โดยเฟดมีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งสุดท้ายในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้ที่ร้อยละ 0.25 ท่ามกลางภาวะสินเชื่อตึงตัว อันเป็นผลจากปัญหาภาคธนาคารและการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งน่าจะเริ่มส่งผลกระทบต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสถัดๆ ไป ประกอบกับเงินเฟ้อคาดว่าผ่านจุดสูงสุดไปแล้วแต่ยังอยู่ในระดับสูง และตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่ง
ในการประชุม FOMC วันที่ 2-3 พ.ค. นี้ คาดว่าเฟดน่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ระดับ 5.00-5.25% ซึ่งคาดว่าจะเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้ ท่ามกลางภาวะสินเชื่อตึงตัว (Credit tightening) อันเป็นผลมาจากปัญหาภาคธนาคารและการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวและอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยบางไตรมาสในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อที่แม้จะลดลงอย่างต่อเนื่องแต่ยังคงอยู่ในระดับสูงประกอบกับตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่งในปัจจุบันยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เฟดยังคงปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม FOMC วันที่ 2-3 พ.ค. นี้ แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลงหลัง GDP ในไตรมาส 1/2566 ขยายตัว 1.1% (Annualized QoQ) ต่ำกว่าตลาดคาดที่ 2.0% (Annualized QoQ)
ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เดือนมี.ค. 2566 ชะลอลงอย่างต่อเนื่อง แต่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของเฟดที่ 2% ค่อนข้างมาก ขณะที่ แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเริ่มส่งสัญญาณชะลอลง แต่ตัวบ่งชี้ตลาดแรงงานยังสะท้อนภาพที่แข็งแกร่ง จึงยังเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เฟดยังคงปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 ในการประชุม FOMC วันที่ 2-3 พ.ค. นี้ ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (Headline
CPI) ของสหรัฐฯ เดือนมี.ค. 2566 เพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอลงที่ 0.1% MoM และ 5.0% YoY ขณะที่ ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ที่หักราคาอาหารและพลังงานเดือนมี.ค. 2565 เพิ่มสูงขึ้นที่ 0.4% MoM และ 5.6% YoY ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีที่เงินเฟ้อพื้นฐานอยู่สูงกว่าเงินเฟ้อทั่วไป สะท้อนให้เห็นว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงแม้แรงกดดันจากราคาพลังงานจะลดลง และตัวเลขเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของเฟดที่ 2.0% ค่อนข้างมาก นอกจากนี้ ตัวเลขตลาดแรงงานที่ออกมาล่าสุดก็ยังสะท้อนภาพว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงค่อนข้างแข็งแกร่ง แม้หลายบริษัทในสหรัฐฯ เริ่มมีการปลดพนักงานเพื่อรองรับภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยยอดผู้ขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์ที่แล้ว (16-22 เม.ย. 2566) ลดลงสวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ดังนั้น ทั้งตัวเลขเงินเฟ้อและตลาดแรงงานที่ออกมาล่าสุดจึงยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เฟดยังคงปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุม FOMC ที่จะถึงนี้
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 2-3 พ.ค. นี้ อาจเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายไปแตะระดับสูงสุดที่ 5.00-5.25% สอดคล้องกับ Fed Dot Plot ที่ออกมาในการประชุมรอบก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ แม้ว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ จะยังอยู่ในระดับสูง แต่การชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญของเงินเฟ้อสหรัฐฯ ประกอบทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อ่อนแรงลง ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณจากตัวเลข GDP สหรัฐฯ ในไตรมาส 1/2566 ที่ขยายตัว 1.1% (Annualized QoQ) ต่ำกว่าตลาดคาดที่ 2.0% (Annualized QoQ) เนื่องจากผลกระทบของการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวของเฟดในช่วงที่ผ่านมา และแนวโน้มสินเชื่อตึงตัว (Credit tightening) ท่ามกลางความเสี่ยงจากปัญหาในภาคธนาคารสหรัฐฯ คาดว่าจะส่งผลให้เฟดให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมากขึ้นและพิจารณาหยุดการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายหลังการประชุม FOMC ที่จะถึงนี้ โดยเฟดคงมีมุมมองว่าดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.00-5.25% น่าจะเพียงพอที่จะทำให้แนวโน้มเงินเฟ้อปรับลดลงอย่างต่อเนื่องมาสู่ระดับเป้าหมายที่ 2.0% ในระยะข้างหน้า ในขณะที่คงไม่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจมากเกินควร เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิด Hard landing อย่างไรก็ดี ทิศทางนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าคงขึ้นอยู่กับตัวเลขเงินเฟ้อและเศรษฐกิจที่ออกมาเป็นสำคัญ โดยจากแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอลงและอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยบางไตรมาสในระยะข้างหน้า จึงมีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจจำเป็นต้องปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงในปีนี้ ซึ่งจากข้อมูลของ CME FedWatch Tool (ณ วันที่ 30 เม.ย. 2566) ตลาดส่วนใหญ่มองว่าดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ณ สิ้นปีจะปรับลดลงมาอยู่ที่ราว 4.50-4.75% อย่างไรก็ดี หากราคาน้ำมันพลิกกลับมาพุ่งสูงขึ้นอีกครั้งจากความเสี่ยงด้านปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และการปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันของ OPEC+ ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่เงินเฟ้อสหรัฐฯ จะปรับสูงขึ้นต่อหรือทรงตัวในระดับสูงต่อไป ซึ่งอาจส่งผลให้เฟดพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปสูงเกินกว่าระดับ 5.00-5.25% อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงให้น้ำหนักต่อกรณีค่อนข้างต่ำ
ข่าวเด่น