เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
SCB EIC คาดว่ามูลค่าส่งออกสินค้าปี 2023 ยังโตได้ 1.2% แม้ส่งออกเดือน ก.พ. ติดลบต่อเนื่อง แต่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว


มูลค่าส่งออกสินค้าไทยเดือน ก.พ. หดตัวต่อเนื่อง 5 เดือนแต่เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัว
 
มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในเดือน ก.พ. 2023 อยู่ที่ 22,376.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐหดตัว -4.7%YOY นับเป็นการหดตัวอย่างต่อเนื่อง 5 เดือน แม้จะหดตัวมากขึ้นจาก -4.5%YOY ในเดือน ม.ค. 2023 อย่างไรก็ดี หากเทียบกับเดือนก่อนหน้าแบบปรับฤดูกาล พบว่า ตัวเลขการส่งออกเดือน ก.พ. ขยายตัวได้ 3.8%MOM_sa ปรับดีขึ้นเทียบกับที่หดตัว -3.0%MOM_sa ในเดือนก่อน นอกจากนี้ หากพิจารณามูลค่าการส่งออกหักทองคำ (ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ได้สะท้อนการค้าระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นจริง) พบว่า การส่งออกหดตัวเพียง -2.5%YOY หดตัวน้อยลงจาก -4.4%YOY ในเดือน ม.ค.  

สินค้าส่งออกกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรกลับมาขยายตัวได้ ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่อง
 
การส่งออกรายกลุ่มสินค้าในเดือน ก.พ. เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัว นำโดย (1) สินค้าเกษตรกลับมาขยายตัวได้ในรอบ 5 เดือนที่ 1.5% โดยสินค้าหลักที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ขยายตัว 95.0% ผลจากการส่งออกไปจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ขยายตัวได้ดีหลังยกเลิกมาตรการควบคุมโควิดและปัจจัยฐานต่ำในปีก่อนหน้า นอกจากนี้ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งขยายตัว 61.6% ต่อเนื่องจาก 50.0% ในเดือนก่อน (2) สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวในรอบ 3 เดือนที่ 5.6% หลังหดตัว -3.3% ในเดือน ม.ค. นำโดยการส่งออกไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ขยายตัว 171.4% ต่อเนื่องจาก 124.0% ในเดือน ม.ค. รวมถึงการส่งออกน้ำตาลทรายที่พลิกกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 3 เดือนที่ 21.4% อย่างไรก็ดี (3) สินค้าอุตสาหกรรมหดตัวตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ที่ -6.2% หดตัวเพิ่มขึ้นจาก -5.4% ในเดือน ม.ค. โดยมีปัจจัยสำคัญจากการส่งออกทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูปที่หดตัว -75.3% หดตัวมากขึ้นจาก -14.8% ในเดือนก่อน รวมถึงเม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์ที่หดตัวมากต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และ 10 ตามลำดับ ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมอื่น เช่น อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยังขยายตัวได้ และ (4) สินค้าแร่และเชื้อเพลิงหดตัว -10.0% หลังจากขยายตัว 6.8% ในเดือนก่อน เนื่องจากการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปกลับมาหดตัว -3.7% หลังขยายตัว 16.2% ในเดือน ม.ค. 
 
 
 
การส่งออกไปสหรัฐฯ และยุโรป 28 ปรับแย่ลงตามภาวะเศรษฐกิจและความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การส่งออกไปจีนหดตัวน้อยลง 
 
 
ภาพรวมตลาดส่งออกของไทยในเดือน ก.พ. มีความแตกต่างกันมาก โดยการส่งออกไปตลาดตะวันตกปรับแย่ลงตามภาวะเศรษฐกิจและความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น แต่การส่งออกไปตลาดจีนและตลาดศักยภาพใหม่ของไทยปรับตัวดีขึ้น โดย (1) ตลาดสหรัฐฯ หดตัว -9.5% เทียบกับ -4.7% ในเดือนก่อน และถือเป็นการหดตัวรุนแรงที่สุดในรอบ 33 เดือน ตามภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงในปีนี้ (2) ตลาดยุโรป (EU28) พลิกกลับมาหดตัว -0.5% หลังจากขยายตัว 2.7% ในเดือนก่อน โดยสวิตเซอร์แลนด์หดตัวรุนแรง -80.7% หลังจากขยายตัว 138.1% ในปี 2022 มีปัจจัยสำคัญจากการหดตัวของอัญมณีและเครื่องประดับ อย่างไรก็ดี (3) การส่งออกไปยังตลาดจีนเริ่มปรับดีขึ้น แม้ยังหดตัว -7.9 แต่หดตัวน้อยลงจาก -20.8% ในเดือนก่อน และหดตัวน้อยสุดในรอบ 8 เดือน สะท้อนว่าอุปสงค์สินค้าจากจีนทยอยฟื้นตัวหลังเปิดประเทศ นอกจากนี้ ตลาดฮ่องกงพลิกกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 10 เดือนอยู่ที่ 28.6% เช่นเดียวกับ (4) ตลาด CLMV ที่หดตัว -4.9% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 แต่หดตัวน้อยลงจาก -11.1% ในเดือนก่อน ขณะที่ (5) ตลาดตะวันออกกลางขยายตัวดีต่อเนื่อง 23.3% ชะลอลงเล็กน้อยจาก 23.6% ในเดือน ม.ค. นำโดยตลาดซาอุดีอาระเบียที่ขยายตัว 56.2% และเป็นตลาดที่ขยายตัวสูงสุดเป็นอันดับที่ 1 ของการส่งออกในเดือน ก.พ.
 
 
ดุลการค้าขาดดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ขณะที่การนำเข้าขยายตัวชะลอลง
 
มูลค่าการนำเข้าของไทยในเดือน ก.พ.อยู่ที่ 23,489.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 1.1% ขยายตัวชะลอลงเทียบกับเดือนก่อนที่ 5.5% อย่างไรก็ดี หากพิจารณามูลค่าการนำเข้าหักทองคำ (ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ได้สะท้อนการค้าระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นจริง) พบว่า ขยายตัว 3.4% สะท้อนให้เห็นอุปสงค์การนำเข้าสินค้าที่ยังพอมีอยู่และยังขยายตัวได้ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ขณะที่มูลค่าการส่งออกหดตัวต่อเนื่องสอดคล้องกับสัญญาณเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้ดุลการค้าในระบบศุลกากรในเดือน ก.พ. ขาดดุล -1,113.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นการขาดดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11  

SCB EIC มองการส่งออกสินค้าในช่วงครึ่งแรกของปียังน่าห่วง แต่น่าจะทยอยฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี
 
การส่งออกสินค้าของไทยคาดว่าจะยังหดตัวในช่วงครึ่งแรกของปี (รูปที่ 1) สะท้อนจาก (1) ดัชนี Flash Manufacturing PMI  ของเศรษฐกิจสำคัญในเดือน มี.ค. ที่หดตัวรุนแรงขึ้น โดยกิจกรรมภาคการผลิตของยูโรโซนและสหราชอาณาจักรหดตัวมากขึ้นแตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือนและ 2 เดือน ตามลำดับ ขณะที่ Manufacturing PMI ของสหรัฐ แม้หดตัวน้อยลงจาก 47.3 ในเดือน ก.พ. มาอยู่ที่ 49.3 ในเดือนนี้ แต่ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัญหาอุปทานคอขวดที่คลี่คลาย ขณะที่ยอดคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกใหม่ (New export order) ยังหดตัวต่อเป็นเดือนที่ 10  (2) การส่งออก 20 วันแรกของเกาหลีใต้ในเดือน มี.ค. หดตัว -17.4% หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ -2.8% สะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์สินค้าที่หดตัวตลอดไตรมาสแรกของปีนี้ (3) เครื่องชี้วัดการค้าระหว่างประเทศ (QuantCube International Trade Index) ในเดือน มี.ค. ยังบ่งชี้ว่าการค้าโลกอ่อนแอลงต่อเนื่อง การค้าระหว่างประเทศของเศรษฐกิจสำคัญ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และอิตาลี อ่อนแอลงตั้งแต่ปลายปีก่อนและยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัว และ (4) ปัจจัยฐานสูงที่จะมีผลไปจนถึงช่วงกลางปีนี้ โดยเฉพาะในเดือน มี.ค. ที่มีปัจจัยฐานสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 
 
 
การส่งออกสินค้าของไทยมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องจับตาเพิ่มเติม ได้แก่ ปัญหาการขาดสภาพคล่องของสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และยุโรปที่หากลุกลามอาจทำให้เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยสูงขึ้น อีกทั้ง ความมั่งคั่งของผู้บริโภค (Wealth Effect) มีแนวโน้มลดลงจากความผันผวนในตลาดการเงินที่มีอยู่สูง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลให้อุปสงค์การนำเข้าสินค้าปรับลดลงตาม
 
 
อย่างไรก็ดี ภาคการส่งออกไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้มีแนวโน้มได้รับอานิสงส์มากขึ้นจากการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนของจีนหลังยกเลิกมาตรการ Zero-COVID ซึ่งน่าจะเริ่มส่งผ่านมายังอุปสงค์การนำเข้าสินค้ามากขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยเครื่องชี้วัดการค้าระหว่างประเทศของจีนที่อยู่ในทิศทางฟื้นตัว แม้ชะลอลงบ้างในช่วงต้นปีผลจากเทศกาลตรุษจีน รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วและเติบโตได้ดีกว่าที่เคยประเมินไว้ช่วงปลายปีก่อน SCB EIC จึงคงประมาณการการเติบโตของมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในปี 2023 ไว้ที่ 1.2% 

รูปที่ 1 : สินค้าส่งออกกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรพลิกกลับมาขยายตัวได้ ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์
 
รูปที่ 2 : การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และยุโรป 28 ปรับแย่ลงตามภาวะเศรษฐกิจและความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การส่งออกไปจีนหดตัวน้อยลง 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์

รูปที่ 3 : การส่งออกทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูปที่หดตัวมีส่วนทำให้การส่งออกรวมเดือนนี้หดตัวมากที่สุด ขณะที่สินค้าส่งออกสำคัญที่สะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ผลไม้ ยังขยายตัว 
 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์

รูปที่ 4 : การส่งออกสินค้าของไทยช่วงครึ่งแรกของปีนี้ยังน่าห่วง แต่คาดว่าจะทยอยฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
 
 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์, ศุลกากรเกาหลีใต้และจีน, JP Morgan, S&P Global, Moody’s และ CEIC
 
บทวิเคราะห์โดย... https://www.scbeic.com/th/detail/product/trade-300323
 
 
ผู้เขียนบทวิเคราะห์
 
 
จงรัก ก้องกำชัย (jongrak.kongkumchai@scb.co.th) นักวิเคราะห์
 
 
ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ (poonyawat.sreesing@scb.co.th) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส

ECONOMIC AND FINANCIAL MARKET RESEARCH
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน
ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์  นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
จงรัก ก้องกำชัย นักวิเคราะห์
ณิชนันท์ โลกวิทูล นักวิเคราะห์
ปัณณ์ พัฒนศิริ นักวิเคราะห์
วิชาญ กุลาตี นักวิเคราะห์
ดร.อสมา เหลี่ยมมุกดา นักวิเคราะห์
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 31 มี.ค. 2566 เวลา : 09:58:56
29-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 29, 2024, 12:51 pm