เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
บมจ.ไทยออยล์วิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ "ราคาน้ำมันดิบคาดจะได้รับแรงกดดันจากวิกฤตสถาบันการเงินและความไม่แน่นอนของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ"


ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 65-75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 70-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

 
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (20 – 24 มี.ค. 66)  
 
ราคาน้ำมันดิบคาดจะมีความผันผวนต่อเนื่องและจะได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของวิกฤตสถาบันการเงินหลายแห่งทั่วโลก และธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่คาดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไปวันที่ 21 – 22 มี.ค. 66 เพื่อชะลอผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ ทั้งนี้ หากเฟดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับเดิม คาดจะช่วยส่งผลเชิงบวกต่อความเชื่อมั่นในตลาดการเงินและมีแนวโน้มช่วยสนับสนุนราคาพลังงานและสินทรัพย์เสี่ยงได้ อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากความต้องการใช้น้ำมันที่ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะจากจีน ที่ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มลดลง หลังโรงกลั่นเริ่มกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุง

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้

จับตาการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ในวันที่ 21 – 22 มี.ค. 2566 ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้นต่อหรือไม่ เนื่องจากสถาบันการเงินหลายแห่งทั่วโลกเริ่มประสบกับปัญหาขาดสภาพคล่อง ซึ่งก่อนหน้านี้ ตลาดคาดธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 0.5% ในการประชุมครั้งถัดไป อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดปัญหากับธนาคาร SVB และ Signature ตลาดคาด FED มีแนวโน้มปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเพียง 0-0.25% เท่านั้น เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจจะมากขึ้นต่อเสถียรภาพของตลาดการเงิน และอัตราเงินเฟ้อล่าสุดในเดือน ก.พ. 66 เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลงแล้ว 
 
 
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น เนื่องจากนักลงทุนอาจขายสินทรัพย์เสี่ยงและหันเข้าลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น จากผลกระทบต่อธนาคาร SVB และ Signature ของสหรัฐฯ รวมถึง ผลกระทบต่อเนื่องที่อาจจะลุกลามไปยังธนาคารอื่น อาทิเช่น  เครดิต สวิส โดยล่าสุดแม้ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเข้าแทรกแซงในการออกมาตรการคุ้มครองเงินฝากและจัดตั้ง โครงการ Bank Term Funding Program สำหรับธนาคารสหรัฐฯ แต่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถืออย่าง Moody ยังคงมีมุมมองเชิงลบ ต่อระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ โดยล่าสุด แบงก์ชาติสวิตเซอร์แลนด์ได้ทำการปล่อยกู้กว่า 50 พันล้านสหรัฐฯ เพื่อเสริมสภาพคล่องกับ เครดิต สวิส แล้วและพร้อมเข้าแทรกแซงหากมีความจำเป็น เนื่องจากธนาคารดังกล่าวมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสวิสเซอร์แลนด์และมีเครือข่ายมากมายในตลาดยุโรปและอังกฤษ
 
 
ความต้องการใช้น้ำมันยังมีแนวโน้มเติบโตในปีนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับแรงกดดันและความไม่แน่นอนมากขึ้น โดยการเติบโตหลักน่าจะมาจากจีน โดยในรายงานประจำเดือน มี.ค. 2566 สำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดความต้องการใช้น้ำมันในปีนี้ยังเติบโตในระดับสูงกว่า 2.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยการเติบโตมากกว่าครึ่งคาดการณ์ว่าจะมาจากจีน หลังเศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้นในหลายภาคส่วนตั้งแต่กลับมาดำเนินการเปิดประเทศอีกครั้ง ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของ OPEC และ EIA ที่มองว่าความต้องการใช้น้ำมันจะยังคงเติบโต
 
 
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับลดลง หลังความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ บางส่วนเริ่มกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุงและเร่งกำลังการผลิตในระดับสูงเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูร้อน โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 0.4 ล้านบาร์เรลต่อวันจากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 15.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งนับเป็นเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 สัปดาห์ 
 
 
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรียและคาซัคสถาน คาดจะปรับเพิ่มขึ้น หลังล่าสุดได้มีการประกาศยกเลิกเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) ของการส่งออกน้ำมันดิบ Bonny Light หลังก่อนหน้านี้เกิดเหตุระเบิดและกระทบกับท่อขนส่งน้ำมัน ขณะที่ ปริมาณการผลิตของคาซัคสถานเริ่มปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับปกติ หลังเกิดเหตุสุดวิสัยกระทบต่อแหล่งผลิต
 
 
เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ในวันที่ 21 – 22 มี.ค.2566 ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐฯ เดือน ก.พ. 2566 และ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ 
 
 
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (13 – 17 มี.ค. 66)  
 
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 8.06 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 66.74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 7.80 หรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 72.97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 74.74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังตลาดกังวลวิกฤตการณ์ในภาคธนาคารสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน โดยเมื่อวันที่ 10 มี.ค. ที่ผ่านมา สหรัฐฯ สั่งปิดกิจการของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ (Silicon Valley Bank) และ ธนาคารซิกเนเจอร์ (Signature Bank) จากปัญหาขาดสภาพคล่องและความล้มเหลวในการเพิ่มทุน ซึ่งนับเป็นความล้มเหลวของกิจการในสหรัฐฯ ครั้งที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551 โดยความกังวลดังกล่าวยังคงส่งผลลุกลามต่อเนื่องไปยังภาคธนาคารในหลายประเทศและคาดการณ์ล่าสุดว่า เครดิต สวิส (Credit Suisse) มีโอกาสจะเป็นธนาคารถัดไปที่ประสบปัญหา นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด วันที่ 10 มี.ค. 66 ปรับเพิ่มขึ้น 1.6 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 480.1 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับขึ้น 1.2 ล้านบาร์เรล 
 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 20 มี.ค. 2566 เวลา : 10:20:16
29-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 29, 2024, 5:22 pm