“ทรีนีตี้” มองปัจจัยในประเทศมีน้ำหนักต่อการลงทุนหุ้นเดือนมี.ค.มากกว่าปัจจัยต่างประเทศทั้งการปรับลด ประมาณการกำไรและประมาณการเศรษฐกิจ ความชัดเจนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง มติของกนง.ในช่วงปลายเดือน ให้กรอบแนวรับแรก 1580-1600 จุด ส่วนแนวต้านแรกมอง 1660 จุด แนะลงทุนกลุ่มธนาคารอิงการขึ้นดอกเบี้ย หุ้นท่องเที่ยวและหุ้น Domestic ที่เห็นการปรับประมาณการขึ้น ส่วนหุ้นเชื่อมโยงการเลือกตั้ง แนะหาจังหวะเก็งกำไรหากมีการยุบสภาในเดือนนี้
นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยถึงทิศทางการลงทุนเดือนมีนาคม 2566 ว่า ปัจจัยภายนอกจะไม่ได้น่ากังวลเท่ากับปัจจัยภายใน ซึ่งถ้าหากมีแนวโน้มเชิงลบต่อ มีโอกาสกดดันหรือจำกัด Upside ของตลาดหุ้นไทยได้ ประเมินกรอบแนวรับแรกที่น่าสนใจของ SET Index ได้แก่บริเวณ 1580-1600 จุด ซึ่งเป็นระดับเทียบเท่าดัชนีกรณีฐาน อิง Forward PE 13.6x และประมาณการ EPS ปี 2567 ที่ 116 บาท ส่วนแนวรับสำคัญที่ไม่น่าหลุดมองที่ระดับ 1560 จุด ในทางกลับกัน ประเมินแนวต้านแรกของดัชนีที่ระดับ 1660 จุดและในกรณีดีสุดที่ไปถึงได้มองที่ 1690 จุด ซึ่งเป็นระดับที่เราแนะนำให้มีการขายทำกำไรมาก่อนหน้านี้ ในเชิงกลยุทธ์ แนะนำถือครองหุ้นในส่วนที่เหลือครึ่งหนึ่งของพอร์ตต่อ โดยรอตั้งรับหาจังหวะการเข้าซื้อใหม่ที่บริเวณแนวรับที่ให้ไว้
สำหรับปัจจัยต่างประเทศที่น่าติดตามในเดือนนี้ ได้แก่ รายงานตัวเลข PMI ภาคการผลิตของประเทศสำคัญประจำเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งล่าสุดจีนประกาศออกมาแล้วสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดอย่างมีนัยสำคัญ เพิ่มความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งมีที่มาจากการเปิดประเทศในช่วงต้นปี ถัดมา รายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯในวันที่ 10 มีนาคม ซึ่งถ้าหากออกมาเพิ่มขึ้นในระดับใกล้เคียงเดิม 5 แสนตำแหน่งอีก มองจะยิ่งทำให้นักลงทุนเพิ่มความกังวลต่อแผนการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ในช่วงถัดไปได้ แต่เรามองว่ายังมีโอกาสน้อย สำหรับการประชุม FOMC ในวันที่ 21-22 มี.ค. ประเมินหาก Fed ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย 0.25% และปรับขึ้นค่ากลาง Terminal rate ปีนี้เป็น 5.25-5.50% จะไม่ได้เป็นสิ่งที่ Surprise ตลาดแต่อย่างใด ในทางกลับกัน หาก Fed ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยในคราวเดียว 0.50% หรือตัดสินใจเพิ่มค่ากลาง Terminal rate ขึ้นเป็น 5.50-5.75% หรือมากกว่า จะถือเป็น Negative surprise ที่สำคัญ
นายณัฐชาตกล่าวว่า การอ่อนค่าของเงินบาท ดูเหมือนจะยังไม่สามารถหาจุดเปลี่ยนที่สำคัญในรอบนี้ได้ หลังล่าสุดธปท.รายงานตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนมกราคมขาดดุลที่ระดับ 2 พันล้านเหรียญฯ แย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ โดยแม้ว่าดุลบริการจะเกินดุลได้จากรายรับภาคท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่สามารถชดเชยดุลการค้าที่กลับมาขาดดุลอีกครั้ง ถัดมา ยังมีปัจจัยพัฒนาการทางด้านการเมืองของไทย ไม่ว่าจะเป็น การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญต่อประเด็นการแบ่งเขตเลือกตั้งในวันที่ 3 มีนาคม และการประกาศยุบสภาของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นได้ในช่วงระหว่างเดือน ส่วนการประชุมกนง.ของไทยในวันที่ 29 มี.ค. ประเมินว่า ณ ขณะนี้ตลาดยังไม่ได้รับรู้ต่อการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมดังกล่าวมากนัก ดังนั้น หากกนง.ตัดสินใจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ อาจเป็นปัจจัยเชิงลบต่อตลาดหุ้นผ่านปรากฏการณ์ PE Contraction
สำหรับกลุ่มหุ้นที่น่าสนใจประจำเดือนนี้ ได้แก่ 1. หุ้นในกลุ่มธนาคารที่ลงมาแรงจน Valuation เริ่มน่าสนใจ และยังอาจมีการเก็งกำไรบนปัจจัยการขึ้นดอกเบี้ยของกนง.ในช่วงปลายเดือน ได้แก่ KBANK, SCB 2. กลุ่มท่องเที่ยวที่ยังคงเห็นแรงส่งต่อเนื่อง ได้แก่ MINT, CENTEL, ERW, VRANDA, DUSIT 3. กลุ่ม Domestic ที่เห็นการปรับประมาณการขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่ราคายังไม่สะท้อน เช่น กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (AMATA, AP, AWC, CPN, SPALI) กลุ่มการแพทย์ (BH) และกลุ่มค้าปลีก (CRC, MAKRO, MEGA) และ 4. หุ้นในกลุ่มที่เกี่ยวโยงกับการเลือกตั้ง ซึ่งอาจมีกระแสเก็งกำไรเกิดขึ้น หากมีการยุบสภาในเดือนนี้ อาทิ SC, SIRI, PR9, STEC, STPI, PTG
ข่าวเด่น