เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา โซว จื่อ โจว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ CEO ของ Tiktok ได้เข้ามาให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการพลังงานและการค้าของสภาผู้แทนราษฏร ในการไต่สวนต่อรัฐสภาของสหรัฐ หรือ สภาคองเกรส ครั้งแรก ถึงประเด็นความกังวลในเรื่องของความปลอดภัยด้านของข้อมูลส่วนตัวในแอปพลิเคชัน Tiktok ที่รัฐบาลจีนอาจเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้งานของสหรัฐได้ ซึ่งเป็นภัยความมั่นคงของประเทศ
Tiktok เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เป็นบริษัทลูกของ ByteDance บริษัทเทคโนโลยีระดับยักษ์ใหญ่สัญชาติจีน ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก และก้าวมาเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียดาวรุ่งอันดับ 1 ที่คนทั่วโลกให้การยอมรับอย่างรวดเร็ว โดยข้อมูลจาก Hootsuite รายงานว่า ในปี 2021 มียอดการดาวน์โหลดกว่า 700 ล้านครั้ง ซึ่งสูงที่สุดในบรรดาแอพลิเคชั่นทั้งหมด มียอดผู้ใช้งานในปี 2022 ยอดผู้ใช้อยู่ที่ 1.7 พันล้านคน มากกว่า Instagram (1.25 พันล้านคน) และ Twitter ( 397 ล้านคน) ไปอย่างขาดลอย สอดคล้องกับข้อมูลของ SensorTower ที่รายงานว่า ช่วงไตรมาส 2 ของปี 2022 TikTok ก็ยังครองอันดับ 1 ที่มียอดการดาวน์โหลดมากที่สุดในโลก โดยครองอันดับ1 มาได้ถึง 8ครั้ง จาก 10 ไตรมาสที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2020 ที่ TikTok ได้ถือกำเนิดขึ้น
ซึ่งความมาแรงของ Tiktok ที่เข้ามา Disrupt แพลตฟอร์มออนไลน์อื่นๆที่ส่วนใหญ่เป็นของสหรัฐนั้น ประกอบกับ 2 ประเทศนี้ต่างแย่งชิงความเป็นที่ 1 ของประเทศมหาอำนาจอยู่ตลอดเวลา ที่ผ่านมาเราจึงได้เห็นกันแล้วว่า สหรัฐได้พยายามปิดกั้นแอป Tiktok ออกจากชาวอเมริกันอยู่ตลอด ตั้งแต่ในปี 2563 ที่เป็นยุคของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้มีมาตรการกีดกัดการค้ากับทางจีนอย่าง Tech War ตัดจีนออกจากห่วงโซ่เทคโนโลยีด้วยการจำกัดการค้าขายกับบริษัทชั้นนำของจีนอย่าง Huawei และ TikTok ที่ทำให้หุ้นเทคจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐถูกเทขายจนร่วงลงต่ำสุดในรอบ 13 ปี และพยายามบล็อกผู้ใช้ใหม่ไม่ให้ดาวน์โหลด TikTok รวมถึงกดดันให้ TikTok ขายให้กับบริษัทของทางสหรัฐ อย่างทาง Microsoft หรือ Walmart ที่ติดต่อขอซื้อ แต่ทาง ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok นั้นไม่ยอมขายให้ใครทั้งนั้น แต่เลือกดีลเป็นพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจกับ Oracle บริษัทสัญชาติสหรัฐ ที่ให้บริการเกี่ยวกับ Software Database ซึ่งฐานข้อมูลผู้ใช้ TikTok ชาวอเมริกันจะไม่ได้อยู่ที่ทางจีน แต่ถูกเก็บอยู่ในฐานข้อมูลของ Oracle Server ที่สหรัฐ เป็นการพบกันครึ่งทางของทั้ง 2 ฝ่าย และพอถึงสมัยที่โจ ไบเดน ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ก็ได้ยกเลิกคำสั่งแบน TikTok รวมถึง WeChat และแอพลิเคชันอื่นๆสัญชาติจีนทั้งหมดในสมัยการแบนของทรัมป์ Tiktok จึงมีอิสระในการเข้ามาครองใจชาวอเมริกันกว่า 150 ล้านคนอย่างที่เห็นในปัจจุบันนี้
แต่ถึงอย่างไรแล้วความขัดแย้งของสหรัฐ และจีนก็ทำให้ประเด็นของ Tiktok กลับถูกหยิบยกมาอยู่ตลอด เนื่องจาก 2 ขั้วอำนาจนี้มีการปกครองที่แตกต่างกัน เพราะจีนนั้นปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ สามารถสอดส่องข้อมูลส่วนตัวของชาวจีนผ่านชุดข้อมูล หรือ Data ในโลกออนไลน์ ฉะนั้น บริษัทต่างๆสัญชาติจีน ก็มีแนวโน้มที่จะมอบอำนาจการตรวจสอบให้กับทางรัฐบาล และในช่วงปีที่แล้ว ทั้งโลกก็เห็นแล้วว่ารัฐบาลจีน สามารถควบคุมบริษัทเทคโนโลยีในจีนต่างๆได้ อย่างการออกมาตรการเชิงรุกที่ควบคุมการประกอบการและปราบปรามอุตสาหกรรมที่ผูกขาดเกินไปอย่าง Alibaba ได้ สหรัฐก็มองว่าโอกาสที่จีนจะเข้าควบคุม ByteDance บริษัทแม่ของ Tiktok ก็คงสามารถทำได้เช่นกัน แม้จะเอา Database ของผู้ใช้คนอเมริกันไว้ในฐานข้อมูลที่สหรัฐ แต่บริษัทแม่จากทางจีน ก็อาจจะเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้อยู่ดี
ซึ่งทาง FBI ได้ออกมาแสดงถึงข้อกังวลดังกล่าว เพราะถ้าหากบริษัททางจีนเข้ามาดูข้อมูลได้ รัฐบาลจีนก็เข้ามาดูข้อมูลได้เช่นกัน และการที่พรรครีพับลิกัน และพรรคเดโมแครตที่ปกติเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสนออะไรมา อีกฝ่ายต้องคัดค้านอยู่ร่ำไป แต่เรื่องของ Tiktok ทั้งสองพรรคกลับร่วมมือกันเสนอร่างกฎหมายร่วมเพื่อแบนการใช้งาน Tiktok ในสหรัฐ ถือว่าเป็นการร่วมมือกันครั้งประวัติศาสตร์เลยทีเดียว ประเด็นการแบน Tiktok จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่มาก จนเกิดทั้งการประท้วงต่อต้านการแบน Tiktok ในกลุ่มผู้ใช้งานของอเมริกันบริเวณด้านนอกของอาคารรัฐสภาในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โดยเรียกร้องให้สมาชิกสภาคองเกรสหันมาทำงานในส่วนของการพัฒนากฎหมายความเป็นส่วนตัว แทนที่จะจำกัดการใช้งานแอป และการที่ CEO ของ Tiktok เข้ามาให้ปากคำในสภาคองเกรสเมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา
โดย โซว จื่อ โจว CEO ของ Tiktok ได้ยืนยันจุดยืนว่า Tiktok ไม่ได้อยู่ภายใต้อิทธิพลของรัฐบาลจีน โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ลอสแอนเจลิสและสิงคโปร์ ที่มีพนักงานกว่า 7,000 คนในสหรัฐ และพยายามแก้ไขอย่างจริงจังต่อข้อกังวลของสหรัฐ ด้วยแผนย้ายข้อมูลส่วนตัวของบัญชีผู้ใช้ TikTok ไปจัดเก็บในเซิร์ฟเวอร์ที่อยู่ในสหรัฐผ่านโครงการชื่อ Project Texas ซึ่งเป็นแผนการที่จะอนุญาตให้ Oracle บริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐ เข้าตรวจสอบ Source Code ของ TikTok โดยทำหน้าที่เป็นบุคคลที่สาม
แต่ถึงอย่างไรแล้วคำให้การของโจว ก็ยังไม่ได้ถูกรับฟังจากสมาชิกสภาคองเกรสส่วนใหญ่ และยังไม่มีข้อยุติสำหรับร่างกฎหมายการแบนนี้ เพราะทางรัฐบาลก็ยังมีความกังวลในประเด็นเรื่องของความมั่นคงของชาติ เนื่องด้วยความที่ 2 ประเทศถือว่าอยู่กันคนละขั้วการเมือง และมีประเด็นกระทบกระทั่งกันตลอดเวลา การที่รัฐบาลจีนสามารถปราบปราบบริษัทในจีนได้ ประกอบกับทั้ง Tiktok และ ByteDance ไม่ได้เป็นบริษัทมหาชน นั้นหมายความว่าบริษัทเก็บข้อมูลไว้เป็นความลับ ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ จึงเป็นเหตุผลที่ยิ่งสร้างความกังวลให้กับรัฐบาลสหรัฐ ว่ารัฐบาลจีนอาจเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้งานสหรัฐ ไปใช้ในวัตถุประสงค์ที่ก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบกับสหรัฐได้ TikTok จึงยังไม่หลุดพ้นข้อกล่าวหาว่าอาจเป็นภัยทางความมั่นคงของชาติได้
สุดท้ายประเด็นของ Tiktok กับสหรัฐ ก็ยังคงต้องจับตากันดูต่อไปว่าจุดลงเอยของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ๆในช่วงปีหน้า หรือปี 2567 จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเกิดขึ้น หาก ทั้งสองพรรคยังเดินหน้าในการแบน Tiktok ก็อาจทำให้อนาคตอาจเสียคะแนนเสียงอย่างมหาศาลได้ เพราะจากประชากรทั่วทั้งสหรัฐ 300 ล้านคน ก็เป็นผู้ใช้ Tiktok แล้วกว่า 150 ล้านคน หรือคิดเป็นครึ่งหนึ่งของประเทศเลยทีเดียว แต่ถ้าไม่แบน ก็มีโอกาสที่จะกระทบกับเรื่องความมั่นคงของชาติได้
ข่าวเด่น