ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 70-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 75-85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (3 – 7 เม.ย. 66)
ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบแคบทั้งนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากอุปทานที่ตึงตัว หลังท่อขนส่งน้ำมันดิบ Kirkuk-Ceyhan ซึ่งขนส่งน้ำมันดิบราว 450,000 บาร์เรลต่อวัน จากแหล่งน้ำมันดิบในเขตปกครองตัวเองเคอร์ดิสสถานไปยังท่าเรือ Ceyhan ของตุรกี ถูกระงับการขนส่ง ขณะที่ตลาดจับตาการประชุมย่อยของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบ (OPEC+) ในวันที่ 3 เม.ย. เรื่องแผนกำลังการผลิตน้ำมัน นอกจากนี้ ตลาดได้รับแรงสนับสนุนจากการปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจจีนในปีนี้ โดย Goldman Sachs คาดว่าความต้องใช้น้ำมันโลกจะเติบโตมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงมีแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกในปีนี้ที่ยังคงเผชิญความไม่แน่นอนจากเสถียรภาพในภาคการเงิน
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้
การส่งออกน้ำมันของอิรักจากท่อ Kirkuk-Ceyhan ซึ่งปัจจุบันขนส่งน้ำมันดิบราว 450,000 บาร์เรลต่อวัน จากแหล่งน้ำมัน Kirkuk ในเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานมายังท่าเรือ Ceyhan ยังคงถูกระงับ หลังศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศตัดสินให้ตุรกีจ่ายค่าชดเชยให้กับอิรัก หลังทำผิดข้อตกลงที่เคยทำร่วมกัน ซึ่งปริมาณน้ำมันดิบที่หายไป คิดเป็นราว 10 % ของกำลังการผลิตทั้งหมดของอิรัก และส่งผลให้อุปทานมีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น ทั้งนี้ FGE คาดการเจรจาน่าจะยังไม่สามารถสรุปได้ใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้าและคาดว่าการผลิตน้ำมันดิบของอิรักน่าจะปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4.22 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน เม.ย. นี้
ตลาดจับตาการประชุมย่อยของกลุ่ม OPEC+ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 3 เม.ย. 65 เรื่องการปรับแผนกำลังผลิตเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ การหารือกันระหว่างรัฐมนตรีพลังงานซาอุดิอาระเบียและนายอเล็กซานเดอร์ โนวัค รองนายกรัฐมนตรีของรัสเซีย ได้ข้อสรุปว่าทางกลุ่มจะคงการปรับลดกำลังการผลิตราว 2 ล้านบาร์เรลต่อวันจนถึงสิ้นปี 2566 เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำมัน
Goldman Sachs คาดเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวที่ 6% ในปี 2566 เพิ่มขึ้น 0.5% จากการคาดการณ์ในเดือน ม.ค. 66 และมากกว่าที่ทางการจีนคาดไว้ที่ 5 % เนื่องจากเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นจากการยกเลิกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และกลับมาดำเนินการเปิดประเทศอีกครั้ง ซึ่งคาดจะช่วยสนับสนุนให้ความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนยังมีความเสี่ยงจากความตึงเครียดของสถานการณ์ทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ
ราคาน้ำมันยังคงได้รับแรงกดดันจากความกังวลด้านเศรษฐกิจโลก หลังล่าสุด นางคริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวในการประชุม China Development Forum ว่าเสถียรภาพในระบบการเงินยังคงมีความไม่แน่นอน ในปี 2023 แม้ว่าปัญหาในภาคธนาคารที่เกิดขึ้นจะได้รับการช่วยเหลือโดยภาครัฐบ้างแล้วก็ตาม นอกจากนี้ ผลกระทบจากความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์ที่เกิดจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องจับตามองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดรัสเซียอนุมัติการติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี (Tactical nuclear) เพื่อตอบโต้การส่งมอบอาวุธยูเรเนียมด้อยสมรรถนะให้กับยูเครน
รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ กล่าวว่าการซื้อน้ำมันดิบกลับคืนสำหรับเติมคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ (SPR) จะเริ่มต้นในช่วงปลายปี 2566 แม้ว่าก่อนหน้านี้กระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ จะเคยวางแผนการซื้อน้ำมันดิบคืนเมื่อราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ช่วงราคาระหว่าง 67 – 72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยปัจจุบันสต๊อกน้ำมันดิบ SPR ของสหรัฐฯ ปรับลดลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1983 หลังการระบายน้ำมันจากคลังสำรองที่ระดับ 180 ล้านบาร์เรล ในช่วงปีที่ผ่านมา นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังคงมีแผนการระบายเพิ่มเติมอีก 26 ล้านบาร์เรล ในช่วงเดือน เม.ย-มิ.ย. 66
เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต เดือน มี.ค. 66 และอัตราการว่างงาน ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 3.6 % และตัวเลขทางเศรษฐกิจของยุโรปคือ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต เดือน มี.ค. 66 ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 52.3
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (27 – 31 มี.ค. 66)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 2.86 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 75.67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 1.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 79.77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 77.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากตลาดกังวลอุปทานตึงตัว หลังการส่งออกน้ำมันดิบจากเคอร์ดิสถานราว 450,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นการขนส่งผ่านทางท่อลำเลียงไปทางตอนเหนือของตุรกีถูกระงับ นอกจากนี้ตลาดได้ยังแรงสนับจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด วันที่ 24 มี.ค. 66 ปรับลดลง 7.5 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 473.7 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 0.1 ล้านบาร์เรล เนื่องจากหลายโรงกลั่นกลับมาดำเนินการผลิตเพิ่มขึ้นหลังผ่านช่วงปิดซ่อมบำรุง และปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี
ข่าวเด่น