นางปณียา นิธิวรรณากุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายตราสารหนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
การระดมทุนผ่าน “ตราสารหนี้ในกลุ่มความยั่งยืน” ได้แก่ ตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Bond) ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond) และตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) ซึ่งรวมเรียกว่า GSS Bond ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมี ผู้ประเมินภายนอกที่เป็นอิสระ (External Review Provider) เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน และสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ลงทุน รวมถึงการลดความเสี่ยงจาก greenwashing หรือ “การฟอกเขียว” กรณีที่มีโครงการหรือกิจกรรมใด ๆ ที่ได้รับเงินจัดสรรแล้วอาจไม่ได้ดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามที่กล่าวอ้าง หรือต่ำกว่าระดับ ที่กล่าวอ้างไว้
External Review Provider ทำหน้าที่อะไร ?
ผู้ประเมินภายนอกที่เป็นอิสระ หรือ External Review Provider คือ หน่วยงานหรือองค์กรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางเทคนิค ซึ่งสามารถประเมิน ให้ความเห็น หรือรับรองว่าการออกและเสนอขายตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืนเป็นไปตามมาตรฐานสำหรับตราสารหนี้ประเภทนั้น* เช่น
· การให้ความเห็นว่าวัตถุประสงค์การใช้เงินที่เปิดเผยมีความเหมาะสมหรือเข้าข่ายตามเกณฑ์ที่กำหนด ในมาตรฐานที่เลือก
· การพิจารณาว่ามีกระบวนการคัดเลือกโครงการที่ชัดเจนโปร่งใส
· การพิจารณาระบบการบริหารจัดการเงินที่ได้จากการระดมทุนแยกออกมาเพื่อใช้เฉพาะสำหรับโครงการ ที่ระบุไว้ และ
· การพิจารณาว่าผู้ออกตราสารจะมีการรายงานการใช้เงินหรือประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินโครงการ
โดยการปฏิบัติหน้าที่และการให้ความเห็นของ External Review Provider จะเป็นอิสระจากผู้ออกตราสารหนี้ ดังนั้น จึงถือเป็นกลไกการตรวจสอบสำคัญที่จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือของตราสารและสร้างความมั่นใจให้กับ ผู้ลงทุน
External Review Provider มีกี่ประเภท ?
ปัจจุบัน External Review Provider ที่ตลาดตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืนใช้บริการกันโดยทั่วไปมี 4 ประเภท ได้แก่
1. การให้ความเห็น (Second Party Opinion: SPO) ซึ่งจะเป็นรายงานความเห็นของผู้ให้บริการที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ โดยจะมีการสอบทานกรอบและลักษณะการเสนอขายตราสาร (framework) รวมถึงสอบทานลักษณะของโครงการหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านสิ่งแวดล้อม สังคม หรือความยั่งยืนที่ผู้ออกตราสารจะนำเงินไปใช้
2. การยืนยัน/การรับประกัน (Verification/Assurance) ซึ่งจะเป็นรายงานของผู้ให้บริการสอบทาน ที่ให้การยืนยันหรือรับประกันอย่างเป็นทางการว่าตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืนนั้นมีความสอดคล้องกับมาตรฐาน ที่ผู้ออกตราสารเลือกใช้ ซึ่งอาจรวมถึงการปฏิบัติให้เป็นไปตามเกณฑ์อื่น ๆ ด้วย
3. การรับรอง (Certification) ซึ่งจะให้การรับรองตราสารอย่างเป็นทางการว่าเป็นตราสารหนี้ที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาสังคม และความยั่งยืน มีความสอดคล้องกับกฎระเบียบของประเทศ/ภูมิภาค หรือมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับ โดยมีข้อกำหนดที่ชัดเจนในมาตรฐานหรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้องสำหรับตราสาร ที่จะได้รับการรับรองดังกล่าว
4. การให้คะแนน/การจัดอันดับ (Scoring/Rating) ซึ่งจะเป็นรายงานของสถาบันจัดอันดับหรือบริษัท ที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ โดยให้คะแนนกรอบและลักษณะการเสนอขายตราสาร (framework) ที่ผู้ออก ตราสารจัดทำขึ้น หรือจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (ในด้านที่เกี่ยวกับความยั่งยืน) ของตราสารตามเกณฑ์หรือวิธีการ ที่ผู้ให้บริการกำหนด
โดย External Review Provider แต่ละประเภทมีลักษณะเด่นดังต่อไปนี้
ในปัจจุบัน External Review Provider ที่ได้รับความนิยมจากผู้ออกตราสารมากที่สุด ทั้งในต่างประเทศและ ในประเทศไทย คือ ประเภทการให้ความเห็นโดยผู้ประเมินภายนอกที่เป็นอิสระ (SPO) ขณะที่ประเภท การรับรอง (Certification) เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี ผู้ออกตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืนควรศึกษาและเลือก External Review Provider ที่เหมาะสม โดยอาจพิจารณาจากปัจจัย ดังนี้
(1) หลักเกณฑ์ของประเทศที่จะออกและเสนอขายตราสาร
(2) ความต้องการของผู้ลงทุน โดยผู้ลงทุนบางกลุ่มอาจต้องการ External Review Provider ประเภทใดประเภทหนึ่งเป็นพิเศษ
(3) ข้อกำหนดหรือข้อเสนอแนะตามมาตรฐานและแนวทางสำหรับตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน
ข่าวเด่น