เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
กสิกรไทย เผย GDP ไทยปี 66 โต 3.7% ท่องเที่ยวหนุน ด้านเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัว กดดันส่งออกไทย -1.2%


 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดมุมมองทิศทางเศรษฐกิจ คงประมาณการจีดีพีปี 2566 ที่ 3.7% ขณะที่ปรับลดตัวเลขส่งออกลงจากเดิมที่ -0.5% มาที่ -1.2% ด้านการท่องเที่ยวขยับดีขึ้น ตามสถานการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปี ประเมินวิกฤตธนาคารชาติตะวันตกต่อไทยอยู่ในกรอบจำกัด

 
นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า จากข้อมูลที่มี ณ ขณะนี้วิกฤตธนาคารขนาดกลางและเล็กของสหรัฐฯ คงจะยืดเยื้อ เนื่องจากตราบใดที่ธนาคารที่ถูกจับตามองยังไม่ได้แก้ไขปัญหางบดุล อาทิ การกระจุกตัวของเงินฝาก หรือการบริหารความเสี่ยงอัตราดอกเบี้ย ก็จะยังทำให้ผู้ฝากเงินขาดความมั่นใจ นอกจากนี้ การที่ทางการสหรัฐฯ มีเจตนาที่จะแก้ไขปัญหาโดยไม่ใช้เงินภาษีของประชาชน ทำให้การตัดสินใจอาจใช้เวลา อีกทั้งธนาคารที่จะเข้ามาซื้อกิจการในธนาคารที่ประสบปัญหา คงใช้เวลาในการตัดสินใจเช่นกัน สุดท้ายแล้ว ธนาคารที่เป็นประเด็นก็อาจหลีกเลี่ยงการปิดตัวลงได้ยาก อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางชาติอื่นๆ เข้าดูแลสภาพคล่องของระบบอย่างรวดเร็ว น่าจะช่วยยับยั้งสถานการณ์ไม่ให้ลุกลามจนกลายเป็นวิกฤตการเงินโลกได้ ส่วนในระยะถัดไป ประเด็นติดตามอยู่ที่ทางการสหรัฐฯ จะปรับปรุงกฎหมายการกำกับดูแลภาคธนาคารสหรัฐฯ ให้เข้มงวดขึ้น สำหรับธนาคารขนาดกลางและเล็กหรือไม่ ซึ่งหากมีการดำเนินการได้จริงในทางปฏิบัติ ก็อาจทำให้ธนาคารระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น กระทบผลประกอบการธนาคารกลุ่มดังกล่าวในระยะกลาง

 
นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้น คาดการณ์ว่าปัญหาภาคธนาคาร จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงมากกว่าเดิม และมีแนวโน้มสูงขึ้นที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยบางไตรมาสในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งความกังวลข้างต้น สะท้อนผ่านโมเมนตัมการปรับดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ในการประชุมครั้งล่าสุด (วันที่ 21-22 มีนาคม) ที่ผ่อนคันเร่งลงด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็นไปตามการคาดการณ์ของตลาด หลังจากช่วงก่อนเกิดปัญหาภาคธนาคารสหรัฐฯ ที่ตลาดมองว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 0.50% ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้ชะลอตัวลงมากกว่าเดิมน่าจะมีผลกระทบต่อไทยผ่านช่องทางการค้า โดยเฉพาะภาคการส่งออก ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อของไทยทยอยปรับตัวลดลง ตามทิศทางราคาพลังงานที่ลดลงตามการซะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโลก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงปรับลดประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2566 ลงมาที่ 2.8% จากเดิมที่ 3.2% แต่เงินเฟ้อไทยก็ยังไม่ถือว่ามีการปรับลดลงเร็ว เพราะมีปัจจัยอย่างราคาปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศมีแนวโน้มไม่ปรับลดลงเร็ว และคาดว่าจะยังคงเห็นการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภค จากเรื่องของค่าไฟ ค่าแรง และค่าพลังงานที่ปรับสูงขึ้นแม้อยู่ในอัตราที่ชะลอลง ส่วนอุปสงค์ในประเทศที่ได้แรงหนุนจากการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวจะยังคงเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาสินค้ายังทรงตัวในระดับสูง

อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวของไทยก็เป็นปัจจัยบวกที่ช่วยต้านผลกระทบข้างต้น คือ จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปี 2566 อาจสูงกว่าที่คาดไว้เดิมที่ 25.5 ล้านคน มาที่ 28.5 ล้านคน ทำให้ในภาพรวมแล้ว จึงยังคงประมาณการจีดีพีสำหรับทั้งปี 2566 ไว้ที่ 3.7% ทั้งนี้ ทิศทางเศรษฐกิจไทยยังเต็มไปด้วยปัจจัยความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก จึงยังเป็นประเด็นที่ยังคงติดตามต่อไป

ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทนั้น คงจะเคลื่อนไหวผันผวนค่อนข้างมากต่อเนื่องไปในไตรมาสสอง ท่ามกลางสถานการณ์ต่างประเทศยังไม่นิ่ง เพียงแต่จังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดที่ชะลอความแรงลง ทำให้เงินบาทมีโอกาสแกว่งตัวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้น โดยปลายปีคาดว่าจะอยู่ที่ 33.5 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่าจะปรับขึ้นได้อีก 0.25% ในการประชุมวันที่ 29 มีนาคมนี้และมี Terminal Rate สิ้นปีที่ 1.75%

สำหรับผลกระทบของปัญหาธนาคารชาติตะวันตกต่อไทย อยู่ในกรอบจำกัด เพราะธนาคารไทยมีโครงสร้างงบดุลที่กระจายตัวดีกว่า อาทิ มีพอร์ตสินเชื่อที่ใหญ่กว่าลงทุน (ในขณะที่ Sillicon Valley Bank มีพอร์ตสินเชื่อ 35% พอร์ตลงทุน 55%) พอร์ตสินเชื่อมีการกระจายตัวตามกลุ่มลูกค้ารายย่อย เอสเอ็มอี และรายใหญ่ รวมถึงมีเงินฝากที่ไม่ได้กระจุกตัวอยู่ที่ลูกค้าที่มีความมั่งคั่งสูงหรือลูกค้าธุรกิจองค์กร เหมือนดังกรณีธนาคารสหรัฐฯ ที่ประสบปัญหา นอกจากนี้ ธนาคารไทยยังมีสภาพคล่องและเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง แข่งขันได้ในระดับสากล ภายใต้การกำกับดูแลที่ใกล้ชิดของธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม จีดีพีที่ 3.7% อาจมีการปรับลดได้ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก เช่น ประเด็นเสถียรภาพภาคธนาคารของสหรัฐฯ และยุโรป การชะลอตัวลงของภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า และประเด็นความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์อย่างสภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ความขัดแย้งของสหรัฐฯและจีน ยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังต่อไป
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 มี.ค. 2566 เวลา : 16:41:43
29-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 29, 2024, 3:37 pm