เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ "ส่องมาตรการรับมือปัญหาแบงก์ในสหรัฐฯ...ทำไมถึงไม่เรียกว่าเป็นการ Bailout แบงก์"


· มาตรการที่ทางการสหรัฐฯ ใช้รับมือกับปัญหาแบงก์ในสหรัฐฯ เป็นแนวทางใหม่ที่ไม่เคยดำเนินการมาก่อน โดยมาตรการหลักที่ออกมา 2 มาตรการ คือ 1) มาตรการ BTLP มีข้อดีตรงที่แบงก์สามารถกู้ยืมได้นานถึง 1 ปี และวงเงินกู้ที่ได้รับจะเท่ากับหลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกันซึ่งจะถูกประเมินที่ราคาพาร์ และ 2) การให้การคุ้มครองผู้ฝากเงินในแบงก์ที่ปิดตัวลงแบบครอบคลุม ซึ่งมากกว่าสถานการณ์ปกติ


· ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ทั้ง 2 มาตรการไม่เรียกว่าเป็นการ Bailout แบงก์ที่ประสบปัญหา เพราะไม่ได้มีการอัดฉีดเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อช่วยพยุงกิจการ จึงไม่ได้เป็นภาระโดยตรงต่อประชาชนผู้เสียภาษี แต่ประเด็นที่ต้องติดตาม ก็คือ แบงก์ที่เผชิญแรงกดดันจากการไหลออกของเงินฝากนั้น จะถือครองสินทรัพย์คุณภาพสูงในปริมาณที่มากพอที่จะนำไปค้ำประกันเพื่อขอกู้เงินเสริมสภาพคล่องและนำมาจ่ายคืนเงินฝากที่ถูกไถ่ถอนได้เพียงพอหรือไม่ ขณะที่การช่วยเหลือผู้ฝากเงินก็จะเป็นภาระของแบงก์ที่ยังเปิดทำการอยู่ ซึ่งต้องมีหน้าที่นำส่งเงินเข้ากองทุนฯ ในภายหลัง

· แม้มาตรการ BTLP จะช่วยเข้าประคองสถานการณ์ได้ในระดับหนึ่ง แต่แรงกดดันที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องในหุ้นแบงก์สหรัฐฯ บางแห่ง ก็เป็นสัญญาณที่สะท้อนว่า ความเชื่อมั่นยังไม่สามารถฟื้นกลับมาได้ในระยะเวลาอันสั้น และเฟดกำลังถูกตลาดกดดันอีกครั้ง ให้ต้องนำเรื่องความปั่นป่วนจากปัญหาในภาคธนาคาร มาชั่งน้ำหนักพร้อมๆ กับการดูแลปัญหาเงินเฟ้อในการประเมินทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า เพราะไม่ว่าจะยังไง ความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจและการเงินของสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้นแล้วอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งทำให้เฟดจะต้องตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยอย่างระมัดระวังและรอบคอบ เพราะหากผิดพลาดไป อาจก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างกว่านี้ได้

อาจกล่าวได้ว่า มาตรการที่ทางการสหรัฐฯ ใช้รับมือกับปัญหาแบงก์ในสหรัฐฯ เป็นแนวทางใหม่ที่ไม่เคยดำเนินการมาก่อน โดยมาตรการหลักที่ออกมา 2 มาตรการ คือ 1) Bank Term Lending Program หรือ BTLP และ 2) การให้การคุ้มครองผู้ฝากเงินในแบงก์ที่ปิดตัวลงทั้ง Silicon Valley Bank และ Signature Bank แบบครอบคลุม

สำหรับมาตรการแรก Bank Term Lending Program (BTLP) เป็นมาตรการช่วยลดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องให้กับแบงก์ และสถาบันรับฝากเงินอื่นๆ ที่ “ยังเปิดดำเนินการอยู่” เพื่อรับมือกับปัญหาการแห่ถอนเงินแบบตื่นตระหนกของผู้ฝากเงิน (Bank Run) ภายใต้มาตรการนี้แบงก์จะสามารถขอเงินกู้อายุไม่เกิน 1 ปีจากธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด โดยใช้หลักทรัพย์ที่มีคุณภาพสูง อาทิ พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้และ MBS ที่ออกโดยหน่วยงานทางการสหรัฐฯ มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน และจะโดนคิดดอกเบี้ยที่อัตราดอกเบี้ย Overnight Index Swap (1-Year OIS) บวกเพิ่ม 10 basis points ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มาตรการนี้เสมือนเป็นกลไกช่วยเหลือด้านสภาพคล่องเพิ่มเติมให้กับแบงก์ผ่าน “ช่องทางพิเศษ” ที่นอกเหนือไปจากการขอยืมสภาพคล่องผ่าน Discount Window Lending โดยมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า มาตรการ BTLP มีเงื่อนไข 2 ข้อ ซึ่งผ่อนปรนมากกว่าการขอเงินกู้ผ่าน Discount Window คือ 1) วงเงินกู้จากมาตรการ BTLP ที่แบงก์จะได้รับจะเท่ากับราคาพาร์ หรือมูลค่าหน้าตั๋วของตราสารนั้นๆ ไม่ใช่ราคาตลาด และไม่ถูกปรับลดราคาหลักประกันลงมาเหมือนช่องทางการกู้ผ่าน Discount Window เนื่องจากเฟดไม่ต้องการให้ MTM loss ทางบัญชี กลายเป็น loss จริงๆ ที่เกิดจากการที่แบงก์ถูกสถานการณ์บีบคั้นให้ขายตราสารออกไปในสภาวะตลาดที่ไม่อำนวย และ 2) ระยะเวลาการกู้ผ่านมาตรการ BTLP จะยาวถึง 1 ปี ซึ่งนานกว่า Discount Window ซึ่งโดยมากจะมีระยะเวลาประมาณ 90 วัน

ส่วนมาตรการที่สอง เป็นการให้การคุ้มครองผู้ฝากเงินในแบงก์ที่ “ปิดกิจการไปแล้ว” ซึ่งก็คือ Silicon Valley Bank และ Signature Bank แบบครอบคลุมเต็มจำนวน โดยใช้เงินจากกองทุนประกันเงินฝาก ซึ่งอาจสามารถกล่าวได้ว่า การช่วยเหลือผู้ฝากเงินในแบงก์ 2 แห่งนี้ครอบคลุมกว่าสถานการณ์ปกติซึ่งวงเงินคุ้มครองจะอยู่ที่ 250,000 ดอลลาร์ฯ ต่อบัญชี/ต่อราย/ต่อสถาบันการเงิน ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้ฝากเงินได้รับเงินคืนจะได้ไม่มีปัญหาเศรษฐกิจตามมา
 
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ทั้ง 2 มาตรการไม่เรียกว่าเป็นการ Bailout แบงก์ที่ประสบปัญหา เพราะไม่ได้มีการอัดฉีดเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อช่วยพยุงกิจการ จึงไม่ได้เป็นภาระโดยตรงต่อประชาชนผู้เสียภาษี (Taxpayer) โดยในส่วนของมาตรการ BTLP เมื่อครบกำหนดตามอายุสัญญาเงินกู้ แบงก์ที่ขอยืมสภาพคล่องก็จะต้องนำเงินมาคืนให้กับเฟด ขณะที่มาตรการคุ้มครองผู้ฝากเงินใน 2 แบงก์ที่ปิดกิจการ ก็จะเป็นการนำเงินมาจากตัวแบงก์ที่ปิดกิจการ และกองทุนประกันเงินฝาก

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จุดอ่อนของมาตรการ BTLP น่าจะอยู่ที่แบงก์ที่เผชิญแรงกดดันจากการไหลออกของเงินฝากนั้น จะถือครองสินทรัพย์คุณภาพสูงในปริมาณที่มากพอที่จะนำไปค้ำประกันเพื่อขอกู้เงินเสริมสภาพคล่องและนำมาจ่ายคืนเงินฝากที่ถูกไถ่ถอนได้เพียงพอหรือไม่ ขณะที่มาตรการช่วยผู้ฝากเงินนั้น ผู้รับภาระก็จะเป็นแบงก์ที่ยังเปิดทำการอยู่ ซึ่งต้องมีหน้าที่นำส่งเงินเข้ากองทุนฯ ซึ่งน่าจะอยู่ในรูปของค่าธรรมเนียมในระยะถัดๆ ไปตามข้อกฎหมายที่กำหนด

โดยสรุป แม้มาตรการ BTLP จะช่วยเข้าประคองสถานการณ์ได้ในระดับหนึ่ง แต่แรงกดดันที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องในหุ้นแบงก์สหรัฐฯ บางแห่ง ก็เป็นสัญญาณที่สะท้อนว่า ความเชื่อมั่นยังไม่สามารถฟื้นกลับมาได้ในระยะเวลาอันสั้น และยังมีความเป็นไปได้ว่า แบงก์อื่นๆ ซึ่งมีความเปราะบางอาจจะต้องรับมือหรือเผชิญความเสี่ยงจากการเร่งถอนเงินฝาก ขณะที่ผู้ฝากเงินบางส่วนก็อาจจะโยกเงินไปยังแบงก์ที่ถูกมองว่า มีสถานะเป็น Too Big to Fail ภายใต้สภาวะปั่นป่วนในภาคธนาคารของสหรัฐฯ ในรอบนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ประเด็นที่กำลังเกิดขึ้นตามมา อันเป็นผลกระทบจากสถานการณ์แบงก์ล้มในสหรัฐฯ ก็คือ การประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ เพราะยิ่งสถานการณ์ฝุ่นตลบในภาคธนาคารลากยาว ก็จะยิ่งทำให้เกิดความกังวลว่า ปัญหาแบงก์สหรัฐฯ ในรอบนี้อาจลงลึกจนมีผลกระทบต่อเนื่องมาที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และคงต้องยอมรับว่า เฟดกำลังถูกตลาดกดดันอีกครั้ง ให้ต้องนำเรื่องความปั่นป่วนจากปัญหาในภาคธนาคาร มาชั่งน้ำหนักพร้อมๆ กับการดูแลปัญหาเงินเฟ้อในการประเมินทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า เพราะไม่ว่าจะยังไง ความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจและการเงินของสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้นแล้วอย่างมีนัยสำคัญ และเพื่อรับมือกับโจทย์นี้ เฟดจะต้องตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยอย่างระมัดระวังและรอบคอบ เพราะหากผิดพลาดไป อาจก่อให้เกิดผลกระทบ (หรืออาจกลายเป็นวิกฤต) ในวงกว้างกว่านี้ได้

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 มี.ค. 2566 เวลา : 15:55:10
29-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 29, 2024, 7:39 pm