· ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าการส่งออกกุ้งของไทยปี 2566 อาจอยู่ที่ 1.06-1.10 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรืออยู่ในกรอบ -3.5% ถึง 0.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจคู่ค้าหลักอย่าง สหรัฐฯ และญี่ปุ่นที่ชะลอตัว ส่งผลให้ความต้องการสินค้าอาจปรับลดลง แม้จะมีแรงซื้อจากจีน ที่เข้ามาหนุนความต้องการที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการเปิดประเทศ โดยเฉพาะสินค้ากุ้งสดแช่แย็นแช่แข็ง ทำให้อัตราการขยายตัวไม่หดตัวลึกมาก
· มองไปข้างหน้า แนวโน้มการส่งออกกุ้งของไทย คงขึ้นอยู่กับทิศทางความต้องการในตลาดคู่ค้าเป็นหลักและการปรับตัวกับความท้าทายของธุรกิจ โดยเฉพาะในเรื่องของความสามารถด้านการแข่งขันของไทย ที่ปัจจุบันยังเสียเปรียบคู่แข่ง นอกจากนี้ รูปแบบของธุรกิจที่มุ่งไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น ทำให้ธุรกิจจำเป็นต้องวางแผนรับมือ แม้ว่าในระยะสั้นจะทำให้มีต้นทุนส่วนเพิ่ม แต่ระยะยาวจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันให้แก่ธุรกิจได้
การส่งออกกุ้งของไทยปี 2566 คาดอาจอยู่ที่ -3.5% ถึง 0.5% จากตลาดคู่ค้าหลักชะลอตัว แม้มีแรงซื้อจากจีนที่เข้ามาหนุนจากความต้องการที่คงจะเพิ่มขึ้นหลังการเปิดประเทศ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าการส่งออกกุ้งของไทยปี 2566 อาจอยู่ที่ 1.06-1.10 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรืออยู่ในกรอบ -3.5% ถึง 0.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจคู่ค้าหลักอย่าง สหรัฐฯ และญี่ปุ่น (สัดส่วนมูลค่าส่งออกราวร้อยละ 55 ของการส่งออกกุ้งทั้งหมดของไทยไปตลาดโลก) มีแนวโน้มชะลอตัว ส่งผลให้ความต้องการผลิตภัณฑ์กุ้งอาจปรับลดลง แม้จะมีแรงซื้อจากตลาดจีน1 ที่ความต้องการในประเทศคงจะเพิ่มขึ้นจากการเปิดประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มกุ้งสดแช่แย็นแช่แข็ง2 รวมถึงตลาดใหม่ๆ ที่ทางภาครัฐของไทยเข้าไปเจรจาการค้าในกลุ่มสินค้าเกษตรด้วย อาทิ ไต้หวัน ฮ่องกง3 ทำให้ผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยมีแนวโน้มจะส่งออกไปยังตลาดดังกล่าวได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ด้วยสัดส่วนมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดใหม่ที่ยังน้อย จึงช่วยชดเชยการหดตัวของตลาดหลักได้ไม่มากนัก
แนวโน้มการส่งออกกุ้งของไทยในระยะต่อไป คงขึ้นอยู่กับทิศทางความต้องการคู่ค้าและการปรับตัวท่ามกลางความท้าทายของธุรกิจ โดยเฉพาะในเรื่องของความสามารถด้านการแข่งขัน
ปัจจัยท้าทายที่จะกระทบกับการส่งออกกุ้งของไทยในระยะสั้น-กลาง ที่สำคัญมีอยู่ 2 ประเด็น คือ
1) ทิศทางความต้องการในตลาดคู่ค้าสำคัญ ซึ่งอาจจะปรับขึ้นลงตามภาวะเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่หากวิเคราะห์ทิศทางการส่งออกกุ้งในแต่ละตลาดสำคัญ จะพบว่า
ตลาดสหรัฐฯ เริ่มให้ภาพที่อิ่มตัวและมีทิศทางที่ลดลง จากการถูกปรับลดสิทธิพิเศษทางภาษีและราคาส่งออกของไทยที่สูงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง อาทิ เอกวาดอร์ เวียดนาม อินเดีย
ตลาดญี่ปุ่น ส่วนแบ่งตลาดไทยค่อนข้างคงที่และมีแนวโน้มจะปรับลดลง เนื่องจากมีการแข่งขันด้านราคาสูง กับคู่แข่งรายสำคัญ อาทิ อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และจีน ท่ามกลางกำลังซื้อภายในประเทศที่ยังคงอ่อนแรง
ตลาดจีน ในระยะสั้น-กลาง ยังมีความต้องการเพิ่มจากความต้องการในประเทศที่สูง ทั้งกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง รวมถึงสินค้ากลุ่มใหม่อย่าง กุ้งก้ามกรามมีชีวิต (เพื่อการบริโภค) หลังจากภาครัฐของไทยได้เจรจาขอส่งออกไปจีน เพื่อใช้ในการประกอบอาหารไทยในธุรกิจ Food Service ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคจีน ส่วนในระยะยาว นโยบายลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าเกษตรและแนวโน้มการผลิตกุ้งของจีนที่เติบโตต่อเนื่อง อาจส่งผลให้ความต้องการของจีนที่มีต่อกุ้งไทยปรับลดลง ท่ามกลางการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงจากคู่แข่งรายสำคัญอย่าง เอกวาดอร์และอินเดีย
2) ความสามารถด้านการแข่งขันของไทยที่เสียเปรียบคู่แข่งใน 2 มิติสำคัญ ได้แก่
การแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง โดยเฉพาะกับคู่แข่งสำคัญอย่าง เอกวาดอร์ อินเดีย ที่มีความได้เปรียบเรื่องปริมาณผลผลิต จากการพัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มผลผลิต ทำให้เกิด Economy of scale และมีความได้เปรียบด้านราคา ในขณะที่ไทยเผชิญกับข้อจำกัดการผลิต ทั้งจากความต้องการของคู่ค้าที่ลดลงและต้นทุนการผลิตที่สูง โดยเฉพาะค่าแรง ทำให้ปริมาณการผลิตกุ้งของไทยโตได้ในกรอบที่จำกัด เพราะเกษตรกรชะลอการเพาะเลี้ยง ซึ่งในบางปีไทยต้องนำเข้ากุ้งเข้ามาเพื่อชดเชยกับผลผลิตที่ลดลงด้วย เฉพาะช่วงเวลาและปริมาณผลผลิตภายในประเทศมีปริมาณน้อย ภายใต้เงื่อนไขที่ Shrimp Board ได้กำหนดไว้ในแต่ละปี เพื่อให้โรงงานแปรรูปมีสินค้าวัตถุดิบผลิตเพื่อส่งออก
คู่แข่งมีแต้มต่อจากมาตรการทางการค้าของคู่ค้า โดยในตลาดสหรัฐฯ ประเทศที่มีข้อตกลงทางการค้าเช่น แคนาดา เอกวาดอร์ พบว่าส่วนแบ่งตลาดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ประเทศที่ไม่ได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าหรือประสบกับมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด เช่น ไทย เวียดนาม พบว่า ส่วนแบ่งตลาดมีแนวโน้มปรับลดลง ตลาดญี่ปุ่น คู่ค้าสำคัญในอาเซียน (รวมถึงไทย) และอินเดีย ได้รับสิทธิพิเศษจากข้อตกลงทางการค้า FTA อัตราภาษีนำเข้าจึงไม่ต่างกัน แต่จะมาแข่งขันที่ราคาส่งออกทำให้คู่แข่งที่ทำราคาได้ต่ำมีความได้เปรียบและมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่ม อาทิ อินเดีย ตลาดจีน ความต้องการกุ้งจากเอกวาดอร์เพิ่มสูงก้าวกระโดดตั้งแต่ปี 2560 หลังจากจีนลดภาษีนำเข้ากุ้งให้กับเอกวาดอร์จาก 5% ลงมาเป็น 2% ตลอดจนแรงหนุนจากการเจรจาการค้าระหว่างรัฐในการจะเพิ่มการส่งออกกุ้งไปยังจีนให้ได้เพิ่มขึ้น
ท่ามกลางจากความท้าทายต่างๆ ซึ่งยังมีประเด็นค่าเงินที่ผันผวนสูงทั้งสองทิศทางด้วยนั้น นอกจากการปรับประสิทธิภาพการผลิตเพื่อลดต้นทุนอย่างต่อเนื่อง ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยอาจพิจารณาโอกาสในตลาดศักยภาพใหม่เพื่อกระจายความเสี่ยง อาทิ ประเทศในตะวันออกกลาง นอกจากนี้ ภาคธุรกิจควรเตรียมการรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ที่อาจกระทบต่อต้นทุนวัตถุดิบให้ปรับสูงขึ้น (กระทบการเพาะเลี้ยงและอัตราการรอด ปริมาณผลผลิตลดลง) ตลอดจนมาตรการคู่ค้าและผู้บริโภคที่ตระหนักถึงประเด็นความยั่งยืน ซึ่งจะเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายต่อการสร้างผลตอบแทนทางธุรกิจ ทั้งนี้ การส่งออกกุ้งของไทยที่มีแนวโน้มชะลอลงในปีนี้ อาจส่งผลกดดันราคากุ้งในประเทศและกระทบรายได้สุทธิของผู้เพาะเลี้ยงกุ้ง จึงเป็นโจทย์ที่ทุกฝ่ายรวมถึง Shrimp Board คงยังจำเป็นต้องเข้ามาช่วยรักษาเสถียรภาพด้านราคาเพื่อจูงใจการผลิต ควบคู่กับการผลักดันกลไกสร้างความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมกุ้งไทย
ข่าวเด่น