กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เตือนภัยภาคธุรกิจและประชาชน ให้ระวังมิจฉาชีพหลอกร่วมลงทุนทำธุรกิจ โดยปลอมใบสำคัญการจดทะเบียนนิติบุคคล หรือ แบบ พค.0401 สร้างความน่าเชื่อถือ ทั้งที่ไม่มีธุรกิจจริง ล่าสุด มิจฉาชีพพัฒนาไปอีกขั้น..ปลอมใบสำคัญฯ เนียนจนแทบแยกของจริงของปลอมไม่ออก มีการนำเลขทะเบียนและชื่อนิติบุคคลจริงมาทำขึ้นใหม่ พร้อมแอบอ้างตนเองเป็นเจ้าของธุรกิจ ถ้าไม่ตรวจเช็คข้อมูลนิติบุคคลเชิงลึกให้ดี อาจตกเป็นเหยื่อสูญทรัพย์สินจำนวนมาก แนะ!! หากจะร่วมลงทุนทำธุรกิจกับใคร ต้องใจเย็น มีสติ เช็คข้อมูลผู้ร่วมลงทุนให้แน่ใจ ไม่มือเร็วโอนเงินร่วมลงทุนไปก่อน ทางที่ดีควรเช็คข้อมูลนิติบุคคลที่ถูกต้องกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าหรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศก่อน โดยนำใบสำคัญฯ ที่ผู้ร่วมลงทุนแสดง..ส่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลบริษัท กรรมการ และผู้ถือหุ้นปัจจุบัน ก่อนการตัดสินใจ ย้ำ!! เสียเวลาตรวจเช็คข้อมูลให้มั่นใจก่อน ดีกว่าด่วนตัดสินใจร่วมลงทุนอย่างรวดเร็วแล้วมานั่งเสียใจภายหลัง
นายจิตรกร ว่องเขตกร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันกลุ่มมิจฉาชีพมักจะแอบอ้างชื่อ โลโก้ และใบสำคัญต่างๆ ของหน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจ มาหลอกลวงภาคธุรกิจและประชาชน รวมทั้ง มีการพัฒนากลวิธีการหลอกลวงให้ดูสมจริงและน่าเชื่อถือมากขึ้น จนทำให้ภาคธุรกิจ/ประชาชนหลงเชื่อและสูญเสียทรัพย์สินจำนวนมาก เมื่อเร็วๆนี้ กรมฯ ได้รับการร้องเรียนจากภาคธุรกิจและประชาชนว่า มีมิจฉาชีพแฝงตัวในคราบนักธุรกิจได้ปลอมแปลงใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท (แบบ พค.0401) ซึ่งเป็นเอกสารที่กรมฯ ออกให้นิติบุคคลภายหลังที่ได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลเรียบร้อยแล้ว เพื่อแสดงว่าได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อย่างถูกต้อง โดยมิจฉาชีพได้นำมาปลอมแปลงเป็นชื่อธุรกิจของตนเอง หรือเปลี่ยนชื่อบุคคลที่มีอำนาจ ซึ่งบุคคลที่ปรากฏชื่อในเอกสารดังกล่าว มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทที่จดทะเบียนไว้แต่อย่างใด ไม่มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ และมีการตัดต่อข้อความที่ระบุอยู่ในแบบ พค.0401 ให้มีลักษณะว่าธุรกิจได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งกับกรมฯ และนำไปอ้างความน่าเชื่อถือกับภาคธุรกิจและประชาชนที่พบเห็น
ล่าสุดจากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า มิจฉาชีพได้พัฒนากลวิธีการโกงขึ้นไปอีกขั้น มีการปลอมแปลงใบสำคัญการจดทะเบียนฯ ที่แนบเนียนจนแทบแยกไม่ออกว่าเป็นของจริงหรือของปลอม โดยอ้างข้อมูลชื่อนิติบุคคลและเลขทะเบียนที่มีอยู่จริง พร้อมกับปลอมข้อมูลหนังสือรับรองบริษัท ระบุชื่อบุคคล (มิจฉาชีพ) เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท สร้างความน่าเชื่อถือ และเพื่อหลอกลวงประชาชนให้หลงผิดตามข้อมูลที่จัดทำขึ้น ทำให้เมื่อตรวจสอบรายชื่อและเลขทะเบียนนิติบุคคลผ่านทางเว็บไซต์กรมฯ www.dbd.go.th หรือ แอปพลิเคชัน DBD e-Service จะพบว่านิติบุคคลดังกล่าวมีการจดทะเบียนฯ จริง แต่ในความเป็นจริงแล้ว มิจฉาชีพได้มีการลอกเลียนแบบใบสำคัญ พค.0401 และหน้าหนังสือรับรองนิติบุคคลขึ้นมาใหม่ โดยใช้เลขทะเบียนและชื่อนิติบุคคลที่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลกับกรมฯ ใส่รายละเอียดในเอกสารถูกต้องตามรายการที่จดทะเบียนไว้ แต่มีการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้มีอำนาจลงนามผูกพันเป็นชื่อของมิจฉาชีพ หากดูเผินๆ อย่างรวดเร็ว อาจข้ามรายละเอียดในส่วนนี้ไป และหลงเชื่อว่าเป็นนิติบุคคลที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งกับกรมฯ และมีมิจฉาชีพเป็นผู้ที่มีอำนาจผูกพันจริง
การกระทำของมิจฉาชีพดังกล่าว ถือว่าเป็นการปลอมแปลงเอกสารทางราชการ สร้างความเสียหายต่อความน่าเชื่อถือในการให้บริการข้อมูลนิติบุคคลของกรมฯ อย่างมาก และเข้าข่ายหลอกลวงประชาชน ขณะนี้ กรมฯ อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย
กรมฯ จึงขอเตือนภาคธุรกิจและประชาชนให้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบการมีตัวตนของธุรกิจที่แน่ชัด ตรวจสอบความถูกต้องของใบสำคัญการจดทะเบียน (พค.0401) ควบคู่กับหนังสือรับรอง ณ ปัจจุบัน ก่อนตัดสินใจร่วมลงทุนทุกครั้ง สำหรับการตรวจสอบแบบ พค.0401 ว่าเป็นของจริงหรือไม่ สามารถพิจารณาได้จากชื่อของนิติบุคคลต้องพิมพ์เป็นภาษาไทยเท่านั้น และต้องมีลายน้ำเป็นตราสัญลักษณ์กระทรวงพาณิชย์ หรือนำเลขทะเบียนนิติบุคคลไปตรวจสอบข้อมูลนิติบุคคลผ่าน 2 ช่องทาง คือ 1) Moblie Application: DBD e-Service และ 2) เว็บไซต์กรมฯ www.dbd.go.th เท่านั้น (ค้นหาได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ) เลือกหัวข้อบริการออนไลน์ จากนั้นเลือก บริการข้อมูลธุรกิจ และ DBD DataWarehouse+ ไม่เสียค่าบริการใดๆ และใช้งานระบบได้ตลอด 24 ชั่วโมง
และเพื่อความมั่นใจในการร่วมลงทุนขั้นสูงสุด ภาคธุรกิจและประชาชนควรเช็คข้อมูลนิติบุคคลที่ถูกต้องกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าหรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศก่อน โดยนำใบสำคัญฯ ที่ผู้ร่วมลงทุนแสดงให้ภาคธุรกิจและประชาชนได้ดู ส่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องว่าเป็นจริงและตรงตามที่ได้จดทะเบียนธุรกิจไว้หรือไม่ ไม่ควรมือไวใจเร็วโอนเงินร่วมลงทุนไปก่อน เพราะหากเจอมิจฉาชีพแฝงมาในคราบนักธุรกิจ จะเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและจิตใจของภาคธุรกิจและประชาชน ดังนั้น ก่อนตัดสินใจร่วมลงทุนกับใคร ต้องใจเย็น มีสติ เช็คข้อมูลผู้ร่วมลงทุนให้แน่ใจก่อน ยอมเสียเวลาตั้งแต่ตอนนี้ ดีกว่าด่วนตัดสินใจร่วมลงทุนอย่างรวดเร็วแล้วมานั่งเสียใจภายหลัง” รองอธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวเด่น