นางสาวอาชินี ปัทมะสุคนธ์ ผู้ช่วยเลขาธิการสายสื่อสารองค์กรและเครือข่ายตลาดทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
หลังจาก ก.ล.ต. ได้เปิดให้ผู้ที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ Sandbox เพื่อเริ่มทดสอบระบบ Web Portal สำหรับตราสารหนี้ กับผู้ใช้งานจริงได้ในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และคาดว่าจะมีหุ้นกู้รุ่นแรกออกเสนอขายผ่านระบบ ได้ในเร็วๆ นี้ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของตลาดทุนไทยที่จะมีระบบโครงสร้างพื้นฐานกลาง (Digital Infrastructure หรือ DIF) ที่รองรับการออก digital bond สำหรับผู้ออกหลักทรัพย์ทุกราย โดยบทความนี้ ผู้เขียนจะขอเล่าถึงความเป็นมาและสาเหตุของการพัฒนาระบบดังกล่าว รวมถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต
ทำไมต้องมีระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (Digital Infrastructure)
ด้วย ก.ล.ต. เล็งเห็นประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพของตลาดทุนไทยให้มีความแข็งแกร่งและเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้ริเริ่มโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลตั้งแต่ปลายปี 2562 และได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) โดยที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วน ประกอบไปด้วย บริษัท ซีเอ็มดีเอฟ โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล จำกัด ที่เป็นผู้พัฒนา และให้บริการระบบ (main operator)* กลุ่มบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจตัวกลางทั้งธนาคารพาณิชย์และบริษัทหลักทรัพย์ ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ในการจัดทำ workshop เพื่อร่วมกันออกแบบทั้งในด้าน requirement ของระบบ ด้านเทคโนโลยีในการพัฒนาและการเชื่อมต่อกับผู้ร่วมตลาด และด้านการปรับปรุงประเด็นที่เกี่ยวข้องในด้านกฎหมายและกฎเกณฑ์
การร่วมมือดังกล่าวข้างต้นเพื่อมุ่งหวังให้ระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเข้ามาช่วยปรับปรุงกระบวนการต่าง ๆ ในตลาดทุนเป็น end-to-end process ในรูปแบบดิจิทัล 100 % เพื่อให้การทำธุรกรรมในตลาดทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยให้ทั้งฝั่งผู้ระดมทุนและผู้ลงทุนเข้าถึงตลาดทุนได้ง่ายและสะดวกขึ้น อีกทั้ง ยังช่วยลดต้นทุนในการดำเนินการ ลดความผิดพลาดที่เกิดจากการทำงานแบบ manual และการใช้เอกสารหลักฐานที่เป็นกระดาษ รวมถึงช่วยให้หน่วยงานกำกับดูแลสามารถติดตามสถานการณ์ที่มีนัยสำคัญ และให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที ตลอดจนมีข้อมูลที่เพียงพอในการกำหนดนโยบายของตลาดทุนต่อไป
ระบบ DIF : Web Portal คืออะไร
ในระยะแรกนั้น จะเริ่มจากการพัฒนาระบบ DIF : Web Portal ที่เปรียบเสมือนประตูที่จะนำไปสู่ถนนกลางของระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของตลาดทุนไทย ซึ่งระบบดังกล่าวจะรองรับกระบวนการทำงานในกิจกรรม ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมตราสารหนี้ในตลาดแรกได้ทั้งหมด ตั้งแต่การยื่นขออนุมัติเพื่อออกเสนอขาย ตราสารหนี้ไปจนถึงการนำส่งรายงานภายหลังการเสนอขายเสร็จสิ้น โดยขณะนี้ระบบ DIF : Web Portal ใกล้ที่จะพร้อมให้บริการกับผู้ใช้งานจริงแล้ว ก.ล.ต. จึงได้เปิดให้ผู้ออกหลักทรัพย์ ผู้ประกอบธุรกิจตัวกลาง และหน่วยงาน เกี่ยวข้องที่สนใจเข้าร่วมโครงการและมีความพร้อม ตลอดจน main operator ยื่นคำขอเพื่อเริ่มทดสอบการใช้งานระบบภายใต้โครงการ Sandbox ไปเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา และคาดว่าจะพร้อมเปิดการทดสอบ (go-live) แก่ผู้ใช้งานในช่วงปลายเดือนเมษายน โดยจะมีสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ที่ได้รับมอบหมายจาก main operator ให้เข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้บริหารจัดการและให้บริการในการทำธุรกรรม (business operator) แก่ผู้ใช้งานบนระบบต่อไป
ระบบ DIF : Web Portal บทบาทการรองรับธุรกรรมในตลาดแรก
สำหรับธุรกรรมตราสารหนี้ในตลาดแรกที่จะสามารถดำเนินการผ่านระบบ Web Portal ได้ มีดังนี้
1. การออกและเสนอขายตราสารหนี้ (Bond filing) : ผู้ที่ประสงค์จะออกและเสนอขายตราสารหนี้ (issuer) ต้องยื่นข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อขออนุมัติจาก ก.ล.ต. ผ่านระบบ
2. การขึ้นทะเบียนกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA Bond Registration) : เมื่อตราสารหนี้ได้รับอนุมัติจาก ก.ล.ต. แล้ว ระบบจะนำส่งข้อมูลให้ ThaiBMA โดยอัตโนมัติเพื่อดำเนินการขึ้นทะเบียนและออก Bond Symbol
3. การรับจองซื้อหลักทรัพย์ (Subscription) : ระบบจะช่วยรวบรวมข้อมูลของผู้ลงทุนที่จองซื้อกับ ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์แต่ละรายเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีข้อมูลที่ถูกต้อง ตรงกัน และเป็นปัจจุบัน
4. การจัดทำทะเบียนหลักทรัพย์ (Bond Registration) : ระบบจะช่วยรวบรวมข้อมูลการจัดสรร ตราสารหนี้ของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์เพื่อนำส่งให้นายทะเบียนจัดทำทะเบียนผู้ถือตราสารหนี้
5. การฝากตราสารหนี้แบบไร้ใบ (Scripless Crediting) : ระบบจะนำส่งข้อมูลตราสารหนี้หลังจากที่ได้ทำทะเบียนแล้วผ่านระบบศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (Depository) เพื่อนำฝากตราสารหนี้แบบไร้ใบ (scripless) เข้าสู่บัญชีหลักทรัพย์ของผู้ลงทุน
6. การรายงานภายหลังการขาย (Post sales report) : ระบบจะดำเนินการ auto-generate รายงานผลการขายเมื่อกระบวนการข้างต้นทั้งหมดเสร็จสิ้น และนำส่งข้อมูลดังกล่าวต่อ ก.ล.ต. โดยอัตโนมัติ
ระบบ DIF : Web Portal ดีอย่างไร
· ผู้ออกหลักทรัพย์ (issuers)
การยื่นออกเสนอขายต่อ ก.ล.ต. ผ่านระบบ Web Portal ข้อมูลจะอยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็น file format มาตรฐานเดียวกันทั้งอุตสาหกรรม โดยสามารถนำไปประมวลผลแบบ machine readable ต่อได้ อย่างรวดเร็ว พร้อมประยุกต์ใช้วิธีการลงนามแบบ e-signature ที่จะทำให้กระบวนการโดยรวมเป็นดิจิทัล 100% รวมทั้งลดการทำงานแบบ manual และช่วยทำให้การออกขายหุ้นกู้ทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
· ผู้ประกอบธุรกิจตัวกลาง (intermediaries)
ระบบ DIF : Web Portal จะเปิดให้ผู้ประกอบธุรกิจตัวกลางทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมตราสารหนี้ เช่น ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ นายทะเบียน หรือผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ เป็นต้น ได้เข้ามาดำเนินการ ที่เกี่ยวข้องผ่านระบบอย่างเป็นมาตรฐานด้วยชุดข้อมูลเดียวกัน (single source) โดยข้อมูลการทำธุรกรรม จะถูกบันทึกและส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมตราสารหนี้ในตลาดแรกโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยลดความผิดพลาดและระยะเวลาการทำงานของผู้ประกอบธุรกิจตัวกลาง ทั้งยังมั่นใจได้ว่าข้อมูลที่ใช้มีความครบถ้วน ถูกต้องแม่นยำ
· ผู้ลงทุน
ได้รับหุ้นกู้แบบไร้ใบหลักทรัพย์ (scripless) ภายใน 2 วันทำการ นับจากวันที่ออกหลักทรัพย์ (issue date) ซึ่งรวดเร็วและมีความพร้อมต่อการซื้อขายในตลาดรองได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับการออกใบหลักทรัพย์ ที่เป็นกระดาษ (scrip) ที่ใช้เวลาถึง 14 วัน
· หน่วยงานกำกับดูแล
กระบวนการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติการออกและเสนอขายตราสารหนี้จะอยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ตลอดสาย ตั้งแต่การรับเข้าข้อมูลที่จะเป็นไฟล์ดิจิทัลทั้งหมดโดยที่ไม่มีกระดาษ (paperless) ไปจนถึงการแจ้งสถานะการพิจารณาต่อผู้ออกหลักทรัพย์ก็จะดำเนินการผ่านระบบ Web Portal ด้วยเช่นกัน จึงทำให้ผู้ออกหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจตัวกลางสามารถดำเนินการขั้นถัดไปได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยให้ลดระยะของกระบวนการออกเสนอขายโดยรวมได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ในระยะยาว ยังช่วยให้หน่วยงานกำกับดูแลมีข้อมูลประกอบการพิจารณาอย่างเพียงพอในการกำหนดนโยบายที่เหมาะสมต่อการพัฒนาธุรกิจตลาดทุนต่อไปในอนาคต
ขอบเขตของการทดสอบระบบ DIF : Web Portal
การทดสอบภายใต้โครงการ Sandbox ในครั้งนี้ จำกัดขอบเขตการออกและเสนอขายไว้เฉพาะตราสารหนี้ภาคเอกชนประเภทหุ้นกู้หรือพันธบัตร (plain vanilla bond) ระยะยาวที่ออกใหม่โดยกิจการไทย กิจการต่างประเทศ หรือหน่วยงานภาครัฐไทยในสกุลเงินบาทหรือสกุลเงินต่างประเทศ 6 สกุลเงิน (EUR, GBP, HKD, JPY, THB และ USD) และรองรับการออกเสนอขายเฉพาะต่อบุคคลในวงจำกัด (private placement) ได้แก่ ผู้ลงทุนสถาบัน (II) ผู้ลงทุนรายใหญ่ (HNW) และผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (UHNW) เท่านั้น ก่อนที่จะขยาย scope ในระยะถัดไป เมื่อมีการพัฒนาระบบส่วนขยายเพิ่มเติม
DIF bond แตกต่างจากหุ้นกู้ทั่วไปอย่างไร
หุ้นกู้ DIF bond มีสิทธิทางกฎหมายเหมือนกับหุ้นกู้ทั่วไปทุกประการ เช่น การได้รับดอกเบี้ย การซื้อขาย เปลี่ยนมือ หรือการนำไปเป็นหลักประกัน เป็นต้น โดยเมื่อภายหลังจากที่ผู้ลงทุนได้รับหุ้นกู้ DIF Bond ที่เป็น scripless แล้ว หากมีความจำเป็นต้องถอนหุ้นกู้ดังกล่าวเป็นใบหุ้นกู้ หรือหากมีการเปิดบัญชีหลักทรัพย์ภายหลังและต้องการโอนหุ้นกู้ไปเก็บไว้ในบัญชีส่วนตัวก็สามารถดำเนินการได้ตามเดิม
เริ่มลงทุนใน DIF Bond ต้องทำอย่างไร
ในการจองซื้อหุ้นกู้ DIF-bond ภายใต้โครงการ Sandbox ผู้ลงทุนจะได้รับหุ้นกู้แบบ scripless โดยสามารถดำเนินการได้ ดังนี้
1. ฝากเข้าพอร์ต: ผู้ลงทุนจะต้องมีบัญชีหลักทรัพย์เพื่อรองรับการลงทุนในหุ้นกู้แบบ scripless โดยสามารถเปิดบัญชีดังกล่าวกับบริษัทหลักทรัพย์ที่ให้บริการได้ ซึ่งจะทำให้การส่งมอบหลักทรัพย์และการนำไปซื้อขายในตลาดรองทำได้สะดวก รวดเร็ว
2. เก็บในบัญชี 605: หากผู้ลงทุนไม่มีบัญชีหลักทรัพย์ของตนเองก็สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ (Underwriter) ถึงการฝากในบัญชี 605 ซึ่งคือบัญชีที่บริษัท ผู้ออกหลักทรัพย์ (Issuer Account) เปิดไว้กับบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (TSD) เพื่ออำนวยความสะดวกในการเก็บรักษาหุ้นกู้ให้กับผู้ลงทุนที่ยังไม่มีบัญชีหลักทรัพย์ สามารถนำหลักทรัพย์มาฝากไว้ในบัญชีนี้ได้
สำหรับการทดสอบระบบ Web Portal กับผู้ใช้งานจริงภายใต้โครงการ Sandbox ที่จะเริ่มในช่วงปลายเดือนเมษายน 2566 คาดว่าจะมีหุ้นกู้รุ่นแรกออกเสนอขายในเร็ว ๆ นี้ ซึ่ง ก.ล.ต. จะติดตามการทดสอบและนำมาเล่าความคืบหน้าผ่านช่องทางของ ก.ล.ต. เป็นระยะในโอกาสถัดไป
หมายเหตุ
* ผู้พัฒนาและให้บริการระบบ (main operator) ประกอบด้วย ความร่วมมือจากสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย สมาคมธนาคารไทย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ข่าวเด่น