ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดคงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดีในครึ่งปีหลัง 5.7% ปรับตัวดีกว่าการเติบโตช่วงครึ่งปีแรกที่ 2.9 คิดเป็นทั้งปี GDP จะเติบโต 3.4% โดยมีปัจจัยหนุนจากรัฐบาลใหม่ออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ชัดเจนขึ้น
ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า “ปีนี้เศรษฐกิจโลกยังคงมีความผันผวนอยู่ในช่วงไตรมาสที่ 2 ถึงไตรมาสที่ 3 อย่างในฟากของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed ที่คาดว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในระดับ 25 bps เนื่องจากเงินเฟ้อยังสูงกว่ากรอบที่วางเอาไว้ รวมถึงอัตราการจ้างงานในสหรัฐที่ยังคงแข็งแรง ทำให้เราคิดว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเผชิญความไม่แน่นอนในไตรมาสที่ 2 อย่างไรก็ตาม เรายังมองว่าในครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ดี ทั้งนี้เราปรับลดประมาณการการเติบโตเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ซึ่งสะท้อนตามตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญที่ต่ำกว่าคาด ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงไม่สดใส และโอกาสที่จะมีความล่าช้าในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากมีการเลือกตั้ง”
โดยธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะเติบโตร้อยละ 4.3 (เดิมคาดเติบโตร้อยละ 4.5) แบ่งออกเป็นครึ่งปีแรก มีการเติบโตที่ร้อยละ 2.9 และครึ่งปีหลังจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากกว่าเดิม และมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งไม่ว่าพรรคไหนจะได้ขึ้นเป็นรัฐบาลก็ตาม ทางธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดมองว่า รัฐบาลใหม่จะเริ่มทำงานได้อย่างเต็มที่และออกมาตรการกระตุ้นการบริโภค ประกอบกับการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้นของภาคการท่องเที่ยวจากอานิสงส์ของการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ที่มีแนวโน้มจะเข้ามามากกว่าเดิมในช่วงปลายปี
“เราปรับคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2566 ขึ้นเป็น 25 ล้านคน จากที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ 15-20 ล้านคน อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวยังต่ำกว่าปี 2562 ซึ่งมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยือน 40 ล้านคน ทั้งนี้ เราคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากจีนประมาณ 5 ล้านคนในปีนี้ (เทียบกับ 11 ล้านคนในปี 2562) โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่น่าจะหนาแน่นขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป” ดร.ทิม กล่าว
ในส่วนของภาวะเงินเฟ้อ เรายังคงมีมุมมองว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังคงเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี สอดคล้องกับคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ เรามองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปน่าจะอยู่ในระดับต่ำที่สุดที่ร้อยละ 1.2 ในไตรมาสที่ 3 และปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 1.6 ในไตรมาสที่ 4 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของปี 2566 คาดจะอยู่ที่ร้อยละ 2.1 (เดิมคาดไว้ที่ร้อยละ 2.7)
ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของปีนี้คาดว่าอยู่ที่ ร้อยละ 1.7 โดยจะปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป เนื่องจากประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเศรษฐกิจขยายตัว โดยคาดว่าเงินเฟ้อและการบริโภคจะเพิ่มขึ้นจากนโยบายทางเศรษฐกิจและนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายจากรัฐบาลใหม่ ในส่วนของปัจจัยด้านอุปทาน ราคาพลังงานและราคาอาหารที่ยังคงอยู่ในระดับสูงอาจสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ ซึ่งสนับสนุนมุมมองของเราที่มองว่าเงินเฟ้อจะกลับมาเพิ่มขึ้น
ทางด้านมุมมองการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทย ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 0.25% ในการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้ โดยดอกเบี้ยนโยบายน่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2 ในสิ้นปีนี้ แม้ว่ายังมีความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลก แต่ดัชนีเศรษฐกิจที่เข้มแข็งของไทยประกอบกับมุมมองภาพรวมเศรษฐกิจเชิงบวกของธปท. เราจึงมองว่า ธปท. น่าจะยังดำเนินนโยบายการเงินเพื่อกลับสู่ภาวะปกติเพื่อเพิ่มพื้นที่นโยบาย
และเรื่องของค่าเงินบาท ภาพรวมในระยะกลางยังคงมีความผันผวนในช่วง 3-6 เดือนนี้ แต่เนื่องด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐช่วงปลายปี ประกอบกับราคาน้ำมันที่ลดลง และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว น่าจะเป็นผลดีต่อบัญชีทุนและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น จากช่วงระดับกลางปีที่ 34.5 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
“เรามองว่าตอนนี้การเมืองที่มีเสถียรภาพยิ่งขึ้น กล่าวคือ พรรคที่ได้จัดตั้งรัฐบาลน่าจะประกอบไปด้วยพรรคไซต์ใหญ่เพียงไม่กี่พรรค ซึ่งมีความเป็นเอกภาพมากกว่าช่วง 4 ปีที่แล้ว โดยช่วงไตรมาส 2 น่าจะมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองเพิ่มขึ้น ทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าจะผ่านไปได้ด้วยดี เราคาดว่ารัฐบาลใหม่จะใช้เวลาอย่างน้อย 2 เดือนในการตั้งรัฐบาลและเลือกนายกรัฐมนตรี โดยคณะรัฐบาลน่าจะพร้อมทำงานอย่างเร็วที่สุดในเดือนกรกฎาคม ซึ่งไม่ว่าพรรคไหนจะได้เป็นแกนนำก็ตาม แต่การเลือกตั้งรอบนี้น่าจะนำมาซึ่งเสถียรภาพทางการเงินของประเทศไทยกลับมา” ดร.ทิม กล่าวสรุป
ข่าวเด่น