นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก นายสุวัชร์ ศุภกาญจน์เดชากุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และผู้แทนจากบริษัทรถยนต์ 3 บริษัท (4 ยี่ห้อ) ได้แก่ บริษัท อินช์เคป (ประเทศไทย) จำกัด (Jaguar และ Land Rover) บริษัท ไมซ์สเตอร์ เทคนิค จำกัด (Audi) และบริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (Mercedes Benz) ได้ลงนามบันทึกความตกลง (MOU) “โครงการความร่วมมือการรณรงค์ส่งเสริมและสนับสนุนให้นำรถยนต์เข้าตรวจสอบและแก้ไขถุงลมนิรภัย” เพื่อยกระดับการดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขถุงลมนิรภัยกับรถในกลุ่มที่เข้าข่ายต้องได้รับ การเปลี่ยนถุงลมนิรภัยให้มีความปลอดภัย
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ตามที่มีรายงานปัญหาการทำงานผิดปกติของถุงลมนิรภัยยี่ห้อ ทาคาตะ (Takata) ในรถยนต์ที่ผลิตและจำหน่ายในระหว่างปี พ.ศ. 2541 ถึงปี 2561 ที่เป็นปัญหาในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้ขับรถและผู้โดยสารได้ โดยกรมการขนส่งทางบก และสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ได้ร่วมกันประชาสัมพันธ์และดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ใช้รถของผู้ผลิตและจำหน่าย ในช่วงเวลาดังกล่าวนำรถมาตรวจสอบและแก้ไขถุงลมนิรภัยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2561
โดยเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา กรมการขนส่งทางบก สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และบริษัทรถยนต์ 8 บริษัท ได้จัดทำบันทึกความตกลง (MOU) “โครงการความร่วมมือการรณรงค์ส่งเสริมและสนับสนุนให้นำรถยนต์ เข้าตรวจสอบและแก้ไขถุงลมนิรภัย” เพื่อร่วมกันติดตาม แจ้งเตือน และประชาสัมพันธ์ให้นำรถที่อยู่ในข่ายมาเปลี่ยนถุงลมนิรภัย และได้จัดทำระบบแจ้งเตือนถุงลมนิรภัย ซึ่งระบบจะแจ้งเตือนเมื่อมีการดำเนินการทางทะเบียนและภาษี ทั้งที่สำนักงานขนส่ง ทั่วประเทศและผ่านระบบชำระภาษีรถประจำปีออนไลน์ (DLT E-Service) โดยระบบดังกล่าวเริ่มเปิดใช้งานแล้วตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2566 และภายหลังการเปิดใช้ระบบแจ้งเตือนถุงลมนิรภัยเป็นระยะเวลากว่า 2 เดือน พบว่ามีการแจ้งเตือนไปแล้ว จำนวน 100,853 คัน และแก้ไขถุงลมนิรภัยแล้ว 14,489 คัน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบสถิติการแก้ไขถุงลมนิรภัยเฉลี่ยต่อเดือน เมื่อปี 2565 แล้วพบว่า เพิ่มขึ้นกว่า 60%
เพื่อให้มาตรการในการติดตามรถที่อยู่ในข่ายต้องแก้ไขถุงลมนิรภัยครอบคลุมมากยิ่งขึ้น กรมการขนส่งทางบก สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และบริษัทรถยนต์ 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท อินช์เคป (ประเทศไทย) จำกัด (Jaguar และ Land Rover), บริษัท ไมซ์สเตอร์ เทคนิค จำกัด (Audi) และบริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (Mercedes Benz) ได้ร่วมกันจัดทำบันทึกความตกลง (MOU) “โครงการความร่วมมือการรณรงค์ส่งเสริมและสนับสนุนให้นำรถยนต์เข้าตรวจสอบและแก้ไขถุงลมนิรภัย” เพิ่มเติม เพื่อยกระดับมาตรการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวต่อไปว่า หากประชาชนได้รับการแจ้งเตือนจากเจ้าหน้าที่หรือผ่านระบบชำระภาษีรถ ประจำปีออนไลน์ ให้รีบติดต่อศูนย์บริการรถยนต์ใกล้บ้านท่านและนำรถเข้ารับการแก้ไขถุงลมนิรภัย และขอประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ประชาชนตรวจสอบว่ารถของท่านเข้าข่ายต้องเข้ารับการตรวจสอบและแก้ไขถุงลมนิรภัยหรือไม่ ผ่านช่องทางเว็บไซต์ www.checkairbag.com หากพบว่าเป็นรถที่เข้าข่ายต้องได้รับการตรวจสอบและแก้ไขถุงลมนิรภัย ให้รีบนำรถเข้ามาแก้ไขถุงลมนิรภัย ฟรี...ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น” โดยกรมการขนส่งทางบก สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และบริษัทรถยนต์ มีเป้าหมายที่จะต้องเรียกคืนรถที่เข้าข่าย “ทุกคัน” มาเข้ารับการตรวจสอบและแก้ไข ถุงลมนิรภัยเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดต่อประชาชนผู้ใช้รถทุกคนต่อไป
นายสุวัชร์ ศุภกาญจน์เดชากุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอเชิญชวนประชาชนตรวจสอบว่ารถของท่านเข้าข่ายต้องเข้ารับการตรวจสอบและแก้ไขถุงลมนิรภัยหรือไม่ ผ่านช่องทางต่างๆ ได้แก่
2) Call Center ของแต่ละบริษัท
3) ศูนย์บริการรถยนต์ของแต่ละบริษัท
และเน้นย้ำกับประชาชนที่ได้รับข้อความแจ้งเตือนเมื่อมาดำเนินการทางทะเบียนและภาษีกับกรมการขนส่งทางบก ขอให้ประชาชนให้ข้อมูลชื่อผู้ติดต่อและหมายเลขโทรศัพท์ที่เป็นปัจจุบันและถูกต้อง เพื่อบริษัทรถยนต์จะได้ติดต่อท่านเพื่อ นัดหมายเข้ารับบริการแก้ไขถุงลมนิรภัยโดยเร็ว เพื่อความปลอดภัยของตัวท่าน
กรมการขนส่งทางบก สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย บริษัทรถยนต์ 11 บริษัท และเครือข่าย มีความมุ่งหวัง เป็นอย่างยิ่งว่าการจัดทำบันทึกความตกลงนี้จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยการเรียกรถที่เข้าข่ายทุกคัน เข้ามารับ การตรวจสอบและแก้ไขถุงลมนิรภัย
ข่าวเด่น