โดย ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัยและที่ปรึกษาการลงทุน
ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย
วิกฤติความเชื่อมั่นของเครดิต สวิส... ใครคือโดมิโนตัวต่อไป
ตลาดทุนจับจ้องมาที่ธนาคารเครดิต สวิส (Credit Suisse) หลังราคาหุ้นร่วงหนัก คนพร้อมแห่ถอนเงิน นักลงทุนในตราสารหนี้ห่วงธนาคารจะผิดนัดชำระหนี้ ค่าประกันความเสี่ยงหรือ Credit Default Swap พุ่งขึ้นสูง เกิดอะไรขึ้น
ตัวแปรสำคัญคือข่าวผู้ถือหุ้นรายใหญ่อย่าง Saudi National Bank ออกมาบอกว่าจะไม่ถือหุ้นเครดิต สวิสมากไปกว่านี้ หรือไม่เกิน10% เพราะไม่อยากทำตามกฎระเบียบของยุโรป แต่นักลงทุนน่าจะคิดว่ามีอะไรผิดคาด คนขาดความไว้ใจ จึงเกิดภาวะแตกตื่นอย่างที่เห็น
จริงๆ แล้วเครดิต สวิสเป็นธนาคารที่มีชื่อเสียงมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในธุรกรรมด้านการบริหารความมั่งคั่งให้ลูกค้า แต่ที่ผ่านมาก็พบว่ามีข่าวในด้านลบหลายครั้ง ทั้งข่าวลือ การทำผิดกฎระเบียบ ถูกปรับฟ้องร้อง และการเปลี่ยนผู้บริหารบ่อย จึงมีผลให้ฐานะทางการเงินของธนาคารอ่อนแอลง แต่ธนาคารต้องหาทุนมาเพิ่มเพื่อรักษาระดับกองทุนของผู้ถือหุ้น เพราะธนาคารนี้จะได้รับการจัดประเภทเป็น Systemically Important Financial Institution (SIFI) พูดง่ายๆ คือหากล้มจะลามไปกระทบเศรษฐกิจมาก จึงต้องดูแลฐานะการเงินเป็นพิเศษ (เรียกว่าต้องมีทุนมากกว่าแบงก์อื่น)
แล้วรัฐจะอุ้มไหม...ธนาคารนี้ใหญ่เกินกว่าจะปล่อยให้ล้มได้ ล่าสุดธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์มาอัดฉีดเงินเพิ่มสภาพคล่องให้เครดิต สวิส แต่จะอุ้มด้วยเงินภาษีประชาชนคงไม่ได้นาน น่าเป็นการอุ้มคนฝากเงิน หรือประคองด้านความเชื่อมั่น ไม่ให้ราคาร่วงไปกว่านี้ แต่น่าหาใครมาลงขันซื้อหุ้นไปในราคาถูก เรียกว่าเป็นตัวแทนขายดีกว่ารัฐซื้อเอง สินทรัพย์ยังมีคุณภาพดี โอกาสเติบโตในธุรกิจบริหารความมั่งคั่งก็ดี เพียงแต่อาจเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร และที่สำคัญ ให้ราคาที่น่าสนใจ แต่ทำตอนนี้ ในภาวะตลาดแบบนี้คงไม่ง่าย ที่เป็นไปได้มากที่สุดคือตัดส่วน Investment Banking ขาย เอาเงินไปรักษาระดับทุน
กลไกรัฐบาลเหมือนสหรัฐไหม... ไม่ เครดิต สวิสไม่ใช่ SVB และยุโรปไม่ใช่สหรัฐ ปัญหาเกิดแน่หากล้ม เพราะลำพังสวิตเซอร์แลนด์คงไม่อาจอุ้มได้ และอาจกระทบความเชื่อมั่นของประเทศ อย่าลืมว่าสวิตเซอร์แลนด์ไม่อยู่ในยูโรโซน มีเงินตัวเอง แต่ก็เสี่ยงผันผวน จะออกเงินมหาศาลมาค้ำก็ยาก และแบงก์นี้กระจายทั่วโลก จะคุ้มครองอย่างไร
จะลามไหม... ลาม เพราะใหญ่กว่า SVB และไม่กระจุกในเทค หรือผลจากดอกเบี้ยขาขึ้น แต่นักลงทุนจะหาโดมิโนตัวต่อไป และมีหลายแบงก์ขนาดใหญ่ในยุโรปที่ไม่แข็งแกร่งหรือมีปัญหาขาดทุนมาก่อนหน้าแล้ว ช่วงนี้เหมือนการล่าแม่มด มองหาว่าใครคือแบงก์ที่จะล้มรายต่อไป
แก้ปัญหาคราวนี้ไม่ง่าย และต้องรีบให้จบโดยเร็ว เพราะหากยืดเยื้อ แบงก์ในยุโรปจะมีปัญหาเรื่องความเชื่อมั่น นึกถึงเยอรมนีที่หากวันหนึ่งต้องเข้ามาอุ้มธนาคารในยุโรปด้วยการอัดฉีดสภาพคล่อง แต่อีกมือก็ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อปรามเงินเฟ้อ สุดท้าย ต้องทั้งเหยียบเบรกและคันเร่งพร้อมกัน เศรษฐกิจยุโรปอาจหมุนแหว่งตกทางได้ นี่ยังไม่พูดถึงปัญหาหนี้สาธารณะอย่างอิตาลี หรือกรีซ แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลยจะหมุนไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจเองและลามไปทั่วโลก ผมมองว่าในที่สุดสวิตเซอร์แลนด์และยุโรปน่าหาทางอัดฉีดเงิน ตั้งกองทุนขึ้นมาพยุงแบงก์ทั้งหลายไม่ให้ล้ม เพราะนี่คือฉนวนวิกฤติความเชื่อมั่นของภาคการเงินทั่วโลก และท้ายสุด ธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB อาจต้องพิจารณาว่าจะขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องได้แค่ไหน แม้เงินเฟ้อยังสูง
เฟดจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยเลยหรือไม่ รอลุ้นวันที่ 23 มีนาคมกัน หากเฟดหยุดขึ้นดอกเบี้ย หรือไปลดดอกเบี้ยแรงเพื่อเป็นการกันความเสี่ยงไม่ให้เกิดปัญหารุนแรงแล้วละก็ ตลาดทุนคงชอบ แต่อย่าลืมว่าเงินเฟ้อยังสูง หากเฟดกลับทิศมาลดดอกเบี้ย เงินเฟ้ออาจเด้งต่อ หรือหาก ECBลดดอกเบี้ยด้วย คราวนี้อาจเกิดภาวะ Stagflation น่ากลัวกันเลย แต่ก็พออัดฉีดสภาพคล่อง เติมเงินเข้าระบบ ป้องกันปัญหาขาดสภาพคล่องในภาคธุรกิจ ป้องกันไม่ให้เกิดการล้มละลาย รอดูว่าธนาคารกลางจะเลือกแบบใด ขึ้นดอกเบี้ยต่อเพื่อเอาชนะเงินเฟ้อ หรือลดดอกเบี้ยช่วยเศรษฐกิจ
ผลกระทบต่อไทย... นักลงทุนน่าเทขายสินทรัพย์เสี่ยงต่อเนื่อง บาทอ่อน (ยูโรอ่อน ดอลลาร์แข็ง) หรือเฟดจะยอมถอย ดอลลาร์พลิกไปอ่อน บาทแข็ง และน่าลุ้นว่าปัญหานี้จะลามไปใหญ่โต จนกระทบความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกเพียงไร แต่ภาพแบบนี้น่ากระทบกำลังซื้อในต่างประเทศ การส่งออกไทยเสี่ยงติดลบหรือโตช้า ส่วนการท่องเที่ยวยังไม่น่าได้รับผลกระทบมากนัก เพราะใกล้เข้า low season คงต้องจับตาดูอีกระยะว่าจะลามไปถึงปลายปีไหม แต่ตอนนี้ความเสี่ยงสูงขึ้นมาก แบงก์ชาติไทยอาจเลือกคงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.50% ก็ได้ (รอผลประชุมเฟดย้ำอีกที) แต่ในส่วนภาคธนาคารของไทยไม่น่าได้รับผลกระทบ เพราะเกณฑ์ของแบงก์ชาติเข้มงวดมาก และคุณภาพสินทรัพย์ของแบงก์ยังดี และไม่มีวิกฤติด้านความเชื่อมั่นเหมือนประเทศอื่น และบทเรียนที่สำคัญในระบบธนาคารคือ การรักษาความน่าเชื่อถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด
ข่าวเด่น