ไอที
Scoop : "ChatGPT" AI อัจฉริยะ ที่สามารถคิดคอนเทนต์แทนเรา เสมือนมีผู้ช่วยอยู่ข้างกาย


เชื่อว่าหลายๆคนคงเห็นพัฒนาการของ AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาให้สามารถคิดได้เอง และตั้งเป้าให้แสดงผลออกมาอย่างชาญฉลาดเหมือนหรือเหนือกว่ามนุษย์ ที่เป้าหมายนี้ดูเหมือนจะเข้าใกล้ความสำเร็จไปเสียทุกทีๆ เพราะปัจจุบัน เทคโนโลยีนับวันยิ่งมีการพัฒนาและมีวิวัฒนาการในอัตราเร่งที่ก้าวเร็วกว่าความสามารถของมนุษย์ 


ถึงแม้ AI ในตอนนี้ที่มีอยู่บนโลก จะเป็น AI ประเภท ANI (Artificial Narrow Intelligence) หรือ AI ที่มีความสามารถเฉพาะทาง เชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่งเพียงเท่านั้น ยังไม่พัฒนาสู่ขั้นของ AGI (Artificial General Intelligence) AI ที่มีความสามารถในการคิดเชิงเหตุผล การคิดซับซ้อน การวางแผนแก้ปัญหา สามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ ทำให้ สามารถพัฒนาตัวเอง ทำทุกอย่างเหมือนที่มนุษย์ทำได้ และขั้นสูงสุดในอุดมคติอย่าง ASI (Artificial Super Intelligence) เป็น AI ที่ฉลาดกว่า มีความสามารถเหนือมนุษย์ แต่ ANI นั้นมีจุดแข็งด้านความสามารถเฉพาะทางในศาสตร์แขนงต่างๆอย่างลึกซึ้ง โดยมี Big Data หรือแหล่งข้อมูลปริมาณมหาศาลที่ถูกป้อนเข้าไป ที่เหนือกว่าการจดจำของสมองมนุษย์ ทำให้ AI มีการประมวลผลได้ดีกว่าแถมยังไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ซึ่งเราได้เห็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงไปแล้วกับโปรแกรม Midjourney AI ที่สามารถวาดรูปตามคำบอกของเราด้วยการพิมพ์แค่คีย์เวิร์ดว่าอยากจะได้รูปภาพแบบไหนเท่านั้น โดยใช้เวลาเพียงแค่ 2 นาที ซึ่งถือว่าวาดเสร็จและแสดงผลออกมาในระยะเวลาที่รวดเร็วเกินขีดจำกัดของมนุษย์ หรือจะเป็น QuillBot โปรแกรม AI ที่ช่วยเรื่องงาน Writing ประโยคภาษาอังกฤษให้มีความเป็นธรรมชาติเหมือนกับเจ้าของภาษาที่แก้งานเขียนในระยะเวลาอันรวดเร็ว ซึ่ง AI สองตัวนี้เป็นเครื่องชี้ชัดถึงความสามารถเฉพาะทางของแต่ละ AI ว่ามันสามารถเป็นเครื่องทุ่นแรงและช่วยเหลือการทำงานของมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก

และล่าสุด ChatGPT ในตอนนี้ก็ได้เป็นที่พูดถึงในวงกว้าง เพราะโปรแกรมนี้เปรียบเสมือนมีเลขาที่ฉลาดและมีความรอบรู้อย่างมากอยู่ข้างตัว หากมีข้อสงสัยอะไรสามารถพิมพ์ถามโปรแกรมได้เลย โดยรูปแบบของ ChatGPT จะอยู่ในลักษณะของ Chatbot หรือการแชตกันผ่านข้อความเหมือนที่เราคุยกับเพื่อน คุยกับครอบครัวในไลน์ แต่ข้อแตกต่างคือเราคุยกับ AI ที่สามารถตอบคำถาม หรือคิดงานคิดคอนเทนต์ต่างๆให้เราในระยะเวลาอันรวดเร็ว และสามารถทักไปหาช่วงเวลาไหน หรือถี่แค่ไหนก็ได้โดยที่อีกฝั่งไม่รู้สึกรำคาญ โดยเหตุที่ ChatGPT สามารถทำแบบนี้ได้ เป็นเพราะ ChatGPT เป็น AI ที่ถูกสร้างขึ้นมาให้ประมวลผลภาษาธรรมชาติ หรือ Natural language processing (NLP) ซึ่งจัดเป็นวิทยาการหมวดหมู่หนึ่งของ AI ที่จะทำให้ AI ประเภทนี้สามารถเข้าใจ ตีความ และสามารถสื่อสารกับมนุษย์ได้อย่างธรรมชาติ โดยการที่สามารถประมวลผลตีความได้นั้น เท่ากับว่าตัวของ AI ก็จะมีคลังของข้อมูลจำนวนมหาศาล (Big Data) จึงไม่แปลกที่ ChatGPT จะสามารถตอบข้อสงสัย หรือสามารถคิดคอนเทนต์ออกมาได้อย่างครอบคลุมหลากหลายหมวดหมู่ เช่น สอบถามเส้นทางการเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่ง สูตรอาหาร สมการเลข การเขียนโปรแกรม ความรู้รอบตัวทั่วไป หรือการคิดงาน คิดคอนเทนต์ ก็สามารถตอบได้หมด
 
 
วิธีใช้งาน ChatGPT

 
สำหรับการใช้งาน ChatGPT นั้นสามารถทำได้ง่ายๆ โดยให้เข้าไปยังเว็บไซต์ https://chat.openai.com/auth/login  และทำการ Log in เข้าสู่ระบบ แต่ถ้าหากยังไม่เคยมีบัญชีมาก่อน ก็ให้ทำการ Sign up โดยใช้อีเมลในการสมัคร



เมื่อทำการเข้าสู่ระบบเรียบร้อยแล้ว  หน้าต่างของเว็บไซต์จะขึ้นมาดังรูปด้านบน  โดยจะมีแถบให้พิมพ์ข้อความด้านล่างสำหรับการสื่อสารกับ AI ที่เราสามารถพิมพ์ถามคำถามได้อย่างเสรี 

 



ตัวอย่างคำถาม ที่ให้ ChatGPT ช่วยคิดคอนเทนต์ลง Tiktok เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเมืองเก่าในกรุงเทพ โดยเราสามารถดีไซน์คำถามได้ตามใจชอบได้เลย

 
ตัวอย่างการสอบถามการเดินทางจากเซ็นทรัลปิ่นเกล้าไปสยามพารากอน ด้วยรถขนส่งสาธารณะ

 
 
ตัวอย่างการขอคำแนะนำเรื่องของความสัมพันธ์ เสมือนเป็นเพื่อนที่ปรึกษาปัญหาหัวใจ 

จากตัวอย่างทั้งหมดจะเห็นได้ว่า เราสามารถสอบถามข้อสงสัยได้หลากหลายหมวดหมู่  ChatGPT จึงเป็น AI ที่ช่วยทุ่นแรงในการทำงาน และช่วยอำนวยความสะดวกด้านข้อมูลได้อย่างมากเลยทีเดียว โดยปัจจุบันนี้ ChatGPT ได้เปิดให้บริการ 2 รูปแบบด้วยกัน คือ แบบฟรี ที่จะมากับข้อจำกัดที่อาจจะไม่สามารถใช้บริการได้ในช่วงเวลาที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก และความไม่เสถียรของระบบในบางช่วงเวลา กับแบบบัญชี CharGPT Plus ที่จะเสียค่าบริการ 20 ดอลลาร์สหรัฐ/เดือน โดยจะสามารถใช้งานได้ทุกช่วงเวลาแม้จะมีผู้ใช้จำนวนมาก ประมวลผลอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ข้อมูลมีความแม่นยำมากกว่า และสามารถเข้าถึงฟีเจอร์ใหม่ๆได้เร็วกว่าบัญชีแบบธรรมดา 


 

 


LastUpdate 16/04/2566 22:14:26 โดย : Admin
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 9:44 am