บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เปิดตัว CEO คนใหม่ พร้อมเดินหน้าด้วยแนวคิด "TOP for The Great Future" มุ่งทรานส์ฟอร์มธุรกิจเพื่อสร้างอนาคตที่ยิ่งใหญ่ วางเป้าปีนี้ดำเนินโครงการพลังงานสะอาด Clean Fuel Project (CFP) ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง และธุรกิจ New S-Curve เพื่อจับเมกะเทรนด์ สร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ วางแผนลงทุน 3 ปี 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวหลังเข้ารับตำแหน่ง CEO อย่างเป็นทางการครั้งแรกว่า "ตนรู้สึกเป็นเกียรติและภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งกับบทบาทใหม่ในบ้านหลังเดิม โดยภารกิจสำคัญที่ต้องดำเนินการ คือ สานต่อการทรานส์ฟอร์มธุรกิจกลุ่มไทยออยล์ตามเส้นทางยุทธศาสตร์หลัก 3V คือ 1) Value Maximization ต่อยอดจากธุรกิจปีโตรเลียมไปสู่ธุรกิจปิโตรเคมี และผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Products) 2) Value Enhancement เสริมความแข็งแกร่งในประเทศ ขยายตลาด และกระจายผลิตภัณฑ์ไปสู่ต่างประเทศในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะการมุ่งเข้าไปเจาะตลาดที่เวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดียในช่วงเวลานี้ เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจกลุ่มไทยออยล์ในอนาคต รวมทั้งตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคให้มากยิ่งขึ้น และ 3) Value Diversification ลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีมูลค่าสูง (High Value Business) และ ธุรกิจ New S-Curve อื่นๆ ให้สอดคล้องต่อแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวเป็นแผนธุรกิจที่ไทยออยล์วางแผนไว้ว่าจะดำเนินการในระยะเวลาตั้งแต่ปี 2022-2025 เพื่อสร้างฐานธุรกิจให้แข็งแกร่ง
เป้าหมายหลักในปีนี้ จะเป็นการเร่งดำเนินโครงการสำคัญตามแผนกลยุทธ์ เช่น โครงการพลังงานสะอาด หรือ Clean Fuel Project (CFP) ตลอดจนการเตรียมความพร้อมในการขยายตลาดไปต่างประเทศในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะ ประเทศเวียดนาม อินโดนีเชีย และอินเดีย พร้อมทั้งเร่งศึกษาในการต่อยอดห่วงโซ่คุณค่าเพื่อเพิ่มจำนวนผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง และแสวงหาโอกาสเข้าสู่ธุรกิจที่มีมูลค่าสูง เช่น ธุรกิจสารเคมีที่ใช้เพื่อการยับยั้งและกำจัดเชื้อโรค รวมถึงสารลดแรงตึงผิวที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด (Disinfectants & Surfactants)
นายบัณฑิต กล่าวเสริมว่า "จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่ว่าจะเป็นแรงกดดันด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นตัวเร่งให้เกิดการตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊ซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero การเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงานไปสู่การใช้พลังงานสะอาด รวมถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ บริษัทฯ จึงได้ปรับเป้าหมาย ธุรกิจกลุ่มไทยออยล์ ในปี 2030 สัดส่วนกำไรจาก ธุรกิจปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (Petroleum & HVPs) อยู่ที่ 40% โดยจะโฟกัสในส่วนของโครงการพลังงานสะอาด หรือ CFP มาเป็นอันดับ 1 ได้แก่ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันอย่าง ยางมะตอยน้ำที่ทำมาจากแอสฟัลท์อิมัลชั่น น้ำมันยางมลพิษต่ำ และธุรกิจสารทำละลาย เป็นต้น ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ตลาดที่เราจะก้าวต่อไป แต่คาดว่าในปี 2030 จะเป็นยุคทองของธุรกิจกลั่นน้ำมัน เพราะมีแนวโน้มที่จะมี Demand เยอะ ในขณะที่ Supply หรือผู้ผลิตนั้นมีน้อยราย ธุรกิจดังกล่าวจึงเป็นโอกาสที่ดีให้กับไทยออยล์ที่จะมุ่งพัฒนาลงทุนในพลังงานสะอาดนี้ ส่วนผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงอย่างน้ำมันอากาศยาน (Jet & Gasoil) ไทยออยล์เป็นผู้ผลิตน้ำมันชนิดนี้ที่ใหญ่ที่สุดในไทย กินส่วนแบ่ง 50% ในตลาด ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีอนาคตที่ดี เนื่องจากแบตเตอรี่สำหรับเครื่องบินคาดว่าจะยังคงไม่มาในเร็วๆนี้ จึงเป็นโอกาสให้กับบริษัทในการรักษาและขยายส่วนแบ่งการตลาดต่อไป
ธุรกิจปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงที่ต่อยอดจากปิโตรเคมี (Petchem & HVPs) 30% จะมีการขยาย Value Chain ของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในกลุ่ม Aromatics และสารประกอบเคมีอินทรีย์ Olefins ธุรกิจที่มีมูลค่าสูงและธุรกิจใหม่ๆ (HVB & Other New S-Curve) 25% แบ่งออกเป็น HVB 15% ได้แก่สารลดแรงตึงผิวที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด Disinfectants & Surfactants ตอบโจทย์เมกะเทรนด์ในปัจจุบันที่ผู้บริโภคหันมาสนใจสุขภาพและสุขอนามัย ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่มูลค่าประมาณ 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ New S-Curve 10% ได้แก่ Biojet โดยจะรักษาส่วนแบ่งและขยายตลาดน้ำมันท่าอากาศยานดังที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งจะใช้ Biojet เข้าไปผสมในน้ำมัน ธุรกิจในกลุ่ม Bio-Chemicals & Bio-Plastics การใช้พลังงานไฮโดรเจน และการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) เพื่อเป็นโอกาสและลดความผันผวนของพอร์ตธุรกิจในอนาคต และธุรกิจไฟฟ้า 5% เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ นายบัณฑิตได้ประกาศจุดยืนของไทยออยล์ว่าจะมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และเป็น Net Zero ภายในปี 2060 ด้วยการดำเนินงานผ่านแนวคิด "TOP for The Great Future" ขับเคลื่อนธุรกิจให้มั่นใจว่า ไทยออยล์จะบรรลุวิสัยทัศน์และเป้าหมายใหม่ที่ตั้งไว้ได้อย่างสำเร็จ โดยคำว่า "TOP" มาจาก
T - Transformation ทรานสฟอร์มธุรกิจในทุกมิติ ให้มั่นใจว่า องค์กรพร้อมขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายใหม่ สร้างธุรกิจกลุ่มไทยออยล์ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการมุ่งไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มศักยภาพความสามารถของพนักงานให้รองรับการดำเนินธุรกิจใหม่ๆ พร้อมทั้งยกระดับนวัตกรรม มุ่งเน้นการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่ตอบสนองแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก และแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ รวมถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ให้องค์กรขับเคลื่อนด้วยข้อมูล
O - Operational to Business Excellence ยกระดับการทำงานปัจจุบันจาก Operational Excellence ไปสู่ Business Excellence สร้างองค์กรที่ขับเคลื่อนโดยระบบงานระดับ World Class ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยและทีมงานมืออาชีพ สู่ความเป็นเลิศทางธุรกิจ
P - Partnership & Platform สร้างการเติบโตด้วยแนวทางความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และธุรกิจร่วมกัน รวมถึงใช้ประโยชน์สูงสุดจากแพลตฟอร์มต่างๆ ที่มีอยู่ให้เข้าถึงธุรกิจใหม่ๆ และเพิ่มประสิทธิภาพในการสนับสนุนการขยายธุรกิจในอนาคต
นอกจากนี้นายบัณฑิต ยังกล่าวถึงในส่วนการลงทุนว่า ในช่วง 3 ปีนี้ (2023-2025) มีแผนจะใช้งบประมาณในการลงทุน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งออกเป็นการลงทุนในพลังงานสะอาด หรือ CFP สัดส่วน 50% หรือประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในตอนนี้คืบหน้าไปแล้ว 90% ลงทุนในโรงงานปิโตรเคมี 270 ล้านเหรียญสหรัฐ และจะปรับปรุง Facilities และลงทุนใน Start-up เพื่อหาช่องทางใหม่ๆอีก 120 ล้านเหรียญสหรัฐ
ส่วนด้าน Geopolitics หรือผลกระทบด้านการเมืองของโลก นายบัณฑิตได้แชร์มุมมองว่า ปัจจัยที่อาจทำให้เกิดการผันผวนในด้านพลังงานอีกครั้ง คือเรื่องสภาพเศรษฐกิจโลกในปีนี้ว่าจะเป็นอย่างไร หากเกิดการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาหรือ fed เกินความคาดหมาย ก็อาจจะสร้างความผันผวนให้กับราคาพลังงานได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องคอยเฝ้าระวัง จึงเป็น 1 ในเหตุผลที่ยังวางงบประมาณการลงทุนเพียง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐเอาไว้ก่อน ส่วนปีนี้ ประเมินจากสถานการณ์ดังกล่าว ตั้งเป้าว่ารายได้ของไทยออยล์จะอยู่ที่ 400,000 ล้านบาท ลดลงจากปีที่แล้ว 500,000 ล้านบาท เนื่องจากการเติบโตของราคาน้ำมันของสภาวะความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน
“ในช่วงปีที่แล้วน้ำมันท่าอากาศยานมีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 10% แต่ปีนี้คาดว่าจะโตขึ้น จากปัจจัยการเปิดประเทศของจีน ทำให้ภาคการท่องเที่ยวกลับเข้ามา ซึ่งเฉลี่ยแล้วตอนนี้ มีนักท่องเที่ยวจีนเจ้ามายังไทยประมาณเดือนละ 2 ล้านคน ทำให้ Volume ของน้ำมันท่าอากาศยานมีแนวโน้มเติบโตที่ 50% ผนวกกับเทรนด์ของน้ำมันยังมีอนาคตที่ดี จึงคาดว่ายอดขายของไทยออยล์ในภาพรวมปีนี้จะเติบโตอยู่ที่ 4-5% โดยประมาณ” นายบัณฑิต กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวเด่น