ธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมกับ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มอบรางวัลเกียรติยศแห่งความภาคภูมิใจของเอสเอ็มอีไทย “Bai Po Business Awards by Sasin” ครั้งที่ 18 ให้กับผู้ประกอบการไทยที่ประสบความสำเร็จในมิติที่มีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจและเพื่อเป็นแรงบันดาลใจแก่เอสเอ็มอีรายอื่นๆ ซึ่งในสกู๊ปนี้ AC News จะมาไขความสำเร็จของ 2 ใน 6 สุดยอดเอสเอ็มอีไทยที่คว้ารางวัลเกียรติยศดังกล่าว อันได้แก่ คุณศิลินลักษ์ และ คุณสุธาทิพย์ ตุลยานันต์ จาก บริษัท ฟู้ด อีควิปเม้นท์ จำกัด และ คุณสุชานันท์ อัจฉริยสุชา จาก บริษัท เอ็มมีเน้นซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
บริษัท ฟู้ด อีควิปเม้นท์ จำกัด
คุณศิลินลักษ์ ตุลยานันต์ (ซ้าย) และ คุณสุธาทิพย์ ตุลยานันต์ (ขวา) ประธานกรรมการบริหาร
บริษัท ฟู้ด อีควิปเม้นท์ จำกัด บริษัทที่นำเข้าและจัดจำหน่ายเครื่องจักรแปรรูปอาหาร ที่ดำเนินธุรกิจมายาวนานถึง 34 ปี ได้รับรางวัลในมิติ การบริหารจัดการด้านสินค้าและบริการที่สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า (Customer-Focused Product and Service) การสร้างธุรกิจด้วยพลังแห่งการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) และองค์กรที่มีการสร้างนวัตกรรม (Innovative Enterprise) ด้วยการขับเคลื่อนของทายาทรุ่นที่ 2 อย่างคุณศิลินลักษ์ และ คุณสุธาทิพย์ ตุลยานันต์ ประธานกรรมการบริหาร ที่ได้เข้ามารับช่วงบริหารกิจการต่อจากตำแหน่งเล็กๆ ในแผนกต่างๆ เพื่อศึกษาภาพรวมของธุรกิจ
โดยคุณศิลินลักษ์ ได้เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารจัดการธุรกิจภายในให้กลายมาเป็นบริษัทที่สามารถครองตลาดธุรกิจแปรรูปอาหารครอบคลุมตั้งแต่รายเล็กๆไปจนถึงรายใหญ่อย่าง CPF Makro และ Betagro ได้ว่า คุณศิลินลักษ์ได้ค่อยๆ เข้ามาปรับเปลี่ยนการทำงานภายในทีละน้อยๆในแต่ละแผนก เป็น Minor Change เล็กๆแต่พัฒนาระบบการทำงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้พนักงานทุกคนยอมรับและสามารถก้าวเดินไปกับบริษัทในจังหวะที่พร้อมเพรียงกัน ซึ่งเรื่องการดูแลพนักงาน คือสิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญอย่างมาก ต้องบริหารงานบุคคลอย่างมีคุณธรรม และดูแลเสมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน ตั้งแต่ในช่วงเกิดวิกฤติไวรัสโควิด-19 บริษัทไม่มีการปลดพนักงานออกเลยแม้แต่คนเดียว แต่ต้องอุ้มพนักงานทั้งหมดก้าวผ่านช่วงเวลาดังกล่าวไปด้วยกัน ด้วยการลดค่าใช้จ่ายในด้านอื่นแทน และเพิ่มช่องทางขายในตลาดออนไลน์ ซึ่งนับเป็นเจ้าแรกในอุตสาหกรรมที่บุกโลกออนไลน์ และได้รับการตอบรับที่ดีอย่างมาก
และส่วนที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของ Customer Relationship ด้วยเป้าหมายหลัก “เพื่อความสำเร็จของลูกค้า” ซึ่งคุณสุธาทิพย์ ได้กล่าวว่า Trust หรือความเชื่อมั่น เป็นสิ่งที่บริษัทยึดถืออย่างยิ่ง ต้องรักษามาตรฐานความน่าเชื่อถือเพื่อให้ลูกค้ามั่นใจในสินค้าของบริษัท เพราะในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารยังมีคู่แข่งอีกหลายราย ในการนำเข้าเครื่องจักร เราจึงต้องเข้าไปครองใจด้วยเรื่องของแบรนดิ้ง “ฟู้ด อีควิปเม้นท์” แทนว่า ทุกๆ เครื่องจักรที่มาจากบริษัทของเราเป็นสินค้าที่ดีและมีคุณภาพ เชื่อถือได้ ด้วยการแนะนำกับลูกค้าอย่างจริงใจว่าควรเลือกซื้อเครื่องจักรแบบไหนที่เหมาะสมกับขนาดการผลิตของลูกค้าแต่ละเจ้า หากลูกค้าต้องการเครื่องที่แพงที่สุด แต่ถ้ากิจการของลูกค้าไม่จำเป็นต้องพึ่งกำลังการผลิตมากขนาดนั้นจากการสอบถาม เราก็จะให้คำแนะนำอย่างจริงใจให้เลือกเครื่องที่สเปครองลงมาซึ่งเหมาะสมกับลูกค้ามากกว่า โดยไม่คิดถึงยอดขายว่าต้องเชียร์ให้ลูกค้าซื้อสินค้าของเราที่แพงที่สุด
และต้องคิดนวัตกรรมออกมาพัฒนาสินค้าอยู่เสมอเพื่อนำเสนอสิ่งที่ดีกว่าให้กับลูกค้า เป็นการรักษาความสัมพันธ์และความเชื่อใจ โดยนำ Pain point ที่ลูกค้าประสบมาคิดค้นต่อยอด ซึ่งคุณศิลินลักษ์เรียกการทำงานแบบนี้ว่าการ “กัดไม่ปล่อย” ต้องมุ่งแก้ไขปัญหาของลูกค้าให้เขาให้ได้ เช่น การคิดค้นการ์ดเครื่องเลื่อย เพื่อป้องกันอันตรายของพนักงานเวลาใช้เครื่องจักรตัดเนื้อ หรือการคิดค้นวิธีเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องจักร เช่นการสร้างนวัตกรรมช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งานเครื่องจักร และนวัตกรรมที่ช่วยทดแทนในส่วนที่ยังขาดความต่อเนื่องในไลน์ผลิต นอกจากนี้ก็ยังดูแลในเรื่องของ Service อย่างจริงจัง ตั้งแต่เฟสการขายไปจนถึงการบริการหลังการขาย โดยต้อง Balance ให้สมดุลกันระหว่างบุคลากรที่เป็น Sales และฝ่าย After Service เพื่อดูแลลูกค้าได้อย่างทั่วถึง มีการลงทุนกับระบบ ERP ซอฟแวร์สำหรับการวางแผนการจัดการภายในบริษัท เพื่อสามารถแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้าได้ทันท่วงทีหากเครื่องจักรเสียหรือมีปัญหา และยังเป็นการแบ่งเบาภาระให้กับพนักงานเนื่องจากมีระบบเข้ามาช่วยจัดการอีกด้วย
การปรับตัวเหล่านี้จึงเป็นคีย์แห่งความสำเร็จ ที่ทำให้บริษัท ฟู้ด อีควิปเม้นท์ จำกัด ได้ก้าวขึ้นมาเป็นเอสเอ็มอีแถวหน้าของเมืองไทย พัฒนาและสามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน โดยในปัจจุบันที่คุณศิลินลักษ์และคุณสุธาทิพย์ได้เข้ามาสานต่อ ธุรกิจมียอดขายอยู่ที่ 110 ล้านบาท ในปี 2565 พัฒนาจากยอดขาย 40-50 ล้านบาทในรุ่นที่แล้ว และปีนี้มีแผนพัฒนา Business Model แบบการปล่อยเช่า (Leasing) ควบคู่ไปด้วย เพื่อขยายการบริการไปยังกลุ่มลูกค้าที่ต้องการควบคุมต้นทุนการผลิต และช่วยให้สามารถดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกันเติบโตไปด้วยกันได้ โดยตั้งเป้ายอดขายในปีนี้อยู่ที่ 150 ล้านบาท และ 200 ล้านบาทภายใน 3 ปี
บริษัท เอ็มมีเน้นซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
คุณสุชานันท์ อัจฉริยสุชา (ซ้าย) กรรมการผู้จัดการ
บริษัท เอ็มมีเน้นซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัทที่ทำธุรกิจนำเข้าเครื่องมือทางการแพทย์จากประเทศที่มีเทคโนโลยีชั้นนำของโลก ได้รับรางวัลในมิติ การบริหารจัดการด้านสินค้าและบริการที่สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า (Customer-Focused Product and Service) การบริหารจัดการด้านบุคลากร (People Excellence) และการสร้างธุรกิจด้วยพลังแห่งการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) ด้วยการขับเคลื่อนของทายาทรุ่นที่ 2 อย่างคุณสุชานันท์ อัจฉริยสุชา ในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัท ที่ได้เข้ามารับช่วงต่อในปี 2555 ซึ่งเป็นช่วงที่องค์กรกำลังมีปัญหาภายในและขาดความเชื่อมั่นจากลูกค้า ถึงขนาดที่โดนลูกค้าปาของใส่ในช่วงเรียนรู้งานจากการเป็นพนักงานขายด้วยตนเอง คุณสุชานันท์จึงได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานของภายในบริษัท โดยเปลี่ยนจากการทำงานแบบ Centralized ที่เป็นอำนาจรวมศูนย์ เป็นการดำเนินที่ล่าช้า มาเป็น Decentralized หรือการทำงานแบบกระจายอำนาจ ที่จะแต่งตั้งหัวหน้างานในแต่ละเรื่องให้มีอำนาจในการตัดสินใจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรให้มีความซื่อสัตย์ อยู่กันเป็นครอบครัว ซึ่งเป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้การทำงานและดูแลลูกค้าได้เต็มศักยภาพ
ซึ่งการนำส่งผลิตภัณฑ์ต่อลูกค้า บริษัทมีจุดแข็งด้าน Distribution Channnel หรือช่องทางการขายที่หลากหลาย เช่นกลุ่มลูกค้าในฝั่งของ B2B ที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ของบริษัท ทั้งนำเข้าเครื่องจักรสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมยา เครื่องมือทันตกรรม ถุงเก็บโลหิต และผลิตภัณฑ์สำหรับโรงพยาบาลและคลินิก และยังพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง โดยไม่ได้เป็นแค่ธุรกิจที่ทำการค้าสำหรับธุรกิจด้วยกันเท่านั้น แต่เริ่มเจาะตลาด B2C นำเข้า ทำสินค้าที่เป็นอุปกรณ์การแพทย์สำหรับใช้ในบ้าน ซึ่งพยายามนำส่งสินค้าที่เป็นแบบ Exclusive เพื่อการได้เปรียบทางการแข่งขัน และเริ่มทำ House Brand ของตัวเองหลากหลายแบรนด์ เพื่อสอดรับกับเทรนด์ปัจจุบันและความต้องการของลูกค้า เช่น แบรนด์ Furano เม็ดฟู่และเครื่องล้างทำความสะอาดเครื่องมือจัดฟันใส รีเทนเนอร์ และฟันปลอมด้วยระบบอัลตราโซนิก ซึ่งทำการตลาดในกลุ่มคนที่ดัดฟันเป็นพิเศษ โดยดูจากจำนวนคนไทยที่ดัดฟันที่เป็นตลาดใหญ่ และการเตรียมรองรับการมาถึงของสังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging Society ด้วยการเตรียมออกแบรนด์วิตามินและอาหารเสริมของบริษัท รวมถึงแผนการนำเข้า Protective Belt ที่ป้องกันอุบัติเหตุในการล้มของผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังวางแผนสร้าง Experience Center ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567 เพื่อให้ลูกค้ามาทดลองใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์และได้เห็นภาพได้ว่าเครื่องมือแพทย์ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการนำส่ง Solution Provider หรือการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน เนื่องจากเทรนด์สุขภาพในปัจจุบันคือต้องการการป้องกันมากกว่าการเป็นแล้วมารักษาภายหลัง และยังเพื่อเป็นการขยายฐานลูกค้าจากที่มีเป้าจะเจาะกลุ่ม B2C ในสัดส่วน 5% ของยอดขายบริษัท อันเป็นการครอบคลุมตลาดที่กว้างขึ้นและมีรายได้ที่เติบโตในอนาคต
โดยจากการเข้ามา Transform บริหารบริษัทในรูปแบบใหม่ของคุณสุชานันท์ บริษัท เอ็มมีเน้นซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ล่าสุดในปี 2565 บริษัทมีการพัฒนาเติบโต และสามารถสร้างยอดขายได้กว่า 400 ล้านบาท จากช่วง 10 ปีก่อนหน้าที่คุณสุชานันท์จะเข้ามาสานต่อที่ทำยอดขายได้อยู่ที่ 200 ล้านบาท และยอดขายในกลุ่มลูกค้า B2C ที่เพิ่มขึ้นมา 80 ล้านบาท จากก่อนหน้า 20 ล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกัน เป็นตัวอย่างของเอสเอ็มอีแนวหน้าของไทยที่สามารถปรับตัวได้ตามยุคปัจจุบันและขับเคลื่อนธุรกิจตามการเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างยั่งยืน
ข่าวเด่น