เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Special report : "เศรษฐกิจสร้างสรรค์" กลยุทธ์การพัฒนาประเทศ ที่ไทยกลับมาสานต่ออีกครั้ง


ศิลปะ การเล่าขานเรื่องราวผ่านอารมณ์ ฝีมือ ความคิด ทัศนคติ และตัวตนของผู้สร้างสรรค์งานขึ้นมา ซึ่งสร้างความสุนทรีย์ให้กับผู้พบเห็น ที่สามารถเห็นความงดงาม และตีความออกมาตามแต่ที่บุคคลนั้นๆจะเข้าใจและรู้สึกได้ จึงเป็นเสน่ห์อันทรงพลังที่สามารถจุดประกายแรงบันดาลใจ หล่อหลอมเข้าด้วยกันกับเจตจำนงเฉพาะของแต่ละคน จนก่อร่างขึ้นมาเป็นงานศิลปะอีกชิ้น ที่สามารถส่งต่อสุนทรียภาพ และคุณค่าบางอย่างต่อๆกันไปได้อย่างไม่จบสิ้น

โดยการให้ความสำคัญ หรือให้พื้นที่ที่อนุญาตให้งานศิลปะเหล่านั้นได้เฉิดฉายอย่างอิสระ จึงเป็นคีย์หลักที่ทำให้ความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ ได้ร้อยเรียงผนึกกำลังกันจนกลายเป็นพลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งๆให้ดีขึ้น ซึ่งรวมถึงการพัฒนาประเทศ ที่ประเทศที่เจริญแล้วนั้น ไม่ว่าจะเป็น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อเมริกา หรือในแถบยุโรป ก็ต่างขับเคลื่อนเรื่องของ “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” มาเป็นกลยุทธ์สำคัญในการพัฒนาประเทศ ทั้งการส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industries) การเปิดกว้างพื้นที่ที่เอื้อต่อบรรยากาศสร้างสรรค์ และการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ๆ ที่สามารถพัฒนากลายเป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้น และวิวัฒนาการกลายเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมได้ ซึ่งเราเห็นตัวอย่างที่ผ่านมาแล้ว เช่น ย่านฮาราจูกุในประเทศญี่ปุ่น สถานที่รวมสไตล์แฟชั่นที่มีกลิ่นอายเฉพาะตัวเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งดึงดูดให้ผู้คนที่ชื่นชอบมาเยี่ยมเยือน เข้ามาเสพบรรยากาศ ต่อยอดคุณค่าเหล่านี้ต่อๆกันเองจนกลายเป็นย่านเศรษฐกิจ และกลายมาเป็น 1 ใน Signature ของประเทศญี่ปุ่นในท้ายที่สุด หรือ Soft Power ของธุรกิจความบันเทิงของเกาหลีใต้ ที่ส่งออกเพลง ไอดอล และซีรี่ย์ที่โด่งดังไปทั่วโลก โดยสิ่งที่เกาหลีใต้ได้ส่งออกไปด้วยนั้นมีทั้งการเผยแพร่เรื่องของวิถีชีวิต ค่านิยม และวัฒนธรรมในแง่มุมต่างๆ ซึ่งสร้างอิทธิพลออกไปยังวงกว้าง

กลับมาที่ประเทศไทยของเรา ในช่วงก่อนหน้านี้ งานศิลปะไม่ได้เป็นสิ่งที่ประเทศให้ความสำคัญมากนัก โดยมีปัจจัยหลายๆด้านที่ไม่เอื้ออำนวย ทั้งพื้นที่การจัดแสดง หรือพื้นที่การแสดงความสามารถต่างๆนั้นมีไม่มากพอ ปัญหาเชิงโครงสร้างพื้นฐาน หรือการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก เมื่อไม่มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนางานศิลป์มารองรับ ก็เท่ากับเป็นการปิดกั้นการสร้างสรรค์ ปิดทางไม่ให้โลกภายนอกได้ค้นพบ ทำให้ไม่มีการส่งต่อแรงบันดาลใจ และความสุนทรีย์ทางอารมณ์ก็ได้ขาดหายไปในช่วงใหญ่ บทบาทของประเทศไทยในแง่ของงานศิลป์จึงอยู่ในฟากของการเป็นผู้ได้รับอิทธิพล ไม่ใช่ผู้สร้างอิทธิพลที่ยึดโยงกับการพัฒนาประเทศ 
 


แต่ในตอนนี้ ทั้งฝั่งของกระทรวงวัฒนธรรม และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA : Creative Economy Agency) ได้ให้ความสำคัญและมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เชิงรุกมากยิ่งขึ้น อย่างการตั้งให้ “ถนนเส้นเจริญกรุง” เป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative District) ที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งหากได้มาเยี่ยมเยือนแถวนี้ เช่นในแถวย่านตลาดน้อย  จะสามารถพบงานศิลปะหรืองานจัดแสดงต่างๆเป็นอีเว้นท์ผลัดเปลี่ยนอยู่เสมอ และรวมถึงธุรกิจสร้างสรรค์ต่างๆ ที่มีกลิ่นอายของ Vibes ที่อัดแน่นด้วยจิตวิญญาณและอารมณ์ศิลป์เต็มเปี่ยมอัดแน่นอยู่ตลอดสายของถนนเส้นนี้ ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่ถูกร้อยเรียงถักทอจากการเปิดให้ย่านดังกล่าวมีอิสระและพื้นที่ในการพัฒนางานสร้างสรรค์ จนเกิดเป็นแรงบันดาลใจและที่ส่งต่อคุณค่างานศิลป์ต่อๆกันมา ทำให้เจริญกรุงกลายเป็นศูนย์รวมที่ดึงดูดคนที่ยึดถือคุณค่าและให้ความสำคัญของงานสร้างสรรค์เหมือนๆกัน ได้แวะเวียนมาเสพบรรยากาศงานศิลป์ มาใช้ชีวิต ตามหาแรงบันดาลใจ และจุดประกายงานศิลปะ หรือธุรกิจสร้างสรรค์อื่นๆต่อยอดออกไปอย่างไม่รู้จบ

นอกจากนี้ Soft Power ด้านความบันเทิง 1 ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ในช่วงนี้ก็ได้เห็นพัฒนาการที่มากขึ้นเช่นกัน จากความร่วมมือกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างๆ อย่างการมีพื้นที่ให้คนไทยได้สามารถแสดงออกตัวตน และความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองได้ ทั้งพื้นที่จัดแสดงที่เป็นเวทีสาธารณะในการแสดงความสามารถในสยามสแควร์ ในถนนเยาวราช หรือการพัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิงอย่าง T-Pop ที่ให้ความสำคัญกับเหล่าศิลปินและไอดอลไทยได้มีพื้นที่ในการจัดแสดง และเผยแพร่ตัวตนของตัวเองให้โลกได้รู้จัก ประกอบเข้ากับความก้าวหน้าทางสื่อโซเชี่ยลมีเดีย และลักษณะของการเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการท่องเที่ยวด้วยแล้ว ทำให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ จะเป็นอีก 1 กลยุทธ์สำคัญ ที่จะทำให้ประเทศไทยได้มีโอกาสพัฒนาประเทศ และพลิกบทบาทกลายมาเป็นผู้สร้างอิทธิพล ที่สานต่อการเผยแพร่ความละเมียดละไมของงานศิลป์ออกสู่สายตาชาวโลก ทดแทนเวลาและเติมเต็มศักยภาพที่เสียไปก่อนหน้า
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 เม.ย. 2566 เวลา : 20:15:03
29-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 29, 2024, 12:40 pm