แบงก์-นอนแบงก์
Scoop : มิจฉาชีพพัฒนาขึ้นทุกวัน! รู้ทัน "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" ก่อนตกเป็นเหยื่อช่วงเสียภาษี


ในช่วงเวลานี้ หากพูดถึงคำว่า “คอลเซ็นเตอร์” เชื่อว่าคนส่วนใหญ่คงจะไม่ได้คิดถึงความหมายตรงตามตัวอักษรแน่นอน แต่แทนที่ด้วยความรู้สึกไม่ดีไปตามๆกัน เพราะที่ผ่านมามิจฉาชีพที่ปลอมตัวเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์นั้นระบาดหนักอย่างมาก หลายคนไม่เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมก็ต่างสูญเสียเงินกันไป บางคนถึงขนาดหมดตัวก็มี และแม้จะมีตัวอย่างให้เห็นออกมาแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีผู้เสียหายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากแม้ภาครัฐ หรือกลุ่มธนาคารออกมาให้ความรู้ถึงการมีอยู่และวิธีการของผู้ไม่หวังดีเหล่านี้แล้ว แต่กลุ่มคนดังกล่าวก็มีการพัฒนาการหลอกเอาเงินของประชาชนอีกหลากหลายรูปแบบ และมีเทคโนโลยีที่อัพเกรดตามไปด้วย อย่างการปล่อยไวรัสเข้าสมาร์ทโฟน และแคสหน้าจอผู้เสียหายกดเอาเงินออกจากแอพธนาคารได้อย่างตามใจชอบก็เกิดขึ้นแล้ว

รูปแบบที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้พัฒนาขึ้นมานี้ดูจะเป็นที่น่าตื่นตระหนกอย่างมาก เพราะเราไม่รู้ได้เลยว่าจะโดนแฮกข้อมูลในสมาร์ทโฟนออกไปตอนไหน แต่ถ้าเราพยายามเดินตามเกมให้ทัน และรู้ทริคของคนกลุ่มนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะรูปแบบพื้นฐานก็ยังเริ่มต้นจากชื่อแก๊ง “คอลเซ็นเตอร์” หรือการโทรหาเสียเป็นส่วนใหญ่อยู่ดี แค่เรื่องที่อ้างอาจเป็นเรื่องที่แตกต่างออกไป

สิ่งที่เป็นหลักยึดให้ผู้เสียหายเปิดช่องโหว่ให้คนเหล่านี้มีลู่ทางเข้ามาขโมยเงินนั้น หลักสำคัญก็คือ “การเล่นกับจิตใจคน” สังเกตดูว่าที่ผ่านมาเหล่าผู้เสียหายที่โดนหลอก จนยอมโอนเงินหรือให้ข้อมูลอะไรก็แล้วแต่ ย่อมมีการขับเคลื่อนหลักอย่างความกลัว เช่นโดนอายัดบัญชี เป็นหนี้ หรือเรื่องต่างๆที่มีอิทธิพลจนทำให้เราไม่เป็นสุข ซึ่งตอนนี้มีอุบายใหม่ๆอีกมากมาย ทั้งการหลอกโดยใช้อารมณ์ของความรัก ความลุ่มหลงผ่านทางออนไลน์ก็มีมาแล้ว ซึ่งกลุ่มคนไม่หวังดีเหล่านี้ก็ยังมีการพัฒนาอุบายได้อีกมากมาย โดยอาจศึกษาอยู่ตลอดเวลาว่าสถานการณ์ปัจจุบันหรือเรื่องอะไรจะทำให้คนรู้สึกไม่เป็นสุขจนโดนหลอกได้ เช่นในช่วงเวลานี้ เป็นช่วงของการยื่นเสียภาษี ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีเคสผู้เสียหายเกิดขึ้นจากข้ออ้างของเรื่องภาษีอย่างมาก โดยอาจมาในรูปแบบของการปลอมเป็นสายจากกรมสรรพากร และอ้างว่าเสียภาษีไม่สำเร็จ เอกสารที่ส่งมามีปัญหา หรือการโดนค่าปรับ ซึ่งจะมาในรูปแบบยอดนิยมอย่างการโทรหา หรือการส่ง SMS ให้ไปคุยกันต่อ

โดยรูปแบบยอดนิยมในขณะนี้ อาจไม่ใช่การที่ผู้เสียหายกดโอนเงินออกให้กับมิจฉาชีพอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นการติดตั้งไวรัสผ่านทางสมาร์ทโฟน ซึ่งไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆสมาร์ทโฟนของคนเราจะถูกแฮกได้เลย แต่มันมาจากการกระทำของเราด้วย ซึ่งก็คือ “การกด Link” กล่าวคือมิจฉาชีพอาจออกอุบายอะไรก็แล้วแต่ และส่ง Link อะไรบางอย่างมาให้เรากดเข้าไป ทั้งหลอกให้เข้าเว็บไซต์ปลอมและให้กรอกข้อมูล หรือการให้โหลดแอปแปลกๆเข้าไปในเครื่อง โดยที่เมื่อเรากดโหลดสำเร็จ แอปดังกล่าวมักจะทำให้หน้าจอสมาร์ทโฟนของเราค้าง ไม่สามารถทำอะไรได้เลย ซึ่งระหว่างนี้หน้าจอของเราจะไปอยู่ในมือของมิจฉาชีพ เป็นคุณสมบัติของแอพอันตรายที่สามารถแคสหน้าจอของคนโหลด  สามารถเปิดดูข้อมูล และโอนเงินออกไปได้อย่างตามใจชอบ เป็นการเสร็จสิ้นภารกิจ

 
จากภาพด้านบน เป็นตัวอย่างหน้าตาของแอพปลอม ที่ลอกเลียนแอพจริงของหน่วยงานต่างๆ เพื่อทำให้ผู้เสียหายตายใจ แล้วให้ใส่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ อย่างให้สมัครสมาชิก ตั้งรหัสผ่าน ที่เป็นข้อมูลให้มิจฉาชีพนั้นคาดเดา เพื่อเข้ารหัสแอพธนาคารของผู้เสียหายหรือข้อมูลอื่นๆ เป็นต้น ฉะนั้นสิ่งที่ควรระมัดระวังที่สุดเลยคือไม่กดลิงค์แปลกๆที่คนอื่นส่งมาให้ โดยเริ่มแรกให้เช็คข้อมูลของผู้ที่ติดต่อเข้ามาก่อน อย่างการเทียบเบอร์มือถือว่าตรงกับหน่วยงานหรือบริษัทที่ทางต้นสายอ้างมาหรือไม่ การเช็ค URL ของเว็บที่ส่งมา หรือเมื่อมีการส่งลิงค์ให้โหลดแอพซึ่งไม่ได้มาจาก App Store หรือ Play Store โดยตรง ให้ระวังเอาไว้เลยว่าเรากำลังคุยอยู่กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์เข้าให้แล้ว



ซึ่งนอกจากแอพปลอมเป็นหน่วยงานตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น แอพที่มีชื่อว่า TeamViewer และ Anydesk ก็เป็นแอพอันตราย ที่มิจฉาชีพจะรีโมทเข้ามาดูสมาร์ทโฟนของเราและควบคุมเงินเข้าออกทันที นอกจากนี้ก็ยังมีแอพที่ปลอมเป็นแอพหาคู่อย่าง Tinder หรือ Snapchat ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วเช่นกัน โดยที่แอพจริงจะต้องอยู่ใน AppStore หรือ Play Store เท่านั้น แต่แอพดูดเงินอันตรายก็จะมาจากการให้ไปโหลดผ่านทางลิงค์ที่ส่งให้มาแทบทั้งสิ้น

ทั้งนี้ถ้าหากพลาดพลั้งตกเป็นเหยื่อ ทางศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัย เทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคาร (TB-CERT) ให้คำแนะนำว่าควรปิดเครื่องสมาร์ทโฟนทันที แต่หากไม่สำเร็จ หน้าจอไม่ยอมดับ ให้ตัดการเชื่อมต่อสัญญาณด้วยการถอดซิมการ์ด และปิดWi-Fi หลังจากนั้นให้ติดต่อธนาคารและแจ้งความให้เร็วที่สุด เพื่อระงับบัญชี หรือตามรอยของเงินที่เสียไปให้ทัน แต่อย่างไรก็ตาม หากเรื่องนี้ยังไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้อ่าน ก็ควรเตรียมรับมือด้วยวิธีสังเกตดังกล่าวข้างต้น และระวังเหตุจูงใจหลักๆที่มิจฉาชีพจะเข้ามาเล่นกับจิตใจของคน ผ่านอารมณ์ “รัก โลภ กลัว หลง” ตัวการที่ทำให้เราสามารถตกหลุมพรางของผู้ไม่หวังดีเหล่านี้ได้โดยง่าย



 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 05 มี.ค. 2566 เวลา : 19:38:02
13-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 13, 2025, 10:39 am