เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Special Report : "ซาอุดีอาระเบีย" ม้ามืดที่อาจกำลังยึดขั้วอำนาจเศรษฐกิจในยุคต่อไป


หากพูดถึงขั้วอำนาจของโลกใบนี้ที่มีความแข็งแรงทางด้านเศรษฐกิจและการทหาร ก็คงหนีไม่พ้นสหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน หรือรัสเซีย ตัวละครหลักที่มีบทบาทสำคัญในสถานการณ์ความขัดแย้งต่างๆทางการเมือง ที่ห้ำหั่นกันไปมาบนหน้าประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบันนี้ แต่ใครจะรู้ว่าระหว่างที่ประเทศมหาอำนาจต่างฝ่ายต่างตีกันไปมาอยู่นั้น ได้มีฝ่ายที่ 3 อีกซีกโลกหนึ่งที่กำลังได้รับผลประโยชน์จากสมรภูมิดังกล่าว เป็นม้ามืดที่กำลังวิ่งสะสมกำลังและเข้าใกล้การจะเป็นประเทศมหาอำนาจในยุคถัดไปโดยที่ขั้วอำนาจเดิมไม่ทันระวังตัว ซึ่งก็คือประเทศที่ได้ประโยชน์จากเรื่องของสงครามพลังงานเมื่อปีที่แล้วอย่างซาอุดีอาระเบียนั่นเอง

ในช่วงปี 2022 ซาอุดีอาระเบียถือว่ามีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมาก สวนทางกับทั่วโลกมีเศรษฐกิจที่ซบเซาจากผลกระทบของความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน เพราะได้รับอานิสงส์จากกำลังการผลิตน้ำมันทั่วโลกที่จำกัดและราคาน้ำมันที่สูงจากความขัดแย้งดังกล่าวที่เป็นสงครามทางด้านพลังงาน ประเทศที่ผลิตและส่งออกน้ำมันอย่างซาอุดีอาระเบียจึงสามารถทำกำไรเข้าประเทศได้ถึง 3.26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียวในช่วงปีที่แล้ว โดยมีลูกค้ารายใหญ่อย่าง จีน อินเดีย และญี่ปุ่นที่มี Demand เพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่สามารถซื้อจากรัสเซียได้แล้ว 

 
Full year GDP growth of Saudi Arabia 

ในขณะที่ประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศมหาอำนาจได้รับผลกระทบจากการขาดดุลอย่างยิ่งยวด จากราคาน้ำมันที่มีราคาแพง ทำให้เกิดปัญหาทางด้านเศรษฐกิจขึ้นมาอย่างนับไม่ถ้วน จนสถานะการเงินฟืดเคือง ซาอุดีอาระเบียกลับสามารถหลีกเลี่ยงภาวะเงินเฟ้อโลกที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ได้เนื่องจากผลพลอยได้เรื่องของน้ำมัน โดย GDP ของซาอุดีอาระเบียมีการเติบโตถึง 8.7% จากปี 2021 ที่อยู่ระดับ 3.24% สวนทางกับประเทศอื่นๆอย่าง สหรัฐ มี GDP ปี 2022 ขยายตัวอยู่ที่ 2.1% ลดลงจากปีที่แล้ว 5.9%  จีน มี GDP ปี 2022 ขยายตัวอยู่ที่ 3% ลดลงจากปีที่แล้ว 8.1% และรัสเซีย ที่มี GDP ติดลบ -2.1% ในปีเดียวกัน จากปีที่แล้วที่มีการเติบโตอยู่ที่ 5.6%

และเมื่อซาอุดีอาระเบีย สามารถทำเงินเข้าประเทศได้เป็นกอบเป็นกำ ขณะที่เศรษฐกิจโลกซบเซาลง ตลาดหุ้นและสินทรัพย์อื่นๆมูลค่าลดลงอย่างมากจากการที่นักลงทุนกระโดดหนีตายกันออกไปเพื่อกอดเงินสดเอาไว้กับตัว ก็เป็นโอกาสที่ดียิ่งขึ้นให้กับซาอุดีอาระเบียในการช้อนซื้อสินทรัพย์ที่ลดราคา On Sale เหล่านั้น ซึ่งล่าสุดได้ตั้งกองทุนมูลค่ากว่า 8.2 พันล้านเหรียญสหรัฐเตรียมวางแผนเข้าซื้อธนาคารในยุโรปและเอเชีย อย่าง Credit Suisse ธนาคารพาณิชย์และวาณิชธนกิจของสวิตเซอร์แลนด์ Standard Charted ธุรกิจธนาคารของสหราชอาณาจักร DBS Bank กลุ่มสถาบันการเงินในเอเชียที่ครอบคลุมถึง 18 ตลาดทั่วโลก และ Julius Bear บริษัทบริหารจัดการความมั่งคั่งและการลงทุนของสวิตเซอร์แลนด์ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทชื่อดังระดับโลก ซึ่งการที่ซาอุดีอาระเบียเตรียมเข้าซื้อสถาบันการเงินเหล่านี้ ผลดีที่ตามมาคือเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับประเทศที่จะสามารถกระจายเงินทุนไปยังทั่วโลก เพราะตอนนี้ประเทศในฝั่งตะวันออกโดยเฉพาะซาอุดีอาระเบียนั้นพึ่งพาการส่งออกน้ำมันเป็นอันดับ 1 การกระจายการลงทุนก็เท่ากับหาช่องทางการทำเงินในด้านอื่นๆบ้างจากการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ เพื่อประกันเรื่องของอนาคตไม่ให้ซ้ำรอยกับสิ่งที่เกิดขึ้นในรัสเซีย (รัสเซียโดนแบนด้านพลังงานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากสถานการณ์สงครามที่เกิดขึ้น) 

ซึ่งที่ผ่านมาในช่วงปี 2022 ซาอุดีอาระเบียก็เริ่มเรื่องของการลงทุนแล้ว โดยส่วนใหญ่ลงทุนในยุโรปและอเมริกาเหนือ จะเห็นได้ว่าซาอุดีอาระเบียได้เริ่มคืบคลานกุมสินทรัพย์ต่างๆมากขึ้นๆอีกทั้งยังเข้าไปอุดช่องว่างเป็นพันธมิตรกับยุโรปที่พอดีกับพันธมิตรอย่างจีนเริ่มไม่ลงรอยกัน ในสภาวะที่ซาอุดีอาระเบียกำลังแข็งแรงกว่าคนอื่นๆ ซึ่งเท่ากับว่า ซาอุดีอาระเบียกำลังมีอำนาจในการต่อรองในเชิงของเรื่องการเมืองมากขึ้นทุกทีๆ และโลกของเราก็อาจจะกำลังได้เห็นบทบาทและอิทธิพลของประเทศจากฝั่งตะวันออกเป็นตัวละครหลักในไม่ช้านี้ จากที่เป็นตัวประกอบมายาวนานหลายทศวรรษ
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 05 มี.ค. 2566 เวลา : 19:44:23
29-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 29, 2024, 9:37 pm