เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ "เงินบาทอ่อนค่าเล็กน้อย แต่ฟื้นตัวบางส่วนก่อนเข้าสู่ช่วงวันหยุด ขณะที่ตลาดหุ้นไทยขยับขึ้นจากสัปดาห์ก่อน"


· เงินบาทอ่อนค่าท่ามกลางการคาดการณ์ถึงโอกาสการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในเดือนพ.ค. แต่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนตามแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ก่อนการรายงานข้อมูล CPI ของสหรัฐฯ และก่อนวันหยุดยาวช่วงสงกรานต์

· SET Index ดีดตัวขึ้นช่วงต้นสัปดาห์ ก่อนจะลดช่วงบวกลงช่วงกลางสัปดาห์ เนื่องจากนักลงทุนชะลอการลงทุนก่อนวันหยุดยาวของตลาดในประเทศ

 
 
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาทเผชิญแรงขายช่วงแรก แต่ลดช่วงอ่อนค่าบางส่วนกลางสัปดาห์ ก่อนเข้าสู่ช่วงวันหยุดยาวของตลาดในประเทศเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ เงินบาทอ่อนค่าลงท่ามกลางแรงหนุนของเงินดอลลาร์ฯ ในช่วงต้นสัปดาห์จากโอกาสในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในการประชุม FOMC เดือนพ.ค. หลังข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังมีสัญญาณดีต่อเนื่อง นอกจากนี้การอ่อนค่าลงของเงินเยนและเงินหยวนก็กดดันทิศทางสกุลเงินเอเชียในภาพรวมด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี เงินบาทฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนในช่วงกลางสัปดาห์ตามราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงกดดันจากการขายเพื่อปรับโพสิชันก่อนการรายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ

ในวันพุธที่ 12 เม.ย. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.25 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 34.07 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (7 เม.ย.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 10-12 เม.ย. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทยเล็กน้อยที่ 420 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตร 3,468 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 3,229 ล้านบาท ขณะที่มีตราสารหนี้หมดอายุ 239 ล้านบาท)

สัปดาห์ถัดไป (17-21 เม.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.00-34.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติและสกุลเงินเอเชีย ผลการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลียและธนาคารกลางอินโดนีเซีย และการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR ของจีน ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและสาขาฟิลาเดลเฟีย ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนเม.ย. ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและยอดขายบ้านมือสองเดือนมี.ค. นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามอัตราเงินเฟ้อเดือนมี.ค.ของยูโรโซนและอังกฤษ ข้อมูล PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนเม.ย. ของประเทศเศรษฐกิจหลัก รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจจีน อาทิ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2566 การผลิตภาคอุตสาหกรรม และยอดค้าปลีกเดือนมี.ค.

 
 
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

หุ้นไทยปรับขึ้นจากสัปดาห์ก่อน แต่เผชิญแรงขายลดเสี่ยงก่อนหยุดยาว ทั้งนี้หุ้นไทยดีดตัวขึ้นช่วงต้นสัปดาห์ โดยมีแรงซื้อคืนหุ้นบิ๊กแคปในหลายอุตสาหกรรมหลังหุ้นไทยร่วงลงแรงก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะกลุ่มแบงก์ที่มีแรงซื้อเข้ามาก่อนการประกาศงบไตรมาส 1/66 และก่อนขึ้นเครื่องหมาย XD (ผู้ซื้อหลักทรัพย์ไม่ได้รับสิทธิปันผล) ส่วนหุ้นกลุ่มพลังงานยังมีแรงหนุนจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวขึ้น อย่างไรก็ดี หุ้นไทยลดช่วงบวกลงช่วงกลางสัปดาห์ก่อนเข้าสู่ช่วงวันหยุดยาวของตลาดในประเทศ ขณะที่ปริมาณซื้อขายค่อนข้างเบาบาง อนึ่ง กลุ่มนักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิหุ้นไทยอีกครั้งหลังขายสุทธิติดต่อกันมาหลายสัปดาห์

ในวันพุธ (12 เม.ย.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,592.67 จุด เพิ่มขึ้น 0.99% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 39,071.41 ล้านบาท ลดลง 8.81% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 3.71% มาปิดที่ระดับ 545.22 จุด

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (17-21 เม.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,575 และ 1,550 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,600 และ 1,630 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และผลประกอบการงวดไตรมาส 1/66 ของบจ.ไทย โดยเฉพาะกลุ่มแบงก์ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองเดือนมี.ค. ดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนเม.ย. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมี.ค. ของยูโรโซนและญี่ปุ่น ดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนเม.ย. ของญี่ปุ่นและยูโรโซน ตลอดจนตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/66 และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนมี.ค. ของจีน อาทิ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และยอดค้าปลีก

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 เม.ย. 2566 เวลา : 12:19:40
29-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 29, 2024, 10:54 am