ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics คาดตลาดแรงงานไทยมีแนวโน้มถูกกดดันจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นด้วยอัตราเร่ง คาดว่าจะกระทบคนทำงานกว่า 18 ล้านคนในหลายอุตสาหกรรม แนะภาคแรงงาน เร่งพัฒนาศักยภาพส่วนบุคคลเพื่อยกระดับให้เป็นแรงงานที่มีทักษะ (Skilled Labor) หรือผู้เชี่ยวชาญ (Specialist) ที่สามารถใช้งานเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มศักยภาพการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเน้นการทำงาน สายวิชาชีพจากความชำนาญเฉพาะทางซึ่งถูกทดแทนด้วยบทบาทของเทคโนโลยีได้ค่อนข้างยาก
โดยทั่วไปกิจการสามารถสร้างรายได้ทางธุรกิจจากการใช้ประโยชน์จากปัจจัยการผลิตอันประกอบด้วย 1) ปัจจัยทุน (Capital Input) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการลงทุนในสินค้าทุน เช่น การสร้างโรงงาน โกดังสินค้า เครื่องจักร หรือ ระบบบริหารจัดการธุรกิจผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ 2) การใช้ปัจจัยแรงงาน (Labor Input) ที่เกี่ยวข้องกับจำนวนพนักงานเพื่อสนับสนุนการทำงานในแต่ละภาคส่วนของธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ภายหลังระบบปัญญาประดิษฐ์ได้ถูกพัฒนาเพื่อยกระดับสินค้าทุนอย่างก้าวกระโดด ปัจจัยแรงงานจึงถูกลดทอนบทบาทลงอย่างเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติของการพึ่งพาปัจจัยการผลิตทุนและแรงงานที่แตกต่างกัน เทคโนโลยีและเครื่องจักรจึงยังไม่ใช่คำตอบเดียว ในการสร้างรายได้ของธุรกิจแต่คนทำงานจำเป็นต้องปรับเพิ่มความสามารถให้ทำงานสอดรับกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพื่อยกระดับประสิทธิภาพให้สูงขึ้น ดังนั้น ttb analytics จึงได้ศึกษาผลกระทบการจ้างงานในแต่ละอุตสาหกรรมจากการพัฒนางานศึกษาของ McKinsey โดยมีข้อสรุปดังนี้
1) กลุ่มที่ได้รับผลกระทบสูง ครอบคลุมผลกระทบของอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานรวม 3.9 ล้านคน แบ่งเป็น อุตสาหกรรมการศึกษาจำนวน 1.1 ล้านคน และโรงแรมร้านอาหารจำนวน 2.8 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มี บทบาทของเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนการใช้แรงงานได้ดีและมีการใช้ต้นทุนแรงงานที่สูง ส่งผลให้เมื่อเทคโนโลยีถูกนำมาใช้ จำนวนแรงงานเดิมที่เคยใช้อาจถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีดังกล่าวจำนวนมาก เช่น อุตสาหกรรมการศึกษา โดยเฉพาะกลุ่มการศึกษาที่ไม่ใช่ภาคบังคับ (Voluntary Education) และการอบรม (Upskill and Reskill Training) ที่บทบาทช่องทางออนไลน์มีอิทธิพลเพิ่มสูงในอัตราเร่ง และในกลุ่มโรงแรมร้านอาหาร โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหาร เทคโนโลยีเข้ามากระทบการจ้างงานอย่างมีนัยสำคัญ จากการปรับการให้บริการในรูปแบบ แพลตฟอร์มเดลิเวอรี่เพิ่มมากขึ้น
2) กลุ่มที่ได้รับผลกระทบปานกลาง ครอบคลุมจำนวนอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานรวมสูงถึง 14.1 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีการใช้กำลังแรงงานร่วมกับเครื่องจักรอุปกรณ์มากกว่ากลุ่มแรก แต่ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ยกระดับประสิทธิภาพสินค้าทุน ส่งผลให้สัดส่วนการใช้แรงงานต่อทุนมีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ภาคการค้าส่ง-ค้าปลีก ที่มีจำนวนจ้างงานสูงถึง 6.2 ล้านคน คาดได้รับผลกระทบจากช่องทางการขายที่เข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ และการจัดส่งสินค้าที่เริ่มใช้บริการผ่าน Third- Party Logistic และภาคการผลิตปัจจุบันมีการจ้างงานสูงถึง 5.9 ล้านคน การจ้างงานอาจได้รับผลกระทบจากเครื่องจักรที่พัฒนาศักยภาพเป็นรูปแบบอัตโนมัติ หรือ กึ่งอัตโนมัติมากขึ้น รวมถึงจำนวนแรงงานอีกราว 1.36 ล้านคนในกลุ่มการขนส่ง และสถานที่เก็บสินค้า ที่ใช้ Internet of Things (IoT) ยกศักยภาพระบบจัดการขนส่ง (TMS) และระบบจัดการคลังสินค้า (WMS) โดยเฉพาะภาคส่วนของคลังสินค้าที่ปัจจุบันเทคโนโลยีช่วยยกระดับคลังสินค้าอัตโนมัติ (Warehouse Automation) ที่แทบไม่ต้องใช้ปัจจัยแรงงาน เป็นต้น
3) กลุ่มที่ได้รับผลกระทบต่ำ ในกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีลักษณะของ 1) อุตสาหกรรมที่ต้องเน้นใช้สินค้าทุนเข้มข้น (Capital Intensive) เช่น กิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่แรงงานใช้ในการประสานงานเป็นส่วนใหญ่ หรือกลุ่มที่ถูกบทบาทของเทคโนโลยีลดทอน (Technology Disruption) บทบาทในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เช่น อุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร และ อุตสาหกรรมกิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย และ 2) กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีบทบาทของเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนการใช้แรงงานได้ยากจากลักษณะการประกอบธุรกิจ เช่น งานวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคนิค ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รวมถึงอุตสาหกรรมที่ เกี่ยวข้องกับกิจกรรมด้านสุขภาพจากลักษณะของเนื้องานที่ต้องดูแลใกล้ชิดและมีความต้องการในลักษณะเฉพาะบุคคล
กล่าวโดยสรุป ในด้านบทบาทของแรงงานภาคธุรกิจไทยที่มีแนวโน้มการถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีบทบาทของเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนการใช้แรงงานสูง ซึ่งอัตราการทดแทนจำนวนแรงงานด้วยปัจจัยทุนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วยอัตราเร่งตามเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ ttb analytics ขอเสนอแนวทางเพื่อลดผลกระทบของการจ้างงานที่มีแนวโน้มลดลง โดยภาคแรงงานควรเร่งพัฒนาศักยภาพส่วนบุคคลเพื่อยกระดับให้เป็นแรงงานที่มีทักษะ (Skilled Labor) หรือผู้เชี่ยวชาญ (Specialist) ที่สามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มศักยภาพการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเน้นการทำงานจากความชำนาญเฉพาะทางอันถูกทดแทนโดยบทบาทของเทคโนโลยีได้ค่อนข้างยาก พร้อมกับการส่งเสริมของภาครัฐในการพัฒนายกระดับการเรียนการสอนด้านวิชาชีพให้มีคุณภาพและมาตรฐานเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากภาคเอกชน และสามารถพัฒนาแรงงานที่มีศักยภาพให้ทำงาน ควบคู่ไปกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมในปัจจุบันได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว
ข่าวเด่น