เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
SCB EIC วิเคราะห์ "ส่งออกไทยเดือน มี.ค. หดตัวน้อยกว่าคาด แม้มีปัจจัยฐานสูง สะท้อนสัญญาณบวกที่ชัดเจนขึ้น"


 
มูลค่าส่งออกสินค้าไทยเดือน มี.ค. สูงสุดในรอบปีและหดตัวน้อยกว่าคาดที่ -4.2%YOY 
 
มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในเดือน มี.ค. 2023 อยู่ที่ 27,654.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐสูงสุดในรอบปี และนับเป็นสถิติมูลค่าการส่งออกรายเดือนที่สูงเป็นอันดับสองนับตั้งแต่มีการส่งออก แม้ยังหดตัว -4.2%YOY แต่หดตัวน้อยกว่าตลาดคาดการณ์ที่ -14.0% (Reuter poll) ค่อนข้างมาก และหดตัวน้อยลงจาก -4.7%YOY ในเดือน ก.พ. แม้มีปัจจัยฐานสูงในเดือน มี.ค. 2022 ซึ่งมูลค่าส่งออกรายเดือนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ภาพรวมมูลค่าการส่งออกสินค้า ในไตรมาสแรกของปีอยู่ที่ 70,280.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว -4.5%YOY และหากเทียบเดือนก่อนหน้าแบบปรับฤดูกาล มูลค่าการส่งออกในเดือน มี.ค. ขยายตัว 3.9%MOM_sa นับว่า %MOM ดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 นอกจากนี้ หากพิจารณามูลค่าการส่งออกหักทองคำ (ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ได้สะท้อนการค้าระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นจริง) หดตัวเพียง -0.4%YOY เทียบกับ -2.5%YOY ในเดือน ก.พ. และหากหักทั้งผลของทองคำและอาวุธ ยุทธปัจจัย มูลค่าการส่งออกหดตัว -1.5%YOY สะท้อนให้เห็นสัญญาณบวกของการส่งออกที่ชัดเจนมากขึ้น 

สินค้าส่งออกกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมหดตัวเป็นเดือนที่ 6
 
การส่งออกรายกลุ่มสินค้าในเดือน มี.ค. ฟื้นตัวต่อเนื่อง นำโดย (1) สินค้าเกษตรขยายตัว 1.2% โดยขยายตัวเป็นเดือนที่ 2 โดยเฉพาะสินค้าหลัก ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ขยายตัวสูง 94.5% ต่อเนื่องจาก 95.0% ในเดือนก่อน ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์จากจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ และปัจจัยฐานต่ำ นอกจากนี้ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งขยายตัว 47.9% ชะลอลงเล็กน้อยจาก 61.6% ในเดือนก่อน ในด้านการส่งออกข้าวและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง (2) สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวเป็นเดือนที่ 2 ที่ 7.1% เทียบเดือนก่อนที่ขยายตัว 5.6% นำโดยการส่งออกน้ำตาลทราย (ขยายตัว 73.9% ดีขึ้นจาก 21.4% ในเดือน ก.พ.) และการส่งออกเครื่องดื่ม (ขยายตัว 13.2%) ขณะที่ (3) สินค้าอุตสาหกรรมหดตัว 6 เดือนต่อเนื่องที่ -5.9% แต่หดตัวน้อยลงเทียบ -6.2% ในเดือน ก.พ. โดยมีปัจจัยสำคัญจากการส่งออกทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูปที่หดตัวแรง -41.2% ต่อเนื่องจาก -75.3% ในเดือนก่อน รวมถึงเม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์ที่ยังหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 และ 11 ตามลำดับ ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมอื่น ซึ่งสะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยังขยายตัวได้ และ (4) สินค้าแร่และเชื้อเพลิงขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.1% เทียบกับ -10.0% ในเดือนก่อน จากการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปที่กลับมาขยายตัว 1.1% เทียบกับ -3.7% ในเดือน ก.พ. 
 
 
ภาพรวมตลาดส่งออกของไทยในเดือน มี.ค. มีทิศทางที่ดีขึ้น 
 
การส่งออกไปตลาดคู่ค้าสำคัญส่วนใหญ่พลิกกลับมาขยายตัวหรือหดตัวน้อยลง นำโดย (1) ตลาดสหรัฐฯ ขยายตัว1.7% เป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน เช่นเดียวกับ (2) ตลาดญี่ปุ่นขยายตัวครั้งแรก 10.2% ในรอบ 7 เดือน (3) ตลาดจีนแม้ยังหดตัว -3.8% แต่น้อยลงจาก -7.9% ในเดือนก่อน ซึ่งถือว่าปรับดีขึ้นในรอบ 9 เดือน สะท้อนอุปสงค์การนำเข้าสินค้าจากจีนที่ฟื้นตัวต่อเนื่องหลังจีนเปิดประเทศ ขณะที่ (4) ตลาดยุโรป (EU28) หดตัวรุนแรง -5.3% เทียบกับ -0.5% ในเดือนก่อน นำโดยการส่งออกไปยังตลาดสวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศสที่ -43.5% และ -38.6% ตามลำดับ สำหรับ (4) ตลาด ASEAN 5 และ CLMV หดตัวน้อยลงที่ -2.1% และ -3.5% ตามลำดับ เทียบกับ -6.4% และ -4.9% ในเดือนก่อน ขณะที่ (5) ตลาดตะวันออกกลางขยายตัวชะลอลงที่ 2.9% เทียบ 23.3% ในเดือนก่อน ส่วนหนึ่งจากปัจจัยฐานสูง และ (6) ตลาดรัสเซียขยายตัวครั้งแรกในรอบปี อยู่ที่ 138.0% นับเป็นตลาดที่เติบโตเป็นอันดับ 1 จากปัจจัยฐานต่ำ 
 
ดุลการค้าเกินดุลครั้งแรกในรอบปี จากการนำเข้าที่หดตัวแรง 
 
มูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือน มี.ค. อยู่ที่ 24,935.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวแรง -7.1% เทียบเดือนก่อนที่ขยายตัว 1.1% และหากพิจารณามูลค่าการนำเข้าหักทองคำ (ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ได้สะท้อนการค้าระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นจริง) พบว่าหดตัวมากขึ้น -7.9% สะท้อนอุปสงค์การนำเข้าสินค้าที่เริ่มชะลอลง ขณะที่มูลค่าการส่งออกมีสัญญาณดีขึ้น ส่งผลให้ดุลการค้าในระบบศุลกากรในเดือน มี.ค. ขยายตัวครั้งแรกในรอบปีที่ 2,718.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

SCB EIC มองการส่งออกสินค้าของไทยยังน่าห่วงในช่วงครึ่งแรกของปี แต่จะทยอยปรับดีขึ้นและกลับมาขยายตัวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

มูลค่าการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้คาดว่า %YOY จะยังหดตัวในไตรมาส 2  ตามเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงและปัจจัยฐานสูง อย่างไรก็ดี แม้การส่งออกไทยยังเปราะบางตามความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและการค้าโลก แต่ล่าสุดเริ่มเห็นสัญญาณบวกจาก (1) ดัชนี Flash Manufacturing PMI  ของสหรัฐ ในเดือน เม.ย. ที่กลับมาขยายตัวในรอบ 6 เดือน ส่วนหนึ่งจากยอดคำสั่งซื้อใหม่ (Domestic) สอดคล้องกับกิจกรรมภาคการผลิตของญี่ปุ่นที่หดตัวน้อยสุดในรอบ 6 เดือน โดยยอดขายสินค้าหดตัวน้อยลงมากตามอุปสงค์ในต่างประเทศที่ดีขึ้น อย่างไรก็ดี ภาคการผลิตของยูโรโซนยังน่าห่วง เนื่องจากหดตัวรุนแรงสุดในรอบ 3 ปี (2) มูลค่าการค้าของจีนในเดือน มี.ค. พลิกกลับมาขยายตัวสูง 14.8%YOY ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้การส่งออกของจีนในไตรมาส 1 ขยายตัวได้ 0.5%YOY แม้การส่งออกในเดือน ม.ค. - ก.พ. จะหดตัว ในช่วงครึ่งหลังของปีคาดว่าการส่งออกสินค้าของไทยไปจีนมีแนวโน้มจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้ตามอุปสงค์จากจีนที่ทยอยฟื้นตัว สะท้อนจากยอดคำสั่งซื้อใหม่ ยอดคำสั่งซื้อส่งออกใหม่ และยอดการนำเข้าในไตรมาส 1 ที่กลับมาขยายตัวในรอบกว่าครึ่งปี อีกทั้ง สินค้าคงคลังและสินค้าคงคลังอุตสาหกรรมก็ขยายตัวชะลอลงต่อเนื่องเช่นกัน และ (3) ข้อมูลเร็วของการส่งออก 20 วันแรกของเกาหลีใต้ในเดือน เม.ย. หดตัวลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสแรกที่ -11.0%YOY อย่างไรก็ดี หากพิจารณาสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (รวมเซมิคอนดักเตอร์) หดตัวมากขึ้น สะท้อนอุปสงค์โลกที่ชะลอลงมาก ซึ่งอาจเป็นแรงกดดันสำคัญต่อแนวโน้มการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ของไทยเช่นกัน เนื่องจากไทยมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวประมาณ 1 ใน 4 ของมูลค่าการส่งออกของไทยทั้งหมด
 
 
นอกจากนี้ องค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) ได้ปรับมุมมองปริมาณการค้าโลกในปี 2023 เพิ่มเป็น 1.7%YOY เทียบประมาณการ ณ เดือน ต.ค. 2022 ที่ 1.0% สะท้อนทิศทางการค้าโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้น แม้จะยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ 2.6% ทั้งนี้ปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นเป็น 3.2% ในปี 2024 ตามทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น โดยอุปสงค์จากคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ ภูมิภาคเอเชีย (รวมจีน) มีแนวโน้มขยายตัวได้ 2.6% เทียบปีก่อนที่หดตัว -0.4% ขณะที่อุปสงค์การนำเข้าจากภูมิภาคอเมริกาเหนือและยุโรปหดตัวเล็กน้อย -0.1 และ -0.6 ตามลำดับ ดังนั้น แม้ภาพรวมการส่งออกสินค้าของไทยจะยังน่าห่วงในช่วงครึ่งแรกของปี แต่คาดว่าจะทยอยปรับดีขึ้นและกลับมาขยายตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี โดยกระทรวงพาณิชย์คงประมาณการมูลค่าการส่งออกของไทยในปีนี้จะขยายตัวที่ 1-2% 
 
รูปที่ 1 : สินค้าส่งออกกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมยังหดตัว
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์

รูปที่ 2 : การส่งออกไปตลาดคู่ค้าสำคัญส่วนใหญ่มีทิศทางดีขึ้น โดยกลับมาขยายตัวหรือหดตัวน้อยลงในเดือน มี.ค. 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์

รูปที่ 3 : การส่งออกทองคำเป็นองค์ประกอบที่ทำให้การส่งออกเดือนนี้หดตัวมากที่สุด ขณะที่การส่งออกสินค้าที่สะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ผลไม้ เครื่องปรับอากาศ รถยนต์ ยังขยายตัว 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์
 
 
รูปที่ 4 : การส่งออกสินค้าของไทยจะยังน่าห่วงในช่วงครึ่งแรกของปี แต่จะทยอยปรับดีขึ้นและขยายตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ 
 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์, ศุลกากรเกาหลีใต้และจีน, JP Morgan, S&P Global และ CEIC
 
 
บทวิเคราะห์โดย... https://www.scbeic.com/th/detail/product/trade-260423
ผู้เขียนบทวิเคราะห์
 
 
จงรัก ก้องกำชัย (jongrak.kongkumchai@scb.co.th)
นักวิเคราะห์
 
 
ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ (poonyawat.sreesing@scb.co.th)             
นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส

ECONOMIC AND FINANCIAL MARKET RESEARCH
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน
ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์  นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
จงรัก ก้องกำชัย นักวิเคราะห์
ณิชนันท์ โลกวิทูล นักวิเคราะห์
ปัณณ์ พัฒนศิริ นักวิเคราะห์
วิชาญ กุลาตี นักวิเคราะห์
ดร.อสมา เหลี่ยมมุกดา นักวิเคราะห์
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 เม.ย. 2566 เวลา : 20:11:14
29-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 29, 2024, 8:38 am