บมจ.คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ (“QTC”) ประกาศขยายตลาดหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ (BIO Transformer Oil) หลังผนึก 2 บริษัทชั้นนำ “บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน)” พัฒนาน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพรายแรกของไทย เล็งเริ่มผลิตและจำหน่ายได้ภายในพฤษภาคมนี้ หวังเจาะกลุ่มลูกค้าภาครัฐ-ภาคเอกชน ที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมปูทางจำหน่ายตลาดต่างประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ตอกย้ำผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพรายแรกของไทย ที่ดำเนินการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้สำเร็จ
นายพูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ “QTC” ผู้ผลิตและจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้าตามคำสั่งซื้อของลูกค้า (Made to Order) และ ตัวแทนจำหน่าย แผงโซลาร์เซลล์ ของ Longi และ inverter ของ Huawei เปิดเผยว่า ภายหลังจากบริษัทฯ ได้ร่วมมือกับบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) เพื่อศึกษาพัฒนาและผลิตน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ (BIO Transformer Oil) รายแรกของประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมสำหรับการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ โดยคาดว่าจะเริ่มผลิตและจำหน่ายภาย ในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ QTC เป็นผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพรายแรกของไทย ที่ดำเนินการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้สำเร็จ โดยตั้งเป้าหมายในการจำหน่ายให้กับกลุ่มลูกค้าที่มีความสนใจหม้อแปลงไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งภาครัฐ - ภาคเอกชน รวมไปถึงจำหน่ายไปยังกลุ่มลูกค้าต่างประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เป็นต้น
“ความร่วมในโครงการพัฒนาน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ (BIO Transformer Oil) ในครั้งนี้ เชื่อว่าเป็นการต่อยอดธุรกิจภายใต้การเป็น Strategic Partner ร่วมกันของ 3 องค์กรมาช่วยผลักดันในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดย QTC เป็นผู้นำด้านการผลิตจำหน่ายและให้บริการเทคโนโลยีครบวงจรในธุรกิจพลังงานไฟฟ้าที่มีคุณภาพระดับโลก ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และเป็นตัวแทนจำหน่าย แผงโซลาร์เซลล์ ของ Longi และinverter ของ Huawei ขณะที่ บมจ.บีบีจีไอ (BBGI) ผู้นำธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ประเภทผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงชีวภาพ ได้แก่ เอทานอล ไบโอดีเซล และธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูง และ บมจ.เอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) ผู้นำด้านการผลิตเคมีภัณฑ์แบบครบวงจรในอาเซียน”
อีกทั้งยังเป็นโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ของภาครัฐ และมาตรการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากปาล์มน้ำมันของคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติที่ต้องการกระตุ้นปริมาณความต้องการใช้น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพในประเทศไทย ทำให้ความต้องการในการใช้น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และการผลิตน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพในเชิงอุตสาหกรรมเป็นครั้งแรกในประเทศไทย จะช่วยลดต้นทุนการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าของผู้ประกอบการจากการนำเข้าจากต่างประเทศได้ และจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับพืชผลทางการเกษตรของประเทศ ตลอดจนเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชน ควบคู่ไปกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ดังนั้นภายหลังจากการทดสอบใช้งานน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพที่ผลิตช่วงเบื้องต้นที่ผ่านมา พบว่ามีคุณสมบัติเทียบเคียงผู้ผลิตในตลาดจากต่างประเทศ และยังมีความได้เปรียบในด้านค่าความหนืดที่ใกล้เคียงกับน้ำมัน Mineral Oil ซึ่งสามารถนำมาใช้ทดแทน Mineral Oil ได้ทันที โดยที่ไม่จำเป็นต้องออกแบบหม้อแปลงไฟฟ้าให้มีคุณลักษณะที่เปลี่ยนไปจากมาตรฐานเดิม ส่งผลให้บริษัทฯ เดินหน้าตอกย้ำความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ (BIO Transformer Oil) มีคุณสมบัติที่ทนแรงดันไฟฟ้าได้สูง (Dielectric Breakdown Voltage) จุดวาบไฟ (Flash Point) จุดติดไฟ (Fire Point) มีค่าสูงทำให้มีความปลอดภัยอีกทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดรับกับนโยบายการขับเคลื่อนเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2035 (ปีพ.ศ. 2578)
ข่าวเด่น