31 มีนาคม 2566 - ธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานถึงเศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้น ด้านเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะหมวดสินค้าคงทน และภาคการบริการปรับดีขึ้นตามจํานวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ สําหรับการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากรายจ่ายประจําของรัฐบาลกลาง และรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจ
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวว่า ด้านการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหลายหมวด โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูป อาทิ น้ําตาลและน้ํามันปาล์มดิบ ตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้นมากในภาคอุตสาหกรรมจากสภาพอากาศที่เอื้ออํานวย ประกอบกับอุปทานของประเทศผู้ส่งออกหลักลดลง ส่วนการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ก็เพิ่มขึ้นตามรอบการส่งมอบสินค้าของผู้ประกอบการ (แต่ทั้งนี้ บางสินค้านั้นมีการส่งออกลดลง เช่น โลหะและเครื่องใช้ไฟฟ้า)
ด้านการบริโภคภาคเอกชน มีการบริโภคที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดสินค้าคงทนตามยอดจําหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการทยอยส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ตามคําสั่งซื้อในช่วงก่อนหน้า ขณะที่ยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับปัจจัยสนับสนุนกําลังซื้อภาคครัวเรือนที่ทยอยปรับดีขึ้น โดยเฉพาะความเชื่อมั่นผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงยังเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคในภาพรวม
ส่วนภาคการบริการนั้นดีขึ้นตามภาคการท่องเที่ยวที่เติบโต ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีการเข้ามายังไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเดือนกุมภาพันธ์มีนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 2.1ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.1% จากเดือนก่อนหน้า คิดเป็นสัดส่วนจากนักท่องเที่ยวจีนมากที่สุด หลังทางการจีนอนุญาตให้นักท่องเที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์สามารถเดินทางมาไทยได้ และนักท่องเที่ยวอินเดียหลังทางการยกเลิกมาตรการให้ผู้ที่เดินทางจากไทยต้องตรวจ RT-PCR ก่อนกลับเข้าประเทศ ก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญจากที่ลดระดับลงไปเมื่อเดือนมกราคมมี่ผ่านมา และยังมีแนวโน้มที่นักท่องเที่ยวจะเข้าไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากยอดการค้นหาที่พัก สถานที่ท่องเที่ยว และCapacity ในการรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น โดยช่วงครึ่งแรกของเดือนมีนาคม มีนักท่องเที่ยวเข้าไทยเฉลี่ย 76,000 คนต่อวัน จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 73,000 คนต่อวัน
ทางด้านของการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอน มีการขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อน จากรายจ่ายประจําของรัฐบาลกลางและรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจ โดยรายจ่ายประจําขยายตัวตามการจัดสรรงบประมาณให้แก่ หน่วยงานด้านการศึกษาที่เร็วกว่าปกติ และตามการเบิกจ่ายเงินบําเหน็จ บํานาญ และค่ารักษาพยาบาล ของข้าราชการ สําหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวตามการเบิกจ่ายของโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีนเป็นสําคัญ ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางหดตัวหลังจากเร่งเบิกจ่ายไปแล้วในเดือนก่อน
โดยรวมแล้ว ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ มีเสถียรภาพมากขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ลดลงทั้งในหมวดพลังงานและอาหารสด ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานสูงในปีก่อน ประกอบกับราคาผัก และผลไม้ที่ลดลงตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานก็ลดลงจากราคาอาหารสําเร็จรูปที่มีผลของฐานสูงในปีก่อนเป็นสําคัญ ส่วนตลาดแรงงานทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน สะท้อนจากจํานวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่ทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อน การแพร่ระบาดของ COVID-19 สําหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากดุลการค้าเป็นสําคัญ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนเกินดุลเล็กน้อย ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยอ่อนค่าหลัง ตลาดเพิ่มการคาดการณ์ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ เนื่องจากตัวเลขการจ้างงานและอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับสูง
ข่าวเด่น