เศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนมกราคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล และภาคตะวันตก ที่การบริโภคเพิ่มขึ้นมาก นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนภาคเอกชนในโรงงานสายไฟฟ้าในเขตปริมณฑลและโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในภาคตะวันออกที่มีเงินทุนของโรงงานเริ่มประกอบกิจการใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมาก
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนมกราคม 2566 ว่า “เศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนมกราคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล และภาคตะวันตก ที่การบริโภคเพิ่มขึ้นมาก นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนภาคเอกชนในโรงงานสายไฟฟ้าในเขตปริมณฑลและโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในภาคตะวันออกที่มีเงินทุนของโรงงานเริ่มประกอบกิจการใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมาก” โดยมีรายละเอียดดังนี้
เศรษฐกิจ กทม. และปริมณฑล ในเดือนมกราคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 0.3 ต่อปี เช่นเดียวกับจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 26.1 และ 8.8 ต่อปี ตามลำดับ อีกทั้งรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 18.7 ต่อปี แต่ชะลอตัวร้อยละ -6.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 50.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 48.7 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน แม้ว่าจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่จะชะลอตัว แต่จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 3.1 ต่อปี อีกทั้งเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมีมูลค่า 7,158.7 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 165.0 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในการผลิตสายไฟฟ้าสำหรับอุปกรณ์เครื่องอิเล็คโทรนิกส์ ในจังหวัดปทุมธานี เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 96.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 94.8
เศรษฐกิจภาคตะวันตกในเดือนมกราคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวร้อยละ 24.2 ต่อปี เช่นเดียวกับจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 1.9 และ 15.9 ต่อปี ตามลำดับ อีกทั้งรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 15.8 ต่อปี สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 49.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 47.9 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน แม้ว่าจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่จะชะลอตัว อย่างไรก็ตาม จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 2.8 ต่อปี อีกทั้งเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมูลค่า 276.8 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 71.1 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในการทำผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปสำหรับอาหารสัตว์ในจังหวัดเพชรบุรี เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 96.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 94.8
เศรษฐกิจภาคใต้ในเดือนมกราคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนในส่วนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวร้อยละ 6.6 ต่อปี เช่นเดียวกับจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 16.2 ต่อปี และ 17.0 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม รายได้เกษตรกรชะลอตัว สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 46.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 45.5 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -13.4 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 7.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว อย่างไรก็ตามเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมีมูลค่า 509.9 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 142.7 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในการแปรรูปไม้โดยใช้เครื่องจักร เพื่อทำการผลิตชิ้นไม้สับจากไม้ยางพาราและไม้ที่ปลูกขึ้นโดยเฉพาะ 13 ชนิด ในจังหวัดสงขลา เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 88.3 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 90.1
เศรษฐกิจภาคกลางในเดือนมกราคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนและการลงทุนภาคเอกชนในส่วนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 20.7 ต่อปี อย่างไรก็ตาม จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -7.0 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล เช่นเดียวกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ชะลอตัวร้อยละ -8.2 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 13.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล และรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 14.6 ต่อปี แต่ชะลอตัวร้อยละ -5.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 49.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 47.9 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว อย่างไรก็ตาม เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมูลค่า 1,068.1 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1,805.7 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในการผลิตเชื้อเพลิงแข็ง (Refuse Derived Fuel:RDF) และคัดแยกวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นของเสียอันตราย ในจังหวัดสระบุรี เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 96.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 94.8
เศรษฐกิจภาคตะวันออกในเดือนมกราคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนและการลงทุนภาคเอกชนในส่วนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 17.5 และ 25.3 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่รายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 47.8 ต่อปี แต่ชะลอตัวร้อยละ -7.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ส่วนการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ชะลอตัว ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 53.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 51.9 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว อย่างไรก็ตาม เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมูลค่า 5,678.3 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 140.2 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ กำลังการผลิตติดตั้ง 19.9 เมกะวัตต์ ในจังหวัดสระแก้ว เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 97.7 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 98.7
เศรษฐกิจภาคเหนือในเดือนมกราคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจาก จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 11.8 และ 9.8 ต่อปี ตามลำดับ รายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 23.7 ต่อปี แต่ชะลอตัวร้อยละ -6.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ชะลอตัว ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 52.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 50.9 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัว ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 82.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 79.7
เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือในเดือนมกราคม 2566 ได้รับการสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น และการลงทุนภาคเอกชนในส่วนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการที่ยังขยายตัวได้ โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนส่วนใหญ่ชะลอตัว ยกเว้นรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวร้อยละ 15.0 ต่อปี ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 54.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 52.8 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชนส่วนใหญ่ชะลอตัวเช่นกัน ยกเว้น เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมูลค่า 2,020.6 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 260.8 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง ในจังหวัดขอนแก่น เป็นสำคัญ ขณะที่จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 98.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 93.6
ข่าวเด่น