แบงก์-นอนแบงก์
กสิกรไทย จัดงานสัมมนา EARTH JUMP 2023 ชวนธุรกิจก้าวกระโดดสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ชี้ธุรกิจมีโอกาสโตกว่า 12 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ใครขยับก่อนได้เปรียบ


กสิกรไทย จัดงานสัมมนา EARTH JUMP 2023 ชวนธุรกิจก้าวกระโดดสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ชี้ธุรกิจมีโอกาสโตกว่า 12 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ใครขยับก่อนได้เปรียบ

เปิดฉากแล้วสำหรับงานสัมมนา “EARTH JUMP 2023 : New Frontier of Growth” จากธนาคารกสิกรไทยที่รวมสุดยอดผู้บริหารชั้นนำระดับโลกกว่า 30 รายมาร่วมแสดงวิสัยทัศน์และแบ่งปันประสบการณ์ ชี้ให้เห็นโอกาสในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจเพื่อก้าวกระโดดสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมี 11 กลุ่มธุรกิจที่มีโอกาสสร้างรายได้กว่า 12 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ต่อปี ภายในปี 2030 งานนี้ได้รับความสนใจจากนักธุรกิจเข้าร่วมงานอย่างล้นหลามกว่า 2,000 คน

งานสัมมนาเริ่มจากปาฐกถาพิเศษโดย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้พูดถึงปัญหาของ Climate Change เป็นภัยคุกคามสำคัญทางเศรษฐกิจของโลกในระยะยาว ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงมากขึ้นทั่วโลก ประเทศไทยมีความเสี่ยงลำดับที่ 9 ของโลกที่เกิดภัยพิบัติธรรมชาติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทำให้เกิดความสูญเสียและได้รับความเสียหาย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้ยกระดับการทำงานและขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สำคัญ ทบทวนแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกรายสาขาที่สอดคล้องกับเป้าหมาย NDC (ปี 2030) ในภาคพลังงานและขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม ภาคของเสีย และภาคเกษตร พัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิตทั้งในและต่างประเทศ การเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน นอกจากนี้กระทรวงอยู่ระหว่างผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการยกระดับจาก Voluntary เป็น Mandatory เพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดราคาคาร์บอน และกลไกตลาดคาร์บอนเครดิต และเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทย ที่จะไปสู่ Net Zero GHG เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดวิธีทำ ทุกอย่างเป็นจริงได้

ต่อด้วย ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันโลกเรามีปัญหาที่ท้าทายและอาจฉุดรั้งการพัฒนาในอนาคต แต่ก็เป็นความท้าทายที่เปิดโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ ธุรกิจที่สามารถปรับตามแนวทางแห่งความยั่งยืนได้ก็จะเพิ่มโอกาสและรายได้ ใครทำได้ก่อนก็รับโอกาสก่อน สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์จะช่วยในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้ เราเล็งเห็นความสำคัญในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติที่สนใจการลงทุน ESG ซึ่งกำลังเติบโตอย่างมาก จึงได้เร่งพัฒนา ESG Data Platform เพื่อรวมศูนย์ข้อมูล สร้างความโปร่งใสและสร้างมาตรฐาน ESG ในการดำเนินกิจการ และเพิ่มโอกาสในการระดมทุนของบริษัทจดทะเบียนไทยที่ดำเนินการด้าน ESG ได้อย่างดี เราทำงานใกล้ชิดกับบริษัทจดทะเบียนรวมถึงสถาบันที่เป็นตัวกลางในการยกระดับความรู้และคุณภาพการดำเนินกิจการ ซึ่งรวมไปถึงคู่ค้าในห่วงโซ่คุณค่า เพื่อให้เท่าทันการแข่งขัน ในวันนี้ Sustainability ถือเป็น “License to Grow” หรือใบอนุญาตสำคัญให้ธุรกิจมีสิทธิเติบโตในระยะยาวอย่างแท้จริง เพราะเป็นการเติบโตที่ทุกคนต้องการและมีคุณภาพมากกว่าเดิม ควบคู่ไปกับสิ่งแวดล้อม และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เหลือเพียงทุกภาคส่วนหันหน้ามาผนึกกำลัง ลงมือทำเพื่ออนาคตของลูกหลานไทย

จากนั้น นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ความยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะความยั่งยืนไม่ได้แค่เปลี่ยน Mindset ในการทำธุรกิจ แต่เปลี่ยนวิถีชีวิตของพวกเราทุกคน ความยั่งยืนเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจที่เร่งปรับตัว จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปยอมจ่ายเพื่อสินค้ารักษ์โลก และจากรายงานของ McKinsey พบว่ามีกลุ่มธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน จำนวน 11 กลุ่ม เช่น ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจเกษตร และธุรกิจน้ำมันและก๊าซ สามารถสร้างรายได้รวมกันมากกว่า 12 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ต่อปี ภายในปี 2030 เพื่อเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจของทั้งโลกไปสู่ Net Zero ส่วนคนที่คิดว่ายังอีกไกลก็อาจจะเจอความเสี่ยงจากมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมต่อการค้าระหว่างประเทศที่เข้มงวดมากขึ้น เช่น CBAM ของสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะกลายเป็นข้อจำกัดในการแข่งขันทางธุรกิจ

นางสาวขัตติยา กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาธุรกิจให้เติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างยั่งยืนนั้นยังต้องการการสนับสนุนอีกมาก โดยเฉพาะเรื่องเงินลงทุนจำนวนมหาศาลทั้งจากนักลงทุนทั่วไป Venture Capital ธนาคารและสถาบันการเงิน ที่ในอนาคตจะเข้ามามีส่วนช่วยเหลือให้ธุรกิจสีเขียวเหล่านี้เติบโตได้เต็มศักยภาพ ทั้งนี้การแก้ปัญหาเรื่องความยั่งยืนไม่ใช่งานของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นความร่วมมือกันทั้งภาครัฐ หน่วยงานกำกับดูแล นักลงทุน ภาคธุรกิจ ผู้บริโภค และสถาบันการเงิน ทุกฝ่ายล้วนมีส่วนสำคัญในการช่วยให้โลกใบนี้เปลี่ยนผ่านไปได้ การจัดงานในวันนี้จึงอยากเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนมาร่วมกันลงมือทำอย่างจริงจัง หากเราทำสำเร็จเราจะพบดินแดนใหม่ที่สดใสอย่างแน่นอน

จากนั้น นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในช่วงบ่ายว่า ทางธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นเล็งเห็นความสำคัญในเรื่องของความยั่งยืน ที่ถือได้ว่าเป็นความท้าทายของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว เพราะไทยติดอันดับ 9 ของประเทศที่ได้รับผลกระทบสูงสุดจาก Climate Change  30% ของ GDP ภาคอุตสาหกรรมไทยอยู่ในโลกเก่า ซึ่งใน 13% นี้อาจได้รับผลกระทบจาก CBAM อีกด้วย หากภาคธุรกิจยังไม่มีการพัฒนาให้ธุรกิจนั้นเป็นมิตรกับโลก หรือการนำแนวคิดของความยั่งยืนไปใช้ดำเนินการ เศรษฐกิจไทยอาจก้าวตามไม่ทันกับโลกในอนาคต ฉะนั้น บทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย จะคอยผลักดันและสนับสนุนการเงินเพื่อความยั่งยืน เอื้อให้ธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจรายเล็กให้สามารถออกผลิตภัณฑ์และบริการที่เชื่อมโยงกับเรื่องดังกล่าวผ่าน  Building Blocks ซึ่งประกอบไปด้วยการกำหนดนโยบาย 1.Standard Practice 2.ร่วมจัดทำ Taxonomy 3.การพัฒนาฐานข้อมูลและวางแนวทางการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม 4.สร้างแรงจูงใจที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการปรับตัวสู่ความยั่งยืน และ 5.พัฒนาองค์ความรู้ให้กับภาคการเงินและภาคธุรกิจให้สามารถปรับตัวได้

และสุดท้าย กับการเสวนาหัวข้อ Bridging Pathway to Sustainable Economy ในประเด็นที่ภาคส่วนต่างๆได้มีการทำงานร่วมกันนั้น มีความท้าทายอะไรบ้างที่จะนำเศรษฐกิจไทยไปสู่ Sustainable Economy โดย ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า องค์กรจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงก่อน ซึ่งต้องมีการปรับ Mindset ตั้งแต่ผู้บริหาร ให้เป็นแบบอย่างและสร้างความเชื่อมั่นให้กับบุคลากร และพัฒนาการปฏิบัติงานให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง รวดเร็ว มีความโปร่งใส โดยจะมุ่งเน้นในประเด็นของ Climate Change และ Biodiversity เป็นสำคัญ

ด้านขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ก็ได้มีการตั้งเป้าหมายที่จะเป็น Carbon Neutral ภายในปี 2050 และมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรื่อนกระจก 10% ในทุกๆปี อีกทังยังมีการพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิต ให้มีผลบังคับใช้ที่ชัดเจน มีการซื้อขายได้ผ่านศูนย์ Exchange

ส่วนทางนายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้มีการปรับยุทธศาสตร์เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านในอนาคต อย่างที่ทางกฟผ. จะมุ่งสู่การเป็น Carbon Neutrality ภายในปี 2050 ด้วยหลัก Tripple S ได้แก่ 1. Source Transformation การจัดการตั้งแต่ต้นกำเนิด 2. Sink Co-creation การดูดซับกักเก็บคาร์บอน และ 3. Support Measures Mechanism สนับสนุนโครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

และทางภาคเอกชนอย่างนางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ. ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น ได้กล่าวว่า ทาง WHA ได้เข้าสู่การเป็น Carbon Neutrality มาตั้งแต่ปี 2021 และจะตั้งเป้าหมายให้กลายเป็น Tech Company ในปี 2024 โดยใช้เรื่องของ Sustainable development ในทุกภาคส่วน

ส่วนของนายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ บมจ. ธนาคารกสิกรไทย ได้กล่าวว่า จากปัญหาไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ได้สร้างความเสียหายให้กับ 3% ของ GDP โลก ซึ่งในปัญหาโลกในปัจจุบัน ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย โลกจะร้อนขึ้น 3.2 องศาเซลเซียส สร้างความเสียหายถึง 8% ของ GDP โลก กสิกรไทยจึงตั้งเป้าหมายว่าจะร่วมกับทุกภาคส่วนที่จะสร้าง Infrastructure ที่แข็งแรงไปด้วยกัน ด้วยการให้บริการทางการเงินกับบริษัทที่ดำเนินงานที่มีความยั่งยืนทั้งสิ้น 200,000 ล้านบาทภายในปี 2030 เพื้อเกื้อหนุนและกระตุ้นให้การดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อมสามารถทำได้จริง เปรียบเสมือนการเป็นแบตเตอรี่ให้กับยานยนต์ที่ร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เคลื่อนที่พัฒนาเต็มประสิทธิภาพไปด้วยกัน สามารถส่งเสริมธุรกิจในไทยให้กลายเป็น Low Carbon Economy ได้ทั้ง Supply Chain

นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดกิจกรรม JUMP Startup Clinic เพื่อให้คำปรึกษาแก่สตาร์ทอัพที่มองหาโอกาสในการพัฒนาธุรกิจ โดยมีธุรกิจสตาร์ทอัพเข้ารับคำปรึกษาในงานกว่า 100 ราย และมีนักธุรกิจเข้าร่วมงานสัมมนา “EARTH JUMP 2023 : New Frontier of Growth” ตลอดทั้งวัน จำนวนกว่า 2,000 คน ธนาคารกสิกรไทยหวังว่างานนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นให้ธุรกิจไทยเดินหน้าคว้าโอกาสก้าวกระโดดเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

 


LastUpdate 24/04/2566 23:22:57 โดย : sakidlo
12-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 12, 2025, 11:12 am