• เงินบาทกลับมาอ่อนค่าท่ามกลางสัญญาณพร้อมคุมเข้มต่อเนื่องจากประธานเฟด หากข้อมูลเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังดีต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีเงินบาทฟื้นตัวได้เล็กน้อยในช่วงปลายสัปดาห์ก่อนการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ
• SET Index ปรับตัวลงท่ามกลางความกังวลว่า เฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ย แม้จะมีปัจจัยบวกจากการชะลอตัวลงของเงินเฟ้อไทยในช่วงต้นสัปดาห์
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
เงินบาทกลับมาอ่อนค่าท่ามกลางสัญญาณพร้อมคุมเข้มต่อเนื่องจากประธานเฟด ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ ก่อนจะกลับมาอ่อนค่าลงตามทิศทางสกุลเงินเอเชียอื่นๆ ท่ามกลางแรงหนุนของเงินดอลลาร์ฯ จากสุนทรพจน์ของประธานเฟด ซึ่งสะท้อนว่า เฟดจะยังคงต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป โดยเฉพาะหากข้อมูลเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ยังคงมีสัญญาณดีต่อเนื่อง ทั้งนี้ ตลาดการเงินทยอยกลับมาประเมินโอกาสที่เฟดจะกลับมาเร่งขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุม FOMC เดือนมี.ค. นี้อีกครั้ง ขณะที่มีความไปได้มากขึ้นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ที่สะท้อนจาก dot plot ใหม่ของเฟดจะสูงขึ้นกว่าที่เคยให้ไว้เดิม
อย่างไรก็ดี แรงขายเงินบาทชะลอลงบางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ หลังตลาดปรับตัวรับสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินจากประธานเฟดไปมากแล้ว ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ยังคงรอปัจจัยใหม่มากระตุ้น โดยเฉพาะข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตร และตัวเลขตลาดแรงงานอื่นๆ ในเดือนก.พ. ของสหรัฐฯ
ในวันศุกร์ที่ 10 มี.ค. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.03 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 34.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (3 มี.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 6-10 มี.ค. นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 10,381 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทยติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่สองที่ 9,157 ล้านบาท (ซื้อสุทธิ 10,147 ล้านบาท ขณะที่มีตราสารหนี้หมดอายุ 990 ล้านบาท)
สัปดาห์ถัดไป (13-17 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.50-35.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุม ECB ทิศทางเงินลงทุนของต่างชาติและสกุลเงินเอเชีย ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีราคาผู้ผลิต และตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านเดือนก.พ. ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย ดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์จากมุมมองผู้บริโภค ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและสาขาฟิลาเดลเฟียเดือนมี.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนก.พ. ของยูโรโซน และข้อมูลเศรษฐกิจจีน อาทิ ยอดค้าปลีก และการผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนม.ค.-ก.พ. เช่นกัน
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงหลุดกรอบ 1,600 จุด ทั้งนี้ หุ้นไทยดีดตัวขึ้นในช่วงแรก โดยมีแรงหนุนจากตัวเลขเงินเฟ้อเดือนก.พ. ของไทยที่ชะลอตัวลงและแตะระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือน ก่อนจะร่วงลงในเวลาต่อมาโดยถูกกดดันจากถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรส ซึ่งสะท้อนถึงโอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงกว่าคาดเพื่อคุมเงินเฟ้อ โดยหุ้นกลุ่มที่ปรับตัวลงแรง ได้แก่ กลุ่มพลังงาน แบงก์และไฟแนนซ์ อย่างไรก็ดีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นช่วงสั้นๆระหว่างสัปดาห์ โดยมีแรงซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีช่วยหนุน โดยเฉพาะหุ้นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่แห่งหนึ่ง จากความคาดหวังเรื่องแนวโน้มธุรกิจ อนึ่งนักลงทุนต่างชาติยังคงมีสถานะขายสุทธิหุ้นไทยในสัปดาห์นี้
ในวันศุกร์ (10 มี.ค.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,599.65 จุด ลดลง 0.45% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 56,404.50 ล้านบาท ลดลง 11.61% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 0.50% มาปิดที่ระดับ 560.13 จุด
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (13-17 มี.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,590 และ 1,575 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,620 และ 1,630 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และประเด็นการเมืองภายในประเทศ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.พ. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม ECB ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.พ. ของยูโรโซน และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนก.พ. ของจีน อาทิ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร
ข่าวเด่น