การตลาด
Special Report : "Product Life Cycle" วัฏจักรสินค้าในตลาด ที่คนทำธุรกิจ จำเป็นต้องรู้


เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นวัฏจักรชีวิตที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคนบนโลก ไม่มีใครสามารถฝ่าฝืนกฏของธรรมชาติไปได้ รวมถึงสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตอื่นๆก็เช่นกัน ที่แต่ละสิ่งย่อมมีการเติบโต การเสื่อมถอย การดับไป และแทนที่เข้ามาด้วยสิ่งทดแทนใหม่ๆตามกาลเวลา ซึ่งในโลกของธุรกิจก็มีอายุขัยเช่นเดียวกัน เราจึงได้เห็นการเกิดขึ้นของผลิตภัณฑ์และบริการอะไรบางอย่าง ที่มีช่วงของการเริ่มต้นทำธุรกิจ การเติบโตที่มีคนซื้อสินค้าหรือใช้บริการมากๆขึ้น และการเสื่อมถอยของสินค้านั้นๆ เนื่องจากไม่สามารถต่อสู้กับคู่แข่งรายใหม่ในตลาดที่มีการพัฒนาสินค้าได้ตรงใจกับผู้บริโภคมากกว่าได้ ซึ่งวงจรที่เกิดขึ้นในโลกธุรกิจมีชื่อเรียกว่า “Product Life Cycle” หรือวัฏจักรสินค้า โดยสามารถแบ่งออกเป็น 4 ช่วงเวลาด้วยกัน ได้แก่ ช่วงเริ่มต้น, ช่วงเติบโต, ช่วงเติบโตเต็มที่ และช่วงถดถอย

1.ช่วงเริ่มต้น (Introduction)
 
ในช่วงเริ่มต้น คือช่วงการเกิดขึ้นของการทำธุรกิจ ที่เราเริ่มผลิตสินค้าหรือเปิดให้บริการกับผู้บริโภค โดยช่วงนี้สินค้าหรือบริการของเราจะยังไม่ได้เป็นที่รู้จักในตลาดมากนัก และยอดขายยังอยู่ในระดับต่ำอยู่ ช่วงนี้ธุรกิจจึงจำเป็นต้องมีการลงทุนทำการตลาดค่อนข้างมาก เพื่อแนะนำผลิตภัณฑ์หรือการบริการให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และเพื่อผลักดันให้สินค้าของเราติดตลาด เป็นที่จดจำของลูกค้าให้ได้ เพราะไม่เช่นนั้นเราจะไม่สามารถแข่งขันกับธุรกิจที่ผุดขึ้นมามากมายที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นพร้อมๆกัน และต้องปิดตัวตั้งแต่เริ่มไปในที่สุดเสมือนเรือล่มปากอ่าว การทำการตลาดหลากหลายช่องทางที่สามารถสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าจึงเป็นเหมือนกับกฎข้อบังคับสำหรับทุกธุรกิจ โดยจะทำการตลาดในรูปแบบไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายว่าเขาเป็นใคร มีพฤติกรรมการรับสารแบบไหน สมมติว่าเราเริ่มเปิดร้านยำขึ้นมาในสไตล์การตกแต่งแบบคาเฟ่ เพื่อจับลูกค้าในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ก็อาจจะต้องทำการสื่อสารผ่านแพลตฟอร์ม Tiktok ด้วยการจ้าง Influencers เกี่ยวกับเรื่องอาหาร ที่คนช่วงวัยรุ่นติดตามเขาอยู่บน Tiktok รวมถึงยิง Ads บนแพลตฟอร์ม Instagram เพื่อเพิ่มการมองเห็นเป็นต้น ส่วนเรื่องของกำไรแน่นอนว่าจะยังมีการขาดทุนอยู่ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติสำหรับช่วงนี้

2.ช่วงเติบโต (Growth)
 
หากธุรกิจเข้าสู่ช่วงของการเติบโตได้แล้ว เท่ากับว่าสินค้าและบริการของเราติดตลาดเป็นที่เรียบร้อย และกำลังเป็นกระแสที่จะดึงดูดลูกค้ารายใหม่ๆเข้ามาด้วย สิ่งสำคัญสำหรับช่วงนี้คือพยายามหล่อเลี้ยงให้กระแสหรือการเติบโตที่เกิดขึ้นนั้นคงอยู่ให้ดี อย่าให้ดับไปก่อน ทั้งการพยายามรักษามาตรฐานสินค้าและการบริการ เพราะ ณ เวลานี้ที่โลกของเราเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์อย่างไร้รอยต่อ หากสินค้าของเรามีคุณภาพไม่คงที่ เช่น อาหารในร้านสกปรก มีลูกค้ามารับประทานแล้วท้องเสีย การที่พนักงาน Service ลูกค้าแย่ ไปจนถึงเรื่องของการเมืองที่เป็นประเด็นอ่อนไหว อย่างเจ้าของธุรกิจสินค้านี้สนับสนุนแนวคิดตรงข้ามกับกระแสหลักของสังคม หรือจะเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ขัดกับหลักจริยธรรมของสังคม ก็จะทำให้ธุรกิจของเราล่มลงกลางคันได้เช่นกัน ประกอบกับช่วงเติบโตนี้ จะทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น โดยจะมีธุรกิจผู้เล่นรายใหม่ๆ เมื่อเห็นธุรกิจเราประสบความสำเร็จ ก็จะเริ่มเดินกำลังผลิตสินค้าและบริการในแบบใกล้เคียงกัน เพื่อหวังแข่งขันและช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาด จึงควรมีการพัฒนาสินค้าอยู่ตลอดเวลา การทำการตลาดเพิ่มเติม หรือจะเป็นเรื่องของการอำนวยความสะดวกให้กลุ่มลูกค้ามีทัศนคติและความชื่นชอบสินค้าของเรามากขึ้น เพื่อนำไปสู่ยอดขายและกำไร และการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดของเราเอาไว้ เช่น การขยายช่องทางการจัดจำหน่าย การลดค่าจัดส่ง เป็นต้น

3.ช่วงเติบโตเต็มที่ (Maturity)
 
ช่วงเติบโตเต็มที่ เป็นช่วงที่สินค้าของเราเดินทางมาถึงจุดอิ่มตัว ยอดขายและกำไรจะมีการเติบโตอย่างคงที่ จากนั้นก็จะค่อยๆเริ่มเติบโตในลักษณะชะลอตัว ผิดกับช่วงเติบโตที่ยอดขายและกำไรนั้นพุ่งกระฉูดตามกระแสที่มีทั้งลูกค้าขาประจำและขาจรเข้ามา และสุดท้ายสินค้าของเรานั้นก็เริ่มจะมียอดขายลดลงไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่มีสินค้าและบริการใหม่ๆได้เกิดขึ้นมา กำลังเป็นกระแสในตลาดที่ดูมีเค้าลางว่ากำลังเข้ามาแทนที่สินค้าของเรา สิ่งที่ควรทำเมื่อธุรกิจเดินทางมาถึงช่วงนี้ คือการมุ่งพัฒนาสินค้าที่ดูมีอะไรใหม่ๆเพิ่มเข้ามา เพื่อจุดความสนใจกับลูกค้า ทั้งการเปลี่ยนรูปลักษณ์สินค้า เช่น การออกแบบดีไซน์ของบรรจุภัณฑ์ใหม่ การเปลี่ยนรูปแบบของตัวขนมเพื่อให้เข้ากับเทศกาลในปัจจุบันเพื่อสร้างความแปลกใหม่ หรือจะเป็นการนำนวัตกรรมใหม่เข้ามาพัฒนาสินค้าหรือการบริการให้ดียิ่งขึ้น ไปจนถึงการเจาะตลาดใหม่ๆ เพื่อเพิ่มยอดขาย เป็นต้น

4.ช่วงถดถอย (Decline)
 
หากธุรกิจของเราอยู่ในช่วงถดถอยแล้ว ยอดขายของสินค้าจะลดลงอย่างมาก และเข้าสู่ช่วงของการขาดทุนแล้ว เนื่องจากสินค้าและบริการของเราไม่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าอีกต่อไป โดยที่อาจจะเป็นเรื่องของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปโดยที่เราไม่ได้ปรับตัวตามได้ทัน หรือธุรกิจได้ศูนย์เสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับธุรกิจรายใหม่ไปเรียบร้อยแล้ว ฉะนั้นสิ่งที่ธุรกิจทำได้ในช่วงนี้นั้น คือการพยายามระบายสินค้าให้หมด เพื่อไม่ให้เป็นทุนจมเอาไว้ โดยคำแนะนำคือ ควรเล่นกับโปรโมชั่นเรื่องของการลดราคา หรือการแถมสินค้ากับสินค้าที่ยังติดอยู่ในตลาด เป็นต้น 

วัฏจักรสินค้าใน 4 ช่วงเวลานี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกๆสินค้าและบริการ เพียงแต่ในแต่ละสินค้ามีอายุขัยไม่เท่ากันก็แค่นั้น บางสินค้าอาจมีอายุสั้น เป็นกระแสได้เพียงแค่ช่วงเวลาสั้นๆ สุดท้ายก็หายออกไปจากตลาด บางสินค้าก็สามารถถือครองส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นระยะเวลานานหลายช่วงอายุคน ซึ่งอายุขัยของสินค้านั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเราได้มีการรักษาสุขภาพของธุรกิจได้ดีแค่ไหน หากคนที่ทำธุรกิจสามารถเข้าใจ Product Life Cycle และสามารถออกแบบกลยุทธ์ได้อย่างตรงจุดตามแต่ละช่วงเวลาของสินค้า ก็จะสามารถชะลอวัย และดำเนินธุรกิจได้อย่างคุ้มทุน คุ้มกำไรเต็มศักยภาพเท่าที่สินค้าและบริการนั้นๆจะดำเนินไปถึงได้
 

LastUpdate 16/04/2566 22:24:04 โดย : Admin
29-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 29, 2024, 11:31 am