เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
บมจ.ไทยออยล์วิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ "ราคาน้ำมันดิบคาดผันผวน ตลาดจับตาการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ขณะที่การลดการผลิตของ OPEC จะเริ่มมีผลในเดือน พ.ค."


ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 72-82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 75-85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

 
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (1 – 5 พ.ค. 66)
 
ราคาน้ำมันดิบคาดผันผวน หลังตลาดจับตาการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งคาดเตรียมปรับขึ้นดอกเบี้ยที่ระดับ 25 bps ในการประชุมซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 2 – 3 พ.ค. นี้ ซึ่งสร้างความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางอุปทานน้ำมันดิบของรัสเซียซึ่งส่งออกมายังจีนและอินเดียที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การปรับลดกำลังผลิตของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบ (OPEC+) ที่จะเริ่มมีผลในเดือน พ.ค. อาจจะส่งผลให้ราคาขายน้ำมันอย่างเป็นทางการ (OSP) ของผู้ผลิตในกลุ่ม OPEC เช่น ซาอุดิอาระเบีย ปรับเพิ่มขึ้นได้ ขณะที่โรงกลั่นในฝรั่งเศสเตรียมกลับมาดำเนินการผลิตเต็มรูปแบบในช่วงต้นเดือน พ.ค. 

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้

ล่าสุด FedWatch Tool บ่งชี้ว่า นักลงทุนกว่า 80% คาดว่าเฟดจะปรับเพิ่ม 0.25% สู่ระดับ 5.00 – 5.25% ในการประชุมนโยบายการเงิน (FOMC) ครั้งถัดไปซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 2 –3 พ.ค. 66 เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ที่ระดับเป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% จากระดับปัจจุบันในเดือน มี.ค. 66 ที่ 5.0% ส่งผลให้ตลาดกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งอาจกดดันต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลก
 
 
ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของรัสเซียมายังภูมิภาคเอเชียยังคงปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังการนำเข้าน้ำมันดิบรัสเซียของอินเดียเดือน มี.ค. ปรับเพิ่ม 75,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 1.79 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคิดเป็นสัดส่วน 36 % ของปริมาณนำเข้าทั้งหมด ขณะที่ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบรัสเซียของจีน เดือน มี.ค. ปรับเพิ่ม 16 % เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 2.26 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคิดเป็นสัดส่วนราว 18 % ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด
 
 
ตลาดจับตาการประกาศราคาขายน้ำมันอย่างเป็นทางการ (OSP) ในเดือน มิ.ย. หลังการตัดสินใจปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบ (OPEC+) ในช่วงต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา อาจทำให้อุปทานปรับลดลง สนับสนุนให้ราคา OSP ปรับสูงขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม การซื้อขายในตลาดในช่วงที่ผ่านมา ราคาปรับตัวลดลงตามส่วนต่างผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปที่ปรับลดจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
 
 
ปริมาณความต้องการนำเข้าน้ำมันดิบของฝรั่งเศสคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นในเดือน พ.ค. เนื่องจาก FGE คาดการณ์ว่าโรงกลั่นในประเทศจะกลับมาดำเนินการตามปกติในช่วงต้นเดือน โดยล่าสุดโรงกลั่น Lavera (207,000 บาร์เรลต่อวัน), Port Jerome/Gravenchon (233,000 บาร์เรลต่อวัน), Gonfreville (262,000 บาร์เรลต่อวัน) อยู่ในช่วงการปรับเพิ่มกำลังผลิต จากผลกระทบของการประท้วงแผนปฏิรูปเงินบำนาญของรัฐบาลฝรั่งเศส ในช่วงปลายเดือน มี.ค. - เม.ย. ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมัน เดือน เม.ย. ต่ำกว่าระดับปกติราว 0.38 ล้านบาร์เรลต่อวัน 
 
 
แม้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ เดือน เม.ย. 66 จะปรับตัวลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน แต่ตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อื่น อันได้แก่ ตัวเลขยอดขายที่อยู่อาศัยใหม่ เดือน มี.ค. 66 ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 7 เดือน สู่ระดับ 683,000 หลัง จากระดับ 623,000 หลัง ในเดือน ก.พ. 66 เช่นเดียวกับรายงานยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน ซึ่งอยู่ที่ระดับ 3.2 % สูงกว่าที่ตลาดคาดที่ระดับ 0.7 % และฟื้นตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ชะลอตัวลง 1.2 % ตัวเลขดังกล่าวแสดงถึงภาคเศรษฐกิจจริงของสหรัฐ ฯ ที่ยังคงแข็งแกร่ง 
 
 
เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ เดือน เม.ย. 66 และอัตราการว่างงาน เดือน เม.ษ. 66 และตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ได้แก่ ดัชนียอดค้าปลีก เดือน มี.ค. 66 และอัตราการว่างงาน เดือน มี.ค. 66

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (24 – 28 เม.ย. 66)  
 
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 1.98 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 76.78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 3.19 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 79.54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 79.61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังตลาดถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 9 เดือน สู่ระดับ 101.3 ในเดือน เม.ย. 66 จากระดับ 104.0 ในเดือน มี.ค. 66 จากมุมมองในแง่ลบที่มากขึ้นของผู้บริโภคเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน อย่างไรก็ตาม ตลาดยังได้รับแรงสนับสนุนจากความต้องการใช้น้ำมันของจีนที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น จากการเดินทางท่องเที่ยวของชาวจีนภายในประเทศและต่างประเทศโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย ในช่วงเทศกาลวันหยุดยาววันแรงงาน (29 เม.ย. – 3 พ.ค.) ขณะที่รายงานสต๊อกน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 21 เม.ย. 66 ปรับตัวลดลง 5.1 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 460.9 ล้านบาร์เรล โดยลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับตัวลดลง 1.5 ล้านบาร์เรล
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 01 พ.ค. 2566 เวลา : 10:43:36
29-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 29, 2024, 8:52 am