นท่อขนส่งน้ำมันราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน (1% ของกำลังการผลิตน้ำมันโลก) จากแหล่งผลิตในคาซัคสถานและรัสเซีย ซึ่งส่งออกไปยัง Novorossiysk-2 บริเวณทะเลดำ การส่งออกน้ำมันดิบที่ลดลง ส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบตึงตัวมากขึ้น
Goldman Sachs และ Bank of America คาดการณ์ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในการประชุม 3 ครั้งถัดไป ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยสูงสุด (Terminal Rate) ของเฟด อยู่ที่ระดับ 5.25 – 5.50 % หลังดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐฯ เดือน ม.ค. อยู่ที่ระดับ 6.4 % สูงกว่าที่ตลาดคาการณ์ที่ระดับ 6.2 % ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ชี้ว่าเฟดควรที่จะคงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดไว้เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ที่ระดับเป้าหมาย
Morgan Stanley ปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 อยู่ที่ระดับ 90 - 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากคาดการณ์เดิมที่ 100 – 110 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังอุปทานน้ำมันของรัสเซียได้รับผลกระทบอย่างจำกัดจากมาตรกำหนดเพดานราคาน้ำมันดิบ (Price cap) อย่างไรก็ตาม ตลาดยังต้องจับตาความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน หลังประธานาธิบดีของสหรัฐฯ เดินทางเยือนยูเครนในวันจันทร์ที่ 20 ก.พ. ที่ผ่านมา พร้อมแสดงท่าทีสนับสนุนอาวุธเพิ่มเติมให้กับยูเครนและพร้อมพิจารณาใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติม
เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐฯ ในเดือน ก.พ. 2566 และอัตราการว่างงานของยูโรโซน ในเดือน ก.พ. 2566
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (20 – 24 ก.พ. 66)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 0.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 76.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 0.91 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 83.16 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 81.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังบันทึกการประชุม FED เมื่อวันที่ 31 - 1 ก.พ. 66 (รายงาน ณ วันที่ 21 ก.พ. 66) แสดงว่าคณะกรรมนโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ มีมติปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.25% และบางส่วนมีความเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.50% โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนมีความเห็นตรงกันว่าอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงสูง เป็นปัจจัยสำคัญที่ควรมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยต่อไป จนกว่าจะควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับเป้าหมายที่ 2% นอกจากนี้ตลาดคาดว่าอุปสงค์น้ำมันดิบในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลง หลังเข้าใกล้ฤดูกาลซ่อมบำรุงโรงกลั่นในสหรัฐฯ โดยนักวิเคราะห์คาดว่าในช่วงปลายสัปดาห์หน้า โรงกลั่นหลายแห่งกำลังการผลิตน้ำมันกว่า 1.44 ล้านบาร์เรลต่อวันจะหยุดซ่อมบำรุง
ข่าวเด่น