ราคาพลังงานโลกได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว แต่ยังคงทรงตัวในระดับสูงต่อไปในปี 2566 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี (2558-2562) และอยู่ในสภาวะผันผวนสูง ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากระดับสูง เนื่องจากความกังวลต่อสัญญาณเศรษฐกิจถดถอย (Recession fears) แต่ยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงจากการตัดสินในเพิ่ม/ลดการผลิตของกลุ่ม OPEC+ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน แม้ว่าราคาก๊าซธรรมชาติเริ่มอ่อนตัวลงมาช่วงต้นปีนี้ แต่มีแนวโน้มดีดกลับขึ้นไปสูงตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้ที่คาดว่าอากาศจะร้อนมากในช่วงหน้าร้อน และหน้าหนาวนี้อาจจะหนาวมาก ในตลาดก๊าซฯยังคงมีการแข่งขันเพื่อ Secure อุปทานอยู่ โดยเฉพาะจากยุโรปที่ต้องการนำเข้า LNG (liquified natural gas) เพื่อมาทดแทนก๊าซฯ ท่อจากรัสเซีย ส่วนราคาถ่านหินแม้ลดระดับลงมามาก แต่ยังทรงตัวในระดับที่สูงมาก เมื่อเทียบกับราคาในอดีตก่อนวิกฤตพลังงาน เพราะความต้องการใช้ยังคงขยายตัวได้ ในขณะที่อุปทานอาจมีแรงกดดันจากปัจจับสภาพอากาศในบริเวณเหมืองและข้อจำกัดด้านการขนส่งในบางแหล่ง
ตลาดพลังงานโลกยุคใหม่เปราะบางและผันผวนรุนแรง โดยธรรมชาติของธุรกิจพลังงาน การลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตใหม่นั้นใช้เม็ดเงินจำนวนมากและใช้เวลาเตรียมโปรเจกต์ยาวนาน ทว่ากระแส Net zero emissions และเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศจากนานาประเทศและบริษัทเอกชนต่าง ๆ ทำให้การคำนวณความคุ้มทุนและการตัดสินใจลงทุนในการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นไปได้ยาก เห็นได้ชัดจากการไฟแนนซ์โปรเจกต์ที่เกี่ยวข้องกับถ่านหินทำได้ยากลำบากมากขึ้นในระยะหลัง ทั้งหมดนี้ ทำให้ไม่สามารถเพิ่มอุปทานของเชื้อเพลิงฟอสซิลมารองรับความต้องการได้ ดังนั้น สามารถกล่าวได้ว่า ตลาดพลังงานโลกกำลังเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ที่อุปทานตึงตัว ตัวตลาดเปราะบาง และมีความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคาอย่างรุนแรง (Extreme price volatile)
บทเรียนจากวิกฤตพลังงาน เกิดนโยบายสนับสนุนพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น หลังจากที่ตลาดเชื้อเพลิงฟอสซิลทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตพลังงานและสงครามรัสเซีย-ยูเครนในปี 2565 นานาประเทศจึงเริ่มพิจารณาถึงความมั่นคงทางพลังงานและต้องการกระจายแหล่งจัดหาพลังงานใหม่เพิ่มขึ้น (Diversification) โดยเฉพาะการจัดหาเชื้อเพลิงจากในประเทศของตัวเอง ประกอบกับกระแส Net zero และเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศต่าง ๆ รวมถึงต้นทุนการใช้พลังงานอย่างโซลาร์และลมเริ่มแข่งขันได้ภายใต้ภาวะราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลสูงดั่งทุกวันนี้ จึงเริ่มเห็นนโยบายสนับสนุนการลงทุนและติดตั้งเทคโนโลยีพลังงานสะอาดมากขึ้น (Clean technology)
แผงโซลาร์จะเป็นที่ต้องการอย่างมากจากทั่วโลก นโยบายเกี่ยวกับการลงทุนและติดตั้งพลังงานโซลาร์มีความชัดเจนมากขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะจากเศรษฐกิจใหญ่อย่างสหรัฐฯ จีน และสหภาพยุโรป ที่ออกนโยบายสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้ต้นทุนในการติดตั้งต่ำและการคืนทุนเร็วขึ้น ส่งผลให้การติดตั้งพลังงานโซลาร์จะเร่งตัวเพิ่มขึ้นทั่วโลกและเป็นที่มาของการขยายตัวของความต้องการใช้แผงโซลาร์ อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของการติดตั้งแผงโซลาร์อาจเผชิญข้อจำกัดบางอย่าง เช่น ความพร้อมของระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Grid connection availability) การขอใบอนุญาตและความพร้อมของแรงงานในการติดตั้ง อุปทานของเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า (Inverter) เป็นต้น ส่วนด้านของการผลิตแผงโซลาร์ SCB EIC มองว่า ในปี 2566 ปัญหาขาดแคลน Polysilicon ซึ่งเป็นวัตถุดิบต้นน้ำของการผลิตแผงโซลาร์ ได้เริ่มคลี่คลายลงแล้ว และคาดว่า มีเพียงพอต่อการผลิตแผงโซลาร์เพื่อรองรับความต้องการที่จะขยายตัวมากในปีนี้
ติดตาม Anti-dumping and Countervailing Duty (AD/CVD) ของสหรัฐฯ ต่อผู้ผลิตและส่งออกแผงโซลาร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ผ่านมาสหรัฐฯ ได้ขึ้นกำแพงภาษีต่อแผงโซลาร์ที่ผลิตและถูกส่งออกจากจีน และกำลังตรวจสอบว่า โรงงานผลิตแผงโซลาร์ในไทยและกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ภายใต้บริษัทของจีน) ที่ผลิตแผงและส่งออกไปยังสหรัฐฯ นั้นได้มีการหลบหลีกกำแพงภาษีหรือไม่ (Circumventing) โดยเกณฑ์และผลการตัดสินต่อผู้ผลิตแผงโซลาร์จะถูกประกาศในเดือนพฤษภาคม 2566 นี้ จึงเป็นประเด็นที่ควรติดตามอย่างใกล้ชิด ในระยะกลางและยาว ผู้ผลิตแผงโซลาร์ในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจได้รับแรงกดดันจากนโยบายของสหรัฐฯ และยุโรปที่อยากสนับสนุนให้ใช้แผงโซลาร์ที่ผลิตในประเทศมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพานำเข้าและเสริมสร้างอุตสาหกรรมใหม่ภายในประเทศ
สหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญในเวทีพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด จาก Inflation Reduction Act (IRA) ที่เพิ่งผ่านการอนุมัติเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 โดยจะอัดฉีดการใช้จ่ายและลงทุนสาธารณะในด้านพลังงานสะอาด คาดว่าเป็นจำนวนเงินเกือบ 400,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.5% ของ GDP ของสหรัฐฯ มีเป้าหมายส่งเสริมการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของพลังงานสะอาดภายในอาณาเขตของสหรัฐฯ เอง โดยสร้างความชัดเจนในกฎเกณฑ์ เสริมแรงจูงใจทางการเงิน และขยายระยะเวลาให้เครดิตภาษีแก่โปรเจกต์ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดภายในสหรัฐฯ
ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Inflation Reduction Act ได้แก่
• Solar PV : IRA ให้ความสำคัญและสร้างแรงจูงใจมากที่สุดเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีพลังงานสะอาดอื่นๆ ได้รับทั้งเครดิตภาษีในการลงทุนโปรเจกต์ติดตั้งพลังงานโซลาร์ (Investment Tax Credit : ITC) และเครดิตภาษีในการพัฒนาสายพานการผลิตแผงโซลาร์ภายในสหรัฐฯ ตั้งแต่ตัวแผง เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า และอุปกรณ์ติดตั้งต่าง ๆ (Production Tax Credit : PTC)
• Battery Storage System : การสนับสนุนของ IRA ในการติดตั้งกำลังการผลิตในพลังงานสะอาดที่มากขึ้นนั้น จะช่วยเร่งการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ (Utility-scale battery energy storage) เพื่อเพิ่มความเสถียรของการจ่ายพลังงาน (Energy availability)
• Clean Hydrogen : IRA จะให้เครดิตภาษีในการผลิตแก่ไฮโดรเจนสะอาด (i.e. Green and Blue hydrogen ตามคำนิยามของ IRA) ซึ่งอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ส่วนต่างต้นทุนระหว่างไฮโดรเจนสะอาดและไฮโดรเจนที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นแคบลง
อย่างไรก็ดี เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่ต้องการสนับสนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศ และลดการพึ่งพาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดจากประเทศอื่น ๆ IRA จึงสร้างเงื่อนไขบังคับใช้ชิ้นส่วนและวัตถุดิบจากแหล่งผลิตภายในประเทศ (Local Content Requirement : LCR) เช่น IRA จะให้เครดิตภาษีสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles : EVs) ต่อเมื่อแบตเตอรี่ที่ใช้ใน EVs มีมูลค่าของ Critical minerals และส่วนประกอบที่มาจากแหล่งผลิตในสหรัฐฯ สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้เท่านั้น ซึ่งอาจเป็นประเด็นให้เกิดข้อพิพาทด้านการค้าระหว่างประเทศขึ้นได้
มาตรการลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลอย่าง IRA ที่มุ่งเน้นไปที่การใช้แรงจูงใจทางการเงินในการลงทุนในพลังงานสะอาดนั้นจะเร่งพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดที่แต่เดิมมีต้นทุนการลงทุนที่สูงให้ต่ำลง และโปรเจกต์อาจคืนทุนได้เร็วขึ้น ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน อาจก่อให้เกิดการลงทุนครั้งใหญ่ในห่วงโซ่อุปทานของพลังงานสะอาดในสหรัฐฯ ส่งผลให้สหรัฐฯ กลายมามีบทบาทสำคัญบนในเวทีพลังงานสะอาดโลกอย่างมีนัยสำคัญ
ธนบัตรเท่านั้นที่ทำให้ Clean tech ได้โบยบิน การเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ ในกรณีของ IRA ได้ดึงดูดในนักลงทุนหลายบริษัทสนใจลงทุน จากทั้งในและนอกสหรัฐฯ ทำให้กลุ่มประเทศอื่น ๆ ที่เดิมออกมีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาและติดตั้งเทคโนโลยีพลังงานสะอาด หันมาอัดฉีดเงินสนับสนุนเพิ่มเติม เพื่อดึงดูดการลงทุนภายในอาณาเขตของประเทศตนเอง ตัวอย่างเช่น สหภาพยุโรปได้ประกาศร่าง Net Zero Industry Act (NZIA) เมื่อเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา เพิ่มเติมจากนโยบายสนับสนุนพลังงานสะอาดเดิม โดยมีเป้าหมายสร้างอุตสาหกรรมการผลิตเทคโนโลยีพลังงานสะอาดภายในยุโรป เพื่อตอบโต้ IRA ของสหรัฐฯ และดึงดูดการลงทุนไว้ในยุโรป มองไปข้างหน้า พลวัตของตลาดพลังงานโลกกำลังหมุนเปลี่ยนไปจากแย่งชิงเพื่อครอบครองทรัพยากรเชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นการแข่งขันลงทุนเพื่อเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีพลังงานสะอาด
อ่านบทวิเคราะห์ฉบับเต็มได้ที่... https://www.scbeic.com/th/detail/product/global-energy-prices-280423
ผู้เขียนบทวิเคราะห์ :
พิมใจ ฮุนตระกูล ผู้อำนวยการฝ่าย CLIMATE, TRANSFORMATION, AND SUSTAINABILITY
ณัฐนันท์ อภินันท์วัฒนกูล นักวิเคราะห์อาวุโส
พุธิตา แย้มจินดา นักวิเคราะห์
อติกานต์ แสงวัณณ์ นักวิเคราะห์
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)
EIC Online : www.scbeic.com
Line : @scbeic
ข่าวเด่น