· สถานการณ์ไข้หวัดนกในหลายประเทศรอบนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสภาพอากาศที่แปรปรวน ฉุดผลผลิตไก่ในบางประเทศที่พบการระบาดอย่างหนัก อาทิ สหภาพยุโรป สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ให้มีความเสี่ยงจะลดลงมากกว่าปีก่อนๆ อย่างไรก็ตาม ด้วยการฟื้นกำลังผลิตไก่ที่น่าจะใช้เวลาไม่นาน ประกอบกับประเทศผู้ส่งออกหลักอย่างบราซิลไม่พบไข้หวัดนกเช่นเดียวกับไทย ดังนั้น อานิสงส์ต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ของไทยคงมี แต่น่าจะไม่มากท่ามกลางเศรษฐกิจคู่ค้าที่ชะลอตัว โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ของไทยปี 2566 อาจอยู่ที่ 4.18-4.26 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 2.5%-4.5%
· มองไปข้างหน้า แม้คุณภาพผลิตภัณฑ์ไก่ของไทยจะได้รับการยอมรับในด้านมาตรฐานและการตัดแต่ง แต่การแข่งขันด้านราคาในตลาดคู่ค้ามีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้การจัดการต้นทุนตลอดกระบวนการผลิตยังเป็นโจทย์สำคัญของธุรกิจต่อเนื่อง
สถานการณ์ไข้หวัดนกที่ระบาดในหลายพื้นที่ทั่วโลก กระทบการผลิตไก่ในหลายประเทศ ขณะที่ไทยซึ่งไม่พบไข้หวัดนก ทำให้เป็นโอกาสต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ไทยในปี 2566
การระบาดของไข้หวัดนกที่เกิดขึ้นในระยะที่ผ่านมา สามารถพบได้มากในช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคม เนื่องจากเป็นช่วงอพยพของสัตว์ปีกจากซีกโลกเหนือ ซึ่งในแต่ละปีกลุ่มประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกสัตว์ปีกรายสำคัญที่พบกับการระบาด จะมีมาตรการเข้มงวดในการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น อาทิ การกำจัดและระงับการส่งออกชั่วคราว แต่ในปีนี้ด้วยสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน พายุฤดูหนาวที่รุนแรงในทวีปอเมริกา รวมถึงการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกไปในเขตอุตสาหกรรมสัตว์ปีกและฟาร์มเพาะเลี้ยงในแถบทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งในหลายพื้นที่ถูกพบการระบาดเป็นครั้งแรก อาทิ ชิลี อาร์เจนตินา จึงเป็นความเสี่ยงต่อธุรกิจการผลิตไก่ในพื้นที่ดังกล่าวเพิ่มขึ้น จากเดิมที่มักพบได้ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เป็นต้น ขณะที่ไทยในฐานะผู้ผลิตและผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่รายสำคัญของโลก1 ไม่พบไข้หวัดนก แต่ก็มีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ สถานการณ์ไข้หวัดนกในหลายประเทศรอบนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสภาพอากาศที่แปรปรวน ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตไก่ในบางประเทศที่พบการระบาดอย่างหนัก อาทิ สหภาพยุโรป สหรัฐฯ ญี่ปุ่น มีความเสี่ยงจะลดลงมากกว่าปีก่อนๆ โดยผลผลิตในประเทศเหล่านี้อาจทรงตัวถึงลดลง 1.5% จากเดิมที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นราว 1% อย่างไรก็ตาม ด้วยการฟื้นตัวของกำลังการผลิตไก่หลังจัดการปัญหาการระบาดได้แล้วที่น่าจะใช้เวลาไม่นาน ประกอบกับปริมาณผลผลิตไก่ของประเทศผู้ส่งออกหลักอย่างบราซิล ซึ่งยังไม่พบไข้หวัดนกเช่นเดียวกับไทย ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังนั้น ผลผลิตไก่โลกในปี 2566 จึงคาดว่าจะยังเพิ่มขึ้นจากปีก่อน
ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าการส่งออกไก่ของไทยปี 2566 อาจอยู่ที่ 4.18-4.26 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ อาจขยายตัวราว 2.5%-4.5% ชะลอลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนหนึ่งมาจากฐานที่สูง ประกอบกับเศรษฐกิจคู่ค้าหลักอย่าง ญี่ปุ่นและอังกฤษ ซึ่งมีสัดส่วนมูลค่าส่งออกราว 64% ของการส่งออกไก่ทั้งหมดของไทยไปตลาดโลก มีแนวโน้มชะลอตัว และแม้จะมีแรงหนุนจากสถานการณ์การระบาดไข้หวัดนก แต่อัตราการเติบโตของคำสั่งซื้อคงอยู่ในกรอบที่จำกัด อย่างไรก็ดี ด้วยแรงซื้อที่คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นในกลุ่มไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากจีนจากการเปิดประเทศ รวมถึงการเปิดตลาดใหม่ๆ ให้กับสินค้าไก่ไทยผ่านการเจรจาทางการค้าและการให้การรับรองโรงงานในไทย เช่น เกาหลีใต้ ซาอุดีอาระเบีย ตลอดจนความต้องการสินค้าไก่ที่มากขึ้นในกลุ่มประเทศที่ไม่สามารถผลิตสินค้าได้เพียงพอ อาทิ มาเลเซีย เนเธอร์แลนด์ ไอร์แลนด์ ฟิลิปปินส์ อาจผลักดันให้ภาพรวมมูลค่าการส่งออกไก่ไทยในปีนี้ยังเติบโตในแดนบวกได้
ทั้งนี้ ยังมีประเด็นที่ผู้ประกอบการจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะแนวโน้มค่าเงินบาทที่อาจผันผวนในทิศทางแข็งค่า รวมถึงภาวะเงินเฟ้อในตลาดคู่ค้าสำคัญที่ยังอยู่ในระดับสูงซึ่งอาจกระทบต่อคำสั่งซื้อได้
แม้มีโอกาสทางการค้า แต่ความท้าทายของการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ของไทยคือ การแข่งขันด้านราคา ... โจทย์สำคัญจึงอยู่ที่การรักษาคุณภาพและมาตรฐานการผลิต ควบคู่กับการจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
หากวิเคราะห์รายสินค้าจะพบว่า กลุ่มสินค้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง (คิดเป็น 28% ของมูลค่าส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ทั้งหมดของไทยไปตลาดโลก) ไทยค่อนข้างเสียเปรียบการแข่งขันด้านราคา จากต้นทุนการผลิตที่สูง โดยเฉพาะต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ (กากถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) ซึ่งไทยพึ่งพาการนำเข้าเป็นหลัก ท่ามกลางราคาในตลาดโลกที่ผันผวน ส่งผลให้ราคาต่อหน่วยของไก่สดแช่เย็นแช่แข็งของไทยสูงกว่าคู่แข่ง ขณะที่คู่แข่งรายสำคัญอย่าง สหรัฐฯ และบราซิล2 ซึ่งมีจุดแข็งจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ต่ำ ปริมาณผลผลิตและ Economy of scale ที่มากกว่า จึงมีความได้เปรียบด้านราคา โดยเฉพาะในการทำตลาดในจีน ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นคู่ค้ารายสำคัญเดียวกับไทย
ส่วนสินค้าไก่แปรรูป (คิดเป็น 72% ของมูลค่าส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ทั้งหมดของไทยไปตลาดโลก) ไทยยังพอแข่งขันได้ จากจุดเด่นด้านคุณภาพ มาตรฐานสินค้า เทคโนโลยีการแปรรูปและการพัฒนาสินค้าให้ได้ตามออเดอร์ลูกค้า อย่างไรก็ดี จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว อาจทำให้คู่ค้าในหลายประเทศหันมาเปรียบเทียบด้านราคามากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าไก่แปรรูปจากจีน ซึ่งสามารถทำราคาต่อหน่วยได้ต่ำและมีโอกาสจะเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในตลาดที่เป็นคู่ค้าเดียวกับไทย อาทิ ญี่ปุ่น อังกฤษ เกาหลีใต้ ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น
มองไปข้างหน้า ทิศทางการส่งออกไก่ของไทยอาจมีความท้าทาย แม้ว่าในระยะที่ผ่านมา การส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ของไทยที่ขยายตัวได้ดีในตลาดคู่ค้ารายสำคัญ อาทิ ญี่ปุ่น อังกฤษ เกาหลีใต้ และกลุ่มประเทศในอาเซียน (อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์) จะมีปัจจัยสำคัญที่ช่วยสร้างความได้เปรียบและเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขัน ซึ่งมาจากข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) รวมถึงการได้รับรองมาตรฐานการผลิตของโรงงานจากคู่ค้ารายสำคัญ เช่น ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป จีน เกาหลีใต้ และซาอุดีอาระเบีย แต่ด้วยต้นทุนการผลิตไก่ที่สูง โดยเฉพาะต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งต้องพึ่งพาการนำเข้าเป็นหลัก3 ดังนั้น แนวโน้มราคาส่งออกไก่ของไทย จะขึ้นอยู่กับทิศทางราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ในตลาดโลกซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดต่อการเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขันด้านราคา นอกจากนี้ การออกไปขยายฐานการผลิตในต่างประเทศของผู้ประกอบการไทย อาทิ ตุรกี รัสเซีย โปแลนด์ เวียดนาม ฯลฯ เพื่อสร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขันทั้งในเรื่องต้นทุนการผลิตและภาษีนำเข้าที่ต่ำในตลาดคู่ค้า อาจทำให้การส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่จากฐานการผลิตในไทยคงมีข้อจำกัดของการเติบโตในอนาคต
ดังนั้น นอกเหนือจากการที่ภาครัฐที่จะเข้ามาช่วยในเรื่องของการผลักดันให้ประเทศคู่ค้าใหม่เปิดตลาดสินค้าไก่ให้ไทยเพิ่มขึ้น ตลอดจนการเปิดเจรจา FTA ฉบับใหม่กับคู่ค้าที่มีศักยภาพ อาทิ สหภาพยุโรป การรักษาคุณภาพและมาตรฐานการผลิต ตั้งแต่กระบวนการผลิตต้นน้ำไปจนถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในส่วนปลายน้ำ ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นโจทย์สำคัญของธุรกิจส่งออกไก่ของไทย ท่ามกลางการแข่งขันในตลาดคู่ค้าที่มีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้น
อนึ่ง จากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ตลาดโลกในปีนี้ที่มีแนวโน้มย่อตัวลงจากปีก่อน แม้การส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ของไทยจะมีแนวโน้มเติบโต ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ราคาขายปลีกเนื้อไก่ (ไก่สดทั้งตัวรวมเครื่องใน) เฉลี่ยทั้งปี 2566 น่าจะอยู่ที่ 66-68 บาท/กก. ปรับลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2565 ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 70.59 บาท/กก.
ข่าวเด่น