นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังแถลงว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 (ASEAN+3 Finance Ministers’ and Central Bank Governors’ Meeting: AFMGM+3) ครั้งที่ 26 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ณ เมืองอินชอน สาธารณรัฐเกาหลี โดยได้ร่วมหารือและแสดงความเห็นในประเด็นเศรษฐกิจและความร่วมมือทางการเงินของภูมิภาคอาเซียน+3 สรุปได้ ดังนี้
1. ที่ประชุมได้หารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นด้านเศรษฐกิจโลกและภูมิภาค โดยผู้แทนจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) และสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office: AMRO) ต่างเห็นพ้องว่า เศรษฐกิจโลกและภูมิภาคอาเซียน+3 ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง สืบเนื่องจาก การเปิดเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีนและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดย IMF คาดการณ์ว่า ในปี 2566 เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.8 ในขณะที่เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.6 และคาดว่า ในปี 2567 เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.0 และร้อยละ 4.4 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 องค์กร ได้ให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน+3 ยังคงเผชิญความท้าทาย โดยเฉพาะจากอัตราเงินเฟ้อ หนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น และความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเงินโลก ด้วยเหตุนี้ อาเซียน+3 ต้องมีการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ครอบคลุมและยั่งยืน การดำเนินโยบายการคลัง เพื่อสนับสนุนกลุ่มเปราะปราง รวมทั้งความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาลและเอกชนในการระดมทุนสำหรับโครงการ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้นำเสนอที่ประชุมให้ทราบถึงสถานการณ์และทิศทาง เศรษฐกิจไทย โดยคาดว่าในปี 2566 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 2.6 ในปี 2565 สืบเนื่องจากโครงการโครงสร้างพื้นฐานและการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวที่เข้ามามากกว่า 6 ล้านคนในไตรมาสแรก ของปี 2566 นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงสู่เป้าหมายที่ร้อยละ 2.8 จากร้อยละ 1 – 3 ในเดือนมีนาคม 2566 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 15 เดือน
2. ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าของการปรับปรุงเอกสารแนวปฏิบัติของมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM) เพื่อให้สมาชิกสามารถให้ความช่วยเหลือ ทางการเงินภายใต้ CMIM ด้วยเงินสกุลท้องถิ่นและสกุลเงินอื่น ๆ ของประเทศสมาชิกได้ และให้การรับรองแผนงาน การทบทวนความตกลง CMIM (Periodic Review) ครั้งที่ 2 นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการในการปรับปรุงโครงสร้างความช่วยเหลือทางการเงินของภูมิภาค (Regional Financial Architecture) เพื่อบรรเทา ป้องกัน และแก้ไขวิกฤตการณ์ในอนาคต โดยที่ประชุมสนับสนุนการพัฒนากลไกการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน แบบเร่งด่วนเพื่อให้ประเทศสมาชิกสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือทางการเงินได้มากขึ้นและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน+3 จัดทำข้อเสนอรูปแบบของกลไกความช่วยเหลือ ทางการเงินแบบเร่งด่วนและแผนงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
3. ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานของ AMRO และได้เห็นชอบนโยบายความคิดริเริ่มต่าง ๆ ที่จะดำเนินการในอนาคตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของ AMRO อาทิ แผนการดำเนินงานระยะกลาง (Medium-term Implementation Plan: MTIP) สำหรับปี 2566 – 2568 การจัดตั้งศูนย์ความรู้ระดับภูมิภาค เครือข่ายคลังสมองอาเซียน+3 การสนับสนุนงานด้านเลขานุการให้แก่ความร่วมมือทางการเงินอาเซียน+3 และแนวทางการเสริมสร้าง ธรรมภิบาลของผู้บริหารเพื่อยกระดับการกำกับดูแลของ AMRO ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต
4. ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินการตามแผนระยะกลางของมาตรการริเริ่มพัฒนา ตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Markets Initiative: ABMI) สำหรับปี 2562 – 2565 และให้การรับรองแผนงาน ระยะกลางใหม่ของ ABMI สำหรับปี 2566 – 2569 ที่ประกอบด้วย 5 เสาหลัก ได้แก่ (1) การส่งเสริมการเงินที่ยั่งยืน ในระดับภูมิภาค (2) การปรับปรุงการกำกับดูแลตลาดและพัฒนากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมข้ามพรมแดน (3) การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการวมตัวของตลาดการเงินอาเซียน+3 (4) การส่งเสริมสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้โดยใช้สกุลเงินท้องถิ่นเพื่อลดความเสี่ยงจากธุรกรรมข้ามพรมแดน และ (5) การสนับสนุน การพัฒนาตลาดตราสารหนี้สกุลเงินท้องถิ่น
5. ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าทิศทางการดำเนินการในอนาคตของกรอบความร่วมมือทางการเงินอาเซียน+3 ได้แก่ การจัดหาเงินทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนากลไกเพื่อรองรับปัญหาด้านมหภาคและปัญหาเชิงโครงสร้าง การเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการเงินเพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติ และการส่งเสริมความร่วมมือ ด้านนโยบายเพื่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบให้เรื่องการทำธุรกรรมและชำระเงิน ข้ามพรมแดนด้วยสกุลเงินท้องถิ่นในภูมิภาค การพัฒนาหนี้ภาคธุรกิจที่มีความเสี่ยง การพัฒนาฐานข้อมูลหนี้ครัวเรือน และการปฏิรูปนโยบายเพื่อรองรับการเงินเพื่อความยั่งยืนในภูมิภาคเป็นหัวข้อในการศึกษาภายใต้ความร่วมมือ ทางการเงินใหม่ของอาเซียน+3
นอกจากนี้ ในช่วงเช้าของเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน – ญี่ปุ่น ในโอกาสครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน – ญี่ปุ่น เพื่อหารือถึงการยกระดับความร่วมมือทางการเงินระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่นให้แน่นแฟ้น ยิ่งขึ้น รวมทั้งได้เข้าร่วมกล่าวปาฐกถาในงานเปิดตัวรายงาน เรื่อง “แนวทางการจัดหาเงินทุนใหม่ ๆ เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนและยืดหยุ่นในอาเซียน+3” (Reinvigorating Financing Approaches for Sustainable and Resilient Infrastructure in ASEAN+3) ที่จัดทำโดย ADB ซึ่งรายงานดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการกำหนดแนวทางการจัดทำนโยบายเพื่อพัฒนากลไกและนวัตกรรมทางการเงินเพื่อส่งเสริมการพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนของประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ในระยะยาวต่อไป
อนึ่ง ในช่วงบ่ายของวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้หารือทวิภาคีกับ H.E. Indranee Thurai Rajah รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนที่สอง สาธารณรัฐสิงคโปร์ และนาย Phouthanouphet Saysombath รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการเงิน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในประเด็นเศรษฐกิจและการยกระดับความร่วมมือระหว่างกัน อาทิ การส่งเสริมการค้าการลงทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และพัฒนาความร่วมมือด้านความเชื่อมโยงทางกายภาพและดิจิทัล
ข่าวเด่น