หุ้นทอง
IP เคาะจ่ายปันผล 0.18 บาท/หุ้น พร้อมเซอร์ไพร์สแจกวอร์แรนต์ 4 ต่อ 1 หลังผลงานปี 65 "รายได้-กำไร" ท็อปฟอร์ม


บอร์ด บมจ.อินเตอร์ ฟาร์มา ไฟเขียวจ่ายเงินปันผล 0.18 บาท/หุ้น พร้อมเซอร์ไพร์สแจกวอร์แรนต์ IP-W2 อัตรา 4 หุ้นสามัญเดิมต่อ 1 หน่วยใบสำคัญแสดงสิทธิ ราคาใช้สิทธิ 20 บาทต่อหุ้น กำหนด Record Date รับเงินปันผลและรับการจัดสรรวอร์แรนต์ วันที่ 9 พ.ค. 66 หลังผลงานปี 2565 ท็อปฟอร์ม รายได้-กำไรสุทธิทำสถิติสูงสุดครั้งใหม่ต่อเนื่อง กำไรสุทธิทะยานแตะ 131 ล้านบาท รายได้รวมกว่า 1,523 ล้านบาท ตามการเติบโตของทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก พร้อมรับรู้รายได้จาก “ธุรกิจร้านขายยา” กว่า 400 ล้านบาท และ “ธุรกิจโรงพยาบาล” เติมพอร์ตโค้งสุดท้ายเกือบ 30 ล้านบาท ปักธงผลงานปี 2566 ทำนิวไฮต่อตอกย้ำการเป็น “หุ้น Growth Stock” พร้อมสร้างผลตอบแทนที่ดีแก่นักลงทุนและผู้ถือหุ้นต่อไป
 
 
 
ดร.ตฤณวรรธน์ ธนิตนิธิพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเตอร์ ฟาร์มา จำกัด (มหาชน) หรือ IP ผู้ดำเนินธุรกิจด้านการพัฒนา คิดค้น และจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและนวัตกรรมความงามสำหรับคน และผลิตภัณฑ์สุขภาพสำหรับสัตว์เลี้ยงและปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลงวดปี 2565 ในอัตรา 0.18 บาทต่อหุ้น คิดเป็นวงเงินทั้งสิ้น 67.05 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 69.44% ของกำไรสุทธิหลังหักสำรองตามกฎหมาย ซึ่งสูงกว่าขั้นต่ำของนโยบายจ่ายเงินปันผลที่กำนดไว้ไม่น้อยกว่า 50% กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผล (Record Date) วันที่ 9 พฤษภาคม 2566 และจ่ายเงินปันผล ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2566 
 
 
พร้อมพิจารณาอนุมัติให้ออกและจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯครั้งที่ 2 (ใบสำคัญแสดงสิทธิ IP-W2) จำนวนไม่เกิน 93,130,131 หน่วย ให้กับผู้ถือหุ้นเดิมในอัตรา 4 หุ้นสามัญเดิมต่อ 1 หน่วยใบสำคัญแสดงสิทธิ และ 1 หน่วยใบสำคัญแสดงสิทธิ มีสิทธิซื้อหุ้นสามัญได้ 1 หุ้น ซึ่งใบสำคัญแสดงสิทธิมีอายุ 2 ปี นับตั้งแต่วันออกใบสำคัญแสดงสิทธิ โดยราคาการใช้สิทธิอยู่ที่ 20 บาทต่อหุ้น กำหนดรายชื่อผู้หุ้นที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิ IP-W2 (Record Date) วันที่ 9 พฤษภาคม 2566
 
 
ขณะเดียวกัน บอร์ดยังได้พิจารณาอนุมัติการลดทุนจดทะเบียนจากทุนจดทะเบียนเดิม 216,218,625.50 บาท (หุ้นสามัญ 432,437,251 หุ้น มูลค่า 0.50 บาทต่อหุ้น) เป็น 196,798,646 บาท (หุ้นสามัญ 393,597,299 หุ้น มูลค่า 0.50 บาทต่อหุ้น) โดยการลดหุ้นสามัญจำนวน 38,839,959 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 0.50 บาทต่อหุ้น ที่จัดสรรไว้เพื่อรองรับการออกหุ้นเพิ่มทุนแบบมอบอำนาจทั่วไป รวมทั้งได้อนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 196,798,646 บาท (หุ้นสามัญ 393,597,292 หุ้น มูลค่า 0.50 บาทต่อหุ้น) เป็นทุนจดทะเบียนใหม่ 243,363,711.50 บาท (หุ้นสามัญ 486,727,423 หุ้น มูลค่า 0.50 บาทต่อหุ้น) โดยออกหุ้นสามัญใหม่จำนวน 93,130,131 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 0.50 บาทต่อหุ้น เพื่อรองรับการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิครั้งที่ 2 ซึ่งจะนำเสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ในวันที่ 27 เมษายน 2566 เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป 
 
 
สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานงวดปี 2565 รายได้และกำไรท็อปฟอร์ม ทำสถิติสูงสุดครั้งใหม่ต่อเนื่อง โดยบริษัทฯมีกำไรสุทธิทะยานแตะ 131 ล้านบาท เติบโตเกือบ 19% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน รายได้จากการขายและบริการเติบโตเกือบ 68% แตะ 1,523 ล้านบาท ตามการเติบโตของทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์รักษาโรคที่เติบโตโดดเด่น 74.5% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน อยู่ที่ 380 ล้านบาท ตามยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากทั้งโรงงานอินเตอร์ ฟาร์ มา อยุธยา และโรงงานโมเดิรน์ ฟาร์มา อาทิ ยารักษาโรคเบาหวาน, ยากลุ่มลดไขมัน และยาบรรเทาอาการแพ้  เป็นต้น, กลุ่มผลิตภัณฑ์รักษาสุขภาพและนวัตกรรมความงามเติบโตแตะ 355 ล้านบาท หลักๆมาจากยอดขายกลุ่มโปรไบโอติกที่ยังคงได้รับกระแสการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค อาทิ Probac 7, Probac Ultra Collagen, TS6 Probiotics, Probac 10 Plus, Probac Mood, PreBO เป็นต้น 
 
 
ขณะที่กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลและส่งเสริมสุขภาพสัตว์เลี้ยง เติบโตเกือบ 22% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน แตะ 290 ล้านบาท ตามยอดขายที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง ภายใต้แบรนด์สินค้า MARIA และ CHOO CHOO รวมไปถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อดูแลสุขภาพสุนัขและแมว ภายใต้แบรนด์ Dr.Choice และ PetSelect เป็นต้น นอกจากนี้ บริษัทฯยังได้มีการรับรู้รายได้กว่า 400 ล้านบาท จากธุรกิจร้านขายยา ภายใต้แบรนด์ “Lab Pharmacy” ซึ่งปัจจุบันเปิดให้บริการแล้วรวม 21 สาขา และรับรู้รายได้จากธุรกิจโรงพยาบาล จากการเข้าซื้อหุ้นสัดส่วน 50% ของ “โรงพยาบาลนครพัฒน์” ขนาด 59 เตียง ในจังหวัดนครศรีธรรมราช เข้ามาเติมพอร์ตช่วงโค้งสุดท้ายของปีอีกเกือบ 30 ล้านบาท
 
 
สำหรับค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารอยู่ที่ราว 457 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 71% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ตามยอดขายที่เติบโตขึ้น ซึ่งมาจากค่าใช้จ่ายในการพัฒนาระบบไอที, ระบบบัญชี ERP, ระบบ CRM, ค่าโฆษณา, การเพิ่มจำนวนพนักงานขายในตลาดร้านขายยา, เภสัชกรประจำร้านขายยา, การทำตลาดออนไลน์, การทำโปรโมชั่นร่วมกับคู่ค้าและพันธมิตรต่างๆ รวมไปถึงค่าเสื่อมจากการปรับปรุงโรงงาน และการซื้อเครื่องจักรสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นต้น ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin : GP) อยู่ที่ 40.6% และอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin : NP) อยู่ที่ระดับ 8.6%
 
 
ดร.ตฤณวรรธน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2566 นั้น บริษัทฯยังคงตั้งเป้าขับเคลื่อนการเติบโตก้าวกระโดด ปักธงรายได้และกำไรเดินหน้าสร้างสถิติสูงสุดครั้งใหม่ต่อเนื่อง ตอกย้ำการเป็นหุ้น “Growth Stock” สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุนและผู้ถือหุ้นต่อไป
 
 
ทั้งนี้ ปัจจุบัน บมจ.อินเตอร์ ฟาร์มา แบ่งผลิตภัณฑ์ออกเป็น 6 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.ผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์รักษาโรค, 2.ผลิตภัณฑ์รักษาสุขภาพและนวัตกรรมความงาม, 3.ผลิตภัณฑ์ดูแลและส่งเสริมสุขภาพของสัตว์เลี้ยง, 4.ผลิตภัณฑ์สำหรับปศุสัตว์, 5.ธุรกิจร้านขายยา และ 6.ธุรกิจโรงพยาบาล 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 ก.พ. 2566 เวลา : 10:19:26
27-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 27, 2024, 9:42 am