บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เดินหน้าปลูกป่าใหม่เพิ่มเติม อนุรักษ์และฟื้นฟูผืนป่าต้นน้ำ เพิ่มพื้นที่สีเขียว ในโครงการ” ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” จังหวัดลพบุรี ผนึกพลังกรมป่าไม้ เครือข่ายภาคประชาสังคม และพนักงาน มีส่วนร่วมปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ ดูแลการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน มุ่งสู่การสร้างความมั่นคงทางอาหาร
พนักงานจิตอาสาซีพีเอฟ 250 คน จากสายธุรกิจต่างๆ ร่วมกิจกรรมซ่อมแซมฝายชะลอน้ำ ในพื้นที่โครงการ”ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่เป็นความร่วมมือ 3 ประสาน โดยภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน โดยวันนี้ (31 มีนาคม 2566) เป็นกิจกรรมครั้งแรกของปีนี้ เพื่อซ่อมแซมให้ฝายมีสภาพสมบูรณ์ พร้อมใช้งานในการกักเก็บน้ำและชะลอการไหลของน้ำ เติมความชุ่มชื้นของดินและต้นไม้ โดยมี ดร.รัฐพล ธุระพันธ์ นายอำเภอพัฒนานิคม เป็นประธานเปิดกิจกรรม
นายภาณุวัตร เนียมเปรม ผู้อำนวยการใหญ่ ธุรกิจไก่เนื้อ - เป็ดเนื้อครบวงจร ในฐานะประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์ฯ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟ ดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานความยั่งยืน ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ สร้างความตระหนักสู่พนักงานในองค์กร โดยตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ “ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” ทำให้เพิ่มพื้นที่สีเขียวไปแล้วรวม 7,000 ไร่ และในปี 2564-2568 (ระยะที่สองของโครงการฯ) มีเป้าหมายขยายพื้นที่อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าในพื้นที่โครงการเขาพระยาเดินธงอีก 5,000 ไร่ เป็นต้นน้ำของแหล่งน้ำธรรมชาติ สำหรับทำการเกษตรและการอุปโภคของชุมชน
โดยตลอด 8 ปีที่ผ่านมา โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ สร้างผลกระทบเชิงบวกอย่างต่อเนื่อง ทั้งในมิติเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการจ้างงานชุมชนและกระจายรายได้ ด้านสังคม ช่วยยกระดับคุณภาพความเป็นอยู่ของชุมชน สามารถใช้ประโยชน์จากป่าเป็นแหล่งอาหารให้ชุมชน และด้านสิ่งแวดล้อม ช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าและความหลากหลายของพันธุ์พืช ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย แหล่งน้ำ และอาหารของสัตว์และแมลงต่างๆ ช่วยปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ
“ซีพีเอฟ มุ่งมั่นมีส่วนร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมให้เกิดการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ที่สำคัญ คือ เป็นการสร้างความตระหนักให้พนักงานเห็นความสำคัญของป่าที่มีผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากร ธรรมชาติที่เป็นต้นทางอาหารของมนุษย์และสัตว์” นายภาณุวัตรกล่าว
ด้านนายถนอมพงษ์ สังข์ธูป ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการปลูกป่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 5 (สระบุรี) กรมป่าไม้ ในฐานะหัวหน้าโครงการฟื้นฟูสภาพป่าไม้เขาพระยาเดินธง กล่าวว่า ความร่วมมือ 3 ประสาน ในการดำเนินโครงการ "ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง" เกิดผลสัมฤทธิ์รอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ ทำให้ช่วยกักเก็บน้ำไว้ในฤดูน้ำหลาก น้ำไหลสู่ชุมชนได้ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำ ชาวบ้านได้ใช้น้ำทำการเกษตร รวมทั้งซีพีเอฟยังได้เข้าไปช่วยเหลือชุมชนรอบโครงการ เช่น การจ้างงานชุมชน การส่งเสริมอาชีพให้กับชุมชน ผ่านการดำเนินโครงการปลูกผักวิถีธรรมชาติ และ โครงการการเพาะพันธุ์และอนุบาลปลา ด้านการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เห็นผลสำเร็จชัดเจนในการฟื้นคืนความสมบูรณ์กลับสู่ผืนป่าได้ในระยะเวลาอันสั้น และเป็นโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าที่เข้าร่วมโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme : LESS) ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.เพื่อช่วยกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์
หัวหน้าโครงการฟื้นฟูสภาพป่าไม้เขาพระยาเดินธง กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า นอกจากโครงการฯ จะเกิดประโยชน์กับชุมชนในพื้นที่่แล้ว ซีพีเอฟและกรมป่าไม้ ยังได้ร่วมมือกันเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้ และเปิดโอกาสให้นักเรียนของสถานศึกษารอบโครงการฯ ได้มาเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง กระตุ้นให้เกิดความรักและหวงแหนพื้นที่ป่า ช่วยกันดูแลเพื่อรักษาทรัพยากรป่าไม้ให้คงอยู่ต่อไป./
ข่าวเด่น