ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 75-85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 80-90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (10 – 14 เม.ย. 66)
ราคาน้ำมันดิบคาดการณ์ว่าทรงตัวในระดับสูง หลังกลุ่มโอเปกและรัสเซียประกาศลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมกว่า 1.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือน พ.ค. 66 เป็นต้นไป ส่งผลให้เกิดความกังวลเรื่องอุปทานตึงตัว รวมถึงปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับลดลง จากปริมาณความต้องการใช้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง และการส่งออกของอิรักที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากสามารถบรรลุข้อตกลงในการกลับมาส่งออกน้ำมันดิบผ่านท่อ Kirkuk-Ceyhan ซึ่งมีกำลังขนส่งน้ำมันดิบทั้งสิ้นราว 450,000 บาร์เรลต่อวัน
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้
อุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับลดลง หลังกลุ่มโอเปก (OPEC) และรัสเซีย มีมติปรับลดกำลังการผลิตลงเพิ่มเติมรวมทั้งสิ้น 1.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในการประชุมวันที่ 2 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยมีผลตั้งแต่เดือน พ.ค. เป็นต้นไปจนทิ้งสิ้นปี นำโดยการปรับลดลงของซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย ที่ราวประเทศละ 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยเพิ่มเติมจากก่อนหน้านี้ที่มีการปรับลดกำลังการผลิต 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ โดยรวมทั้งสิ้นกำลังการผลิตจะปรับลดลงกว่า 3.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นสัดส่วนที่ราว 3.7% ของอุปสงค์น้ำมันดิบของโลก
สถาบันการเงินหลายแห่งปรับมุมมองคาดการณ์ราคาน้ำมันขึ้น หลังการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกและรัสเซีย โดยGoldman Sachs ปรับเพิ่มราคาน้ำมันดิบเบรนท์ขึ้นจากเดิมขึ้นราว 5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล โดยเพิ่มขึ้นมาเฉลี่ยในเดือน ธ.ค. 66 ที่ 95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล ในเดือน เม.ย. 67
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน จากปริมาณความต้องการใช้น้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังโรงกลั่นในสหรัฐฯ เริ่มกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุง รวมถึงการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูง โดย สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มี.ค. ปรับลดลง 3.7 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้
การส่งออกน้ำมันของอิรักจากท่อ Kirkuk-Ceyhan มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังรัฐบาลอิรักและเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันในการกลับมาดำเนินการส่งออกได้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าล่าสุดยังไม่ได้มีการกลับมาดำเนินการส่งออกเนื่องจากตุรกีต้องการเจรจาเงื่อนไขเพิ่มเติม หลังก่อนหน้านี้ ตุรกีได้สั่งปิดการส่งออกท่อดังกล่าวไป โดยทั้งนี้ คาดปริมาณการส่งออกจะเพิ่มขึ้นและกลับมาอยู่ที่ราว 400,000 - 450,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งคิดเป็นประมาณ 10 % ของกำลังการผลิตทั้งหมดของอิรัก
เศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญกับความเสี่ยงจากการชะลอตัวลงและอาจจะส่งผลกระทบต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมัน สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐฯ และจีนที่ปรับตัวลดลงจากระดับ 47.7 และ 51.6 ในเดือน ก.พ. 66 เหลือ 46.3 และ 50 ตามลำดับในเดือน มี.ค. 66
เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคและผู้ผลิตสหรัฐฯ เดือน มี.ค. 66 ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ เดือน มี.ค. 66 และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (3 – 7 เม.ย. 66)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 5.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 80.70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 5.35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 85.12 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 84.36 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังกลุ่ม OPEC และรัสเซียปรับลดกำลังการผลิตลงกว่า 1.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในการประชุมวันที่ 2 เม.ย. ที่ผ่านมา เพิ่มเติมจากก่อนหน้านี้ที่เคยปรับลดกำลังการผลิตลงกว่า 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้การปรับลดกำลังการผลิตมีผลตั้งแต่เดือน พ.ค. 66 เป็นต้นไป นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงสนับสนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงกว่า 3.7 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 2.3 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เริ่มชะลอตัวลง สะท้อนจากตำแหน่งงานว่างที่เปิดรับและดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่ปรับลดลง
ข่าวเด่น