นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงว่า ในระหว่างวันที่ 29 – 31 มีนาคม 2566 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีกำหนดเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน (ASEAN Finance Ministers and Central Bank Governors’ Meeting: AFMGM) ครั้งที่ 9 การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน (ASEAN Finance Ministers’ Meeting: AFMM) ครั้งที่ 27 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (การประชุมฯ) ณ เกาะบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางสาธารณรัฐอินโดนีเซียเป็นประธานร่วมของการประชุม AFMGM ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิดหลัก “อาเซียนสำคัญ: ศูนย์กลาง ของความเติบโต” (ASEAN Matters: Epicentrum of Growth) ซึ่งมีรายละเอียดการประชุมฯ ดังนี้
1. วันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม 2566 มีการประชุมที่สำคัญ ดังนี้
1.1 การประชุมระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AFMM Retreat) โดยมีประเด็นหารือเกี่ยวกับความท้าทายที่สำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงด้านสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะพลังงานและอาหาร
1.2 การเสวนา Ministerial Fireside Chat โดยมี H.E. Sri Mulyani Indrawati รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสาธารณรัฐอินโดนีเซีย H.E. Lawrence Wong รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสาธารณรัฐสิงคโปร์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมเสวนาในหัวข้อ “Financing Transition in ASEAN” เพื่อหารือเกี่ยวกับเกณฑ์การจัดหมวดหมู่ด้านการเงินที่ยั่งยืนของอาเซียน เวอร์ชัน 2 (ASEAN Taxonomy for Sustainable Finance (ATSF) Version 2) ซึ่งจะได้แสดงมุมมองเกี่ยวกับนโยบายด้านการเงินที่ยั่งยืน (Sustainable Finance) และความเชื่อมโยงของนโยบายดังกล่าวกับ ATSF Version 2
2. วันศุกร์ที่ 31 มีนาคม 2566 มีการประชุมที่สำคัญ ดังนี้
2.1 การประชุม AFMM ครั้งที่ 27 จะมีการหารือร่วมกันในประเด็นภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจ และการพัฒนาในภูมิภาค และติดตามความคืบหน้าการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังอาเซียน (ASEAN Finance Deputies’ Meeting: AFDM) ประกอบด้วย ประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ (1) การระดมทุนเพื่อโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Finance) (2) ความร่วมมือด้านการประกันภัย (Cooperation in Insurance Matters) (3) การบริหารความเสี่ยงและการประกันภัยเพื่อรองรับความเสี่ยงจากภัยพิบัติของอาเซียน (ASEAN Disaster Risk Financing and Insurance: ADRFI) (4) ความร่วมมือด้านศุลกากร (Cooperation in Customs) (5) การป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (Anti-Money Laundering and Combating the Financing of Terrorism: AML/CFT) (6) คณะทำงานด้านภาษีอากรของอาเซียน (ASEAN Forum on Taxation: AFT) และ (7) ความคืบหน้าการดำเนินการของหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนอาเซียน (ASEAN Capital Markets Forum: ACMF)
2.2 การประชุมระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน กับสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (ASEAN Finance Ministers and Central Bank Governors Special Session with International Financial Institutions) จะมีการหารือประเด็นสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและภูมิภาคอาเซียน รวมถึงแนวทางการดำเนินนโยบายทางด้านเศรษฐกิจเพื่อให้เศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนฟื้นตัวได้อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และมีภูมิคุ้มกัน โดยมีผู้แทนจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศที่จะเข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย (1) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) (2) สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาค ของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office: AMRO) (3) ธนาคารโลก (World Bank) (4) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) (5) คณะกรรมการดูแลเสถียรภาพทางการเงิน (Financial Stability Board: FSB) และ (6) ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements: BIS)
2.3 การประชุม AFMGM ครั้งที่ 9 ซึ่งจะเป็นการประชุมร่วมกันระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน โดยจะหารือเพิ่มเติมใน 3 ประเด็น ได้แก่ (1) การส่งเสริมการทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินท้องถิ่น และการชำระเงินข้ามพรมแดน (Local Currency Transaction and Cross-border Payment) (2) ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านการเงินการคลังและหน่วยงานด้านสาธารณสุข (Finance and Health Cooperation) และ (3) ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) รวมถึงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับ การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกระบวนการทำงานภายใต้กรอบการประชุม AFMGM เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของอาเซียน พ.ศ. 2568 และติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พ.ศ. 2568 (ASEAN Economic Community (AEC) Blueprint 2025) รวมทั้งความคืบหน้าของความร่วมมือภายใต้กรอบการประชุม AFMGM ซึ่งได้แก่ (1) แผนงานการบูรณาการทางการเงินของอาเซียน (Roadmap for Monetary and Financial Integration of ASEAN : RIA-Fin) รวมถึงประเด็นที่จะให้ที่ประชุมรับรอง และ (2) ความร่วมมือด้านการเงินยั่งยืน ของอาเซียน (ASEAN Sustainable Finance Cooperation)
นอกจากนี้ ในระหว่างวันที่ 29 – 30 มีนาคม 2566 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะหารือทวิภาคี กับ H.E. Sri Mulyani Indrawati รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสาธารณรัฐอินโดนีเซีย H.E. Lawrence Wong รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสาธารณรัฐสิงคโปร์ และหารือทวิภาคีกับองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ ADB รวมทั้งภาคธุรกิจเอกชน เช่น สภาที่ปรึกษาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน สภาที่ปรึกษาธุรกิจ สหภาพยุโรป-อาเซียน เป็นต้น เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับฟังข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านเศรษฐกิจการเงิน การคลังในมุมมองของภาคเอกชน
การประชุมครั้งนี้จะเป็นโอกาสให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียนได้หารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในด้านการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจและการมุ่งไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวของประเทศไทย และสนับสนุนประเด็นผลักดันเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Thrust) ของอินโดนีเซีย ในฐานะประธานการจัดประชุมฯ ในครั้งนี้ ซึ่งมี 3 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านการฟื้นฟูและการสร้างใหม่ (Recovery-Rebuilding) (2) ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) และ (3) ด้านความยั่งยืน (Sustainability) ซึ่งจะช่วยเพิ่มการขับเคลื่อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนตลอดจนการเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว
ข่าวเด่น