เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ "เทคโนโลยี Carbon Capture Storage and Utilization (CCUS)"


ผู้ประกอบการในประเทศไทยเริ่มให้ความสนใจการนำเทคโนโลยี CCUS มาใช้ร่วมกับกระบวนการผลิตเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net-Zero โดยเฉพาะกิจการ ในกลุ่มปิโตรเลียม โรงไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และซีเมนต์ โดยศึกษาแนวทางการ กักเก็บ CO2 ในแหล่งขุดเจาะปิโตรเลียมหรือชั้นหินใต้ดินที่มีศักยภาพ และการนำ CO2 มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม รวมถึงมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง CCUS Hub คาดว่าใช้เงินลงทุนประมาณ 26,500 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ต้นทุนของเทคโนโลยี CCUS ยังอยู่ในระดับสูง ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และมาตรการภาครัฐอาจยังไม่เพียงพอในการจูงใจ ทำให้แนวโน้มการนำเทคโนโลยี CCUS มาใช้ จะค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ หากภาครัฐให้การสนับสนุนเงินทุนและมีการกำหนดราคา CO2 ดังเช่นในต่างประเทศ จะมีส่วนสำคัญช่วยให้การพัฒนาเทคโนโลยี CCUS ในไทย สามารถนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมได้แพร่หลายมากขึ้น

เทคโนโลยี Carbon Capture Storage and Utilization (CCUS) หรือการดักจับ กักเก็บ และนำคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ประโยชน์ เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีส่วนสำคัญ ในการจำกัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้บรรลุเป้าหมายข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ในการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 - 2 องศาเซลเซียส

ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมกำลังพยายามปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างไรก็ดี การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในบางอุตสาหกรรมจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนสูง เช่น อุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล เหล็ก ซีเมนต์ เคมีภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งในการบรรลุเป้าหมายข้อตกลงปารีส หากไม่มีการใช้เทคโนโลยี CCUS ทั่วโลกจำเป็นต้องเลิกผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงถ่านหินและก๊าซธรรมชาติก่อนกำหนด 23 และ 17 ปี ตามลำดับ1

เทคโนโลยี CCUS ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน

1. การดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สามารถจำแนกเทคโนโลยีการดักจับได้เป็น 3 ประเภท

· Post-Combustion การดักจับ CO2 จากก๊าซหลังกระบวนการเผาไหม้ ซึ่งได้รับความนิยมในปัจจุบัน เนื่องจากสามารถติดตั้งเทคโนโลยีดักจับเพิ่มเติมจากกระบวนการผลิตเดิม

· Pre-Combustion การดักจับ CO2 จากเชื้อเพลิงฟอสซิลก่อนกระบวนการเผาไหม้ เช่น การดักจับ CO2 จากก๊าซมีเทนเพื่อผลิตไฮโดรเจนไปใช้ในการเผาไหม้แทน

· Oxy-Fuel Combustion การใช้ก๊าซออกซิเจนบริสุทธิ์ในการเผาไหม้เพื่อให้ปริมาณ CO2 เข้มข้นสูงในก๊าซเผาไหม้ ซึ่งจะง่ายต่อการดักจับ

· Direct Air Capture (DAC) การดักจับ CO2 โดยตรงจากอากาศ

2. การขนส่ง CO2 คล้ายกับการขนส่งก๊าซ ซึ่งต้องมีกระบวนการแปลงสภาพ CO2 ในสถานะของเหลว โดยสามารถขนส่งได้ทั้งทางท่อ รถบรรทุก และเรือขนส่ง

3. การกักเก็บหรือการนำไปใช้ประโยชน์ การกักเก็บ CO2 ในปัจจุบันทำโดยการอัด CO2 ไปยังแหล่งขุดเจาะปิโตรเลียมและชั้นหินใต้ดินที่มีศักยภาพ ขณะที่การนำ CO2 ไปใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมได้หลากหลาย เช่น การนำ CO2 ไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการขุดเจาะปิโตรเลียม (Enhanced Oil Recovery) การผลิตก๊าซมีเทน /วัสดุก่อสร้าง/ สารประกอบเคมีภัณฑ์ เป็นต้น

โครงการ CCUS ที่เริ่มดำเนินการแล้วมีปริมาณการดักจับ CO2 ได้ 42.5 ล้านตัน CO2 ต่อปี และปริมาณการดักจับ CO2 ของโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและกำลังพัฒนาอีก 199 ล้านตันต่อปี โดยโครงการ CCUS ที่ดำเนินการแล้วส่วนใหญ่อยู่ในประเทศสหรัฐฯ แคนาดา และสหภาพยุโรป


ภาพรวมการลงทุนในเทคโนโลยี CCUS

การลงทุนในเทคโนโลยี CCUS ในปี 2564 มีมูลค่า 2,343 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 3 เท่าจากปี 2561 โดยมีการลงทุนสะสมระหว่างปี 2561 – 2564 เป็นมูลค่า 7,035 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม โรงงานผลิตไฟฟ้า และการขนส่งและกักเก็บ CO2

โครงการ CCUS ในกลุ่มโรงไฟฟ้า มีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น ส่วนใหญ่และมีปริมาณการดักจับ CO2 ต่อโครงการได้มากกว่า 1 ล้านตัน CO2 ต่อปี ในขณะที่โครงการ CCUS ในกลุ่มอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดเล็ก มูลค่าการลงทุนน้อยกว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีปริมาณการดักจับ CO2 ต่อโครงการน้อยกว่า 1 ล้านตัน CO2 ต่อปี


ความพร้อมของเทคโนโลยีการดักจับ CO2

ปัจจุบันเทคโนโลยีที่มีความพร้อมมากที่สุดคือการดักจับ CO2 ด้วยปฏิกิริยาทางเคมีหลังกระบวนการเผาไหม้ (Post-combustion) หลายอุตสาหกรรมมีการนำกระบวนการดักจับ CO2 มาใช้ เช่น การผลิตแอมโมเนีย การแยกก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น ส่วนการดักจับด้วยเทคโนโลยี Oxy-Fuel มีการนำมาปรับใช้กับโรงไฟฟ้าถ่านหิน อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมซีเมนต์ แต่ยังอยู่ในขั้นทดลอง ในขณะที่เทคโนโลยี DAC ยังเป็นโครงการต้นแบบ สามารถดักจับ CO2 ได้ในปริมาณน้อยและมีต้นทุนสูง2

ต้นทุนในการดักจับ CO2

การที่โรงงานไฟฟ้าถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ มีการลงทุนในเทคโนโลยี CCUS เพื่อดักจับ CO2 ด้วยปฏิกิริยาเคมี แบบ Post-combustion จะทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น โดยโรงไฟฟ้าถ่านหินจะมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยสูงขึ้น 57% หรือ 67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ในขณะที่โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติจะมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น 47% หรือ 83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ขณะที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการดักจับเพื่อลดปริมาณการปล่อย CO2 จากกระบวนการผลิตได้ถึง 85 – 86%


นโยบายการส่งเสริมเทคโนโลยี CCUS

นโยบายของภาครัฐมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในเทคโนโลยี CCUS ซึ่งมีต้นทุนสูง โดยเฉพาะนโยบายให้เงินทุนสนับสนุน โดยสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรมีการจัดตั้งกองทุนเพิ่อสนับสนุนการลงทุนในเทคโนโลยี CCUS อย่าง EU Innovation Fund และ UK CCS Infrastructure Fund ขณะที่ในสหรัฐฯ The U.S. Department of Energy มีการสนับสนุนงบประมาณสำหรับโครงการศึกษา วิจัยเทคโนโลยี CCUS รวมถึงกฎหมาย Inflation Reduction Act ที่ปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้เครดิตภาษีแก่กิจการที่ใช้เทคโนโลยี CCUS เป็นจำนวน 60 – 85 USD/tCO2 และกิจการที่ใช้เทคโนโลยี DAC เป็นจำนวน 130 – 180 USD/tCO2 ซึ่งเป็นมูลค่าใกล้เคียงกับต้นทุนในการดักจับ CO2 รวมถึงมาตรการกำหนดราคาคาร์บอนอย่าง EU-ETS ที่กำหนดให้อุตสาหกรรมที่ปล่อย CO2 สูงจะต้องซื้อใบอนุญาตเพื่อปล่อย CO2 (ราคา ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์เท่ากับ 105.56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน3) ทำให้ผู้ประกอบการมีแรงจูงใจในการลงทุนเพื่อลดปริมาณการปล่อย CO2 นอกจากนี้สหภาพยุโรปอยู่ระหว่างการเสนอกฎหมาย Net-Zero Industry Act ซึ่งจะให้เงินสนับสนุนแก่โครงการเทคโนโลยีสะอาดรวมถึงเทคโนโลยี CCUS ด้วย4

สำหรับประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 8 ปี สำหรับกิจการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ที่ใช้เทคโนโลยี CCUS รวมถึงองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกให้การรับรองคาร์บอนเครดิตที่ได้จากโครงการ CCUS เพื่อให้นำคาร์บอนเครดิต (Premium T-VER) มาซื้อขายตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ โดยกำไรที่ได้จากการขายคาร์บอนเครดิตจะได้รับยกเว้นภาษีจากกรมสรรพากร

แนวโน้มการลงทุน CCUS ในประเทศไทย

ผู้ประกอบการในประเทศไทยเริ่มให้ความสนใจการนำเทคโนโลยี CCUS มาใช้ร่วมกับกระบวนการผลิตเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net-Zero โดยเฉพาะกิจการในกลุ่มปิโตรเลียม โรงไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และซีเมนต์ โดยกิจการในกลุ่มปิโตรเลียมและโรงไฟฟ้าเริ่มศึกษาความเป็นไปได้ในการนำ CO2 ที่ได้จากกระบวนการการผลิตไปกักเก็บในแหล่งขุดเจาะปิโตรเลียมทั้งบนบกและอ่าวไทย หรือชั้นหินใต้ดินที่มีศักยภาพ ในขณะที่กิจการในกลุ่มเคมีภัณฑ์และซีเมนต์ให้ความสนใจในการนำ CO2 มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม รวมถึงมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง CCUS Hub เพื่อให้การลงทุน CCUS เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 26,500 ล้านบาท5

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าในระยะปานกลางการลงทุนในเทคโนโลยี CCUS จะค่อยเป็นค่อยไป โดยจะเริ่มในกิจการปิโตรเลียมและโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ก่อน เนื่องจากปัจจุบันต้นทุนของเทคโนโลยี CCUS ยังค่อนข้างสูง ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และมาตรการของรัฐบาลอาจยังไม่เพียงพอในการจูงใจให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชน อย่างไรก็ดี ในระยะยาว เทคโนโลยี CCUS มีแนวโน้มที่จะเกิดการพัฒนาและทำให้ต้นทุนของเทคโนโลยีลดลงจนสามารถนำมาใช้ในกับภาคอุตสาหกรรมอย่างแพร่หลาย เนื่องจากการให้เงินทุนสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากมาตรการในต่างประเทศ รวมถึงมาตรการกำหนดราคา CO2 ที่จะเพิ่มต้นทุนสำหรับสินค้าที่ปล่อย CO2 สูง เช่น การลดใบอนุญาตให้เปล่าในการปล่อย CO2 ของ EU-ETS ตั้งแต่ปี 2026 ซึ่งจะทำให้ราคาคาร์บอนเครดิตสูงขึ้น มาตรการ EU-CBAM ที่ผู้ประกอบการจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียม CO2 สำหรับสินค้านำเข้าไปยังสหภาพยุโรปตั้งแต่ปี 2026 เป็นต้น ดังนั้น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ควรเริ่มศึกษาและลงทุนในเทคโนโลยีลดการปล่อย CO2 เพื่อไม่ให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันและช่วยให้ประเทศสามารถบรรลุเป้าหมาย Net-Zero ในอนาคต

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 24 มี.ค. 2566 เวลา : 10:56:50
29-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 29, 2024, 3:43 pm