นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยความคืบหน้าการยืนยันตัวตนของผู้ที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 (โครงการฯ) ณ วันที่ 7 มีนาคม 2566 เวลา 14.00 น. มีผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติที่ยืนยันตัวตนสำเร็จแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 2,742,919 ราย โดยมีบางรายที่ยืนยันตัวตนไม่สำเร็จ เนื่องจากการตรวจสอบสถานะบัตรประจำตัวประชาชนไม่ผ่าน ซึ่งในกรณีนี้ขอให้ผู้ที่ยืนยันตัวตนไม่สำเร็จตรวจสอบและแก้ไขข้อมูลได้ ณ ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร และหากตรวจสอบและแก้ไขสถานะบัตรประจำตัวประชาชนแล้ว ขอให้กลับมาดำเนินการยืนยันตัวตนอีกครั้ง นอกจากนี้ การยืนยันตัวตนไม่สำเร็จอาจเกิดจากกรณีเปรียบเทียบใบหน้าไม่ผ่าน ซึ่งผู้ที่ยืนยันตัวตนไม่สำเร็จกรณีเปรียบเทียบใบหน้าไม่ผ่านขอให้ติดต่อธนาคารกรุงไทยเพื่อดำเนินการยืนยันตัวตนตามขั้นตอนของธนาคารกรุงไทยต่อไป สำหรับจำนวนผู้ยื่นอุทธรณ์ผลการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติตามโครงการฯ ณ วันที่ 7 มีนาคม 2566 เวลา 14.00 น. มีผู้ยื่นอุทธรณ์ผลการพิจารณาคุณสมบัติแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 700,403 ราย ทั้งนี้ การยืนยันตัวตนของผู้ที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติ หรือขออุทธรณ์ผลการพิจารณาคุณสมบัติผ่านหน่วยงานรับลงทะเบียนเป็นไปตามวันและเวลาทำการของแต่ละหน่วยงาน โดยการให้บริการในช่วงวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มีดำริให้สาขาของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ที่มีสาขาในห้างสรรพสินค้าที่ยังไม่ให้บริการยืนยันตัวตน และยื่นอุทธรณ์ผลการพิจารณาคุณสมบัติ พิจารณาเปิดให้บริการเพิ่มเติมเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน
โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 นอกจากที่คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบกรอบระยะเวลาการดำเนินการของโครงการฯ แล้ว คณะรัฐมนตรียังได้มติเห็นชอบการจัดสรรประชารัฐสวัสดิการใหม่ให้แก่ผู้ที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติตามโครงการฯ ปี 2565 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. วงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษาและวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรม จากร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น และร้านอื่น ๆ ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด จำนวน 300 บาทต่อคนต่อเดือน
2. วงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าตามที่กระทรวงพลังงานกำหนด จำนวน 80 บาทต่อคน ต่อ 3 เดือน
3. วงเงินรวมค่าเดินทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะ จำนวน 750 บาทต่อคนต่อเดือน โดยสามารถ ใช้โดยสารได้กับระบบขนส่ง 8 ประเภท ได้แก่ (1) รถองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) (2) รถบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) (3) รถไฟฟ้า บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด (มหาชน) (Bangkok Mass Transit System : BTS) รถไฟฟ้ามหานคร (Metropolitan Rapid Transit : MRT) และบริษัท รถไฟความเร็วสูง สายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (4) รถไฟ (5) รถเอกชนร่วม ขสมก. รถเอกชน และส่วนราชการกรุงเทพมหานคร (6) รถเอกชนร่วม บขส. และรถเอกชน (7) รถสองแถวรับจ้าง และ (8) เรือโดยสารสาธารณะ โดยไม่จำกัดวงเงินตามประเภทรถ
4. มาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้า อุดหนุนค่าไฟฟ้าจำนวน 315 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน กรณีที่ใช้ไฟฟ้าเกินวงเงินที่กำหนด ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ผู้มีบัตรฯ) ที่ได้รับสิทธิจะเป็นผู้รับภาระค่าไฟฟ้าทั้งหมด
5. มาตรการบรรเทาภาระค่าน้ำประปา อุดหนุนค่าน้ำประปาจำนวน 100 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน กรณีที่ใช้น้ำประปาเกิน 100 บาท แต่ไม่เกิน 315 บาท ผู้มีบัตรฯ ที่ได้รับสิทธิ ยังคงได้รับการสนับสนุนในวงเงิน 100 บาท และจะต้องชำระส่วนที่เกิน 100 บาท ด้วยตนเอง แต่หากผู้มีบัตรฯ ที่ได้รับสิทธิมีการใช้น้ำประปาเกิน 315 บาท ผู้มีบัตรฯ ที่ได้รับสิทธิจะเป็นผู้รับภาระค่าน้ำประปาทั้งหมด
สำหรับมาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลาง จะชำระค่าบริการที่ผู้มีบัตรฯ ที่ได้รับสิทธิที่ใช้บริการตามเงื่อนไขที่กำหนดให้แก่หน่วยงานผู้ให้บริการทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ สำนักงานการไฟฟ้านครหลวง สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กิจการไฟฟ้า สวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ สำนักงานการประปานครหลวง และสำนักงานการประปาภูมิภาค โดยผู้มีบัตรฯ ที่ได้รับสิทธิ ไม่จำเป็นต้องสำรองเงินในการชำระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาแต่อย่างใด โดยผู้มีบัตรฯ ที่ประสงค์รับสิทธิในมาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาจะต้องดำเนินการลงทะเบียนผ่านผู้ให้บริการดังกล่าวก่อนการเริ่มใช้สิทธิโดยกระทรวงการคลังจะประชาสัมพันธ์วันเปิดรับลงทะเบียนให้ทราบอีกครั้ง
ทั้งนี้ ผู้ลงทะเบียนโครงการฯ สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและรายละเอียดโครงการฯ ปี 2565 เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th หรือ https://welfare.mof.go.th
ข่าวเด่น