• การเลือกตั้งและการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจะไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจไทย
ใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2023 เนื่องจาก พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (ค.ศ. 2023) จะครอบคลุมการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐจนถึงสิ้นไตรมาส 3 ของปี 2023 และทำให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการตามนโยบายและโครงการต่างๆ ที่มีการกำหนดไว้แล้วได้เป็นปกติ อีกทั้ง ยังมีการเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณและนำเรื่องเข้ากระบวนการพิจารณาก่อนการยุบสภา นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยจะยังได้รับแรงสนับสนุนจากเม็ดเงินในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง
• ผลกระทบด้านลบจะเริ่มเห็นชัดเจนขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปี 2023 จากความไม่แน่นอน
ของระยะเวลาในการพิจารณาอนุมัติ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2024 ส่งผลให้มีเม็ดเงินสนับสนุนเศรษฐกิจจากภาครัฐเพิ่มเติมได้ไม่มากนัก อีกทั้ง นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่จะมีผลกระทบสู่เศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2024
• เศรษฐกิจไทยในปี 2024 จะต้องเผชิญความไม่แน่นอนสูงจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่
โดยหากการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปได้อย่างราบรื่นจะส่งผลให้มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและเม็ดเงินงบประมาณของภาครัฐเข้ามาสนับสนุนเศรษฐกิจปี 2024 ได้อย่างเต็มที่ ในทางตรงกันข้ามหากการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลไม่สามารถเป็นไปอย่างราบรื่นอาจส่งผลให้รัฐบาลที่ไม่มีอำนาจเต็มต้องปฏิบัติหน้าที่นานเกินสมควร อีกทั้ง ประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2024 ได้อย่างล่าช้ามากจนส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ
• SCB EIC ประเมินว่าไม่มีฉากทัศน์การจัดตั้งรัฐบาลที่มีโอกาสเกิดขึ้นสูงเกิน 50% ฉากทัศน์กรณีฝ่ายเสรีนิยมจัดตั้งรัฐบาล กรณีรัฐบาลผสมสองฝ่าย และกรณีรัฐบาลอนุรักษ์นิยมเสียงข้างน้อย ทั้ง 3 ฉากทัศน์นี้มีโอกาสเกิดขึ้นในระดับปานกลางใกล้เคียงกันมาก สำหรับอีก 2 ฉากทัศน์กรณีฝ่าย
อนุรักษ์นิยมจัดตั้งรัฐบาล และกรณีนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีรายชื่อมีโอกาสเกิดขึ้นอยู่บ้าง
1. ปฏิทินการเลือกตั้ง
ตามที่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 20 มีนาคม 2023 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วประเทศไว้เป็นวันที่ 14 พฤษภาคม 2023 โดย กกต. คาดการณ์ว่าจะสามารถประกาศผลการเลือกตั้งแบบไม่เป็นทางการได้ภายในเวลา 23:00 น. ของวันเลือกตั้ง และจะต้องประกาศผลคะแนนการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการภายใน 60 วันนับจากวันเลือกตั้ง และจะต้องมีการกำหนดประชุมรัฐสภาวันแรกเพื่อเริ่มกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลภายใน 15 วันนับตั้งแต่ประกาศผลเลือกตั้ง
อย่างไรก็ดี ไม่ได้มีบัญญัติของกฎหมายหรือข้อกำหนดของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่กำหนดว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะต้องสำเร็จภายในระยะเวลาเท่าใด ในกรณีที่การจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปอย่างราบรื่น SCB EIC คาดว่าในกรณีฐานประเทศไทยจะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในเดือนกรกฎาคม และจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่พร้อมจะปฏิบัติหน้าที่ได้ภายในเดือนสิงหาคม (รูปที่ 1) แต่หากการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปอย่างล่าช้ากว่านี้ อาจส่งผลลบต่อเศรษฐกิจได้หลายด้าน
รูปที่ 1 : ปฏิทินการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง, สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, ทำเนียบรัฐบาล และสำนักข่าวต่าง ๆ
2. ผลกระทบของการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2023 และ 2024
การประกาศยุบสภาส่งผลให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง โดยสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้จนกว่าคณะรัฐมนตรีใหม่ที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ (มาตรา 168) แต่รัฐบาลรักษาการจะไม่มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินอย่างเต็มที่ (มาตรา 169) ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 (ค.ศ. 2017) ตามเงื่อนไขดังนี้
(1) ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป เว้นแต่ที่กําหนดไว้แล้วใน พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี
(2) ไม่แต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตําแหน่งหรือเงินเดือนประจําหรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตําแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน
(3) ไม่กระทําการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน
(4) ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทําการใดอันอาจมีผลต่อการเลือกตั้งและไม่กระทําการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกําหนด
อย่างไรก็ดี ผลกระทบของการเป็นรัฐบาลรักษาการต่อเศรษฐกิจไทยใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2023 (หรือ 3 ไตรมาสหลังของปีงบประมาณ 2023) มีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากประการแรก พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (ค.ศ. 2023) ที่ได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้วตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2022 จะครอบคลุมการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐจนถึงสิ้นไตรมาส 3 ของปี 2023 และทำให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการตามนโยบายและโครงการต่าง ๆ ที่มีการกำหนดไว้แล้วได้เป็นปกติ รวมถึงความพยายามเร่งรัดเบิกจ่ายงบลงทุนในช่วงต้นปีงบประมาณ 2023 ไว้ ส่งผลให้อัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม 6 เดือนแรกของปีงบประมาณอยู่ที่ 37.5% สูงกว่าหลายปีที่ผ่านมา (รูปที่ 2)
ประการที่สอง แม้รัฐบาลรักษาการจะไม่สามารถออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจหรือนโยบายพยุงค่าครองชีพใหม่ ๆ ได้อย่างเต็มที่ แต่ได้เตรียมการที่ดีไว้ก่อนยุบสภา โดยเร่งอนุมัติหลายเรื่องสำคัญ (รูปที่ 3) เช่น 1) กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2024 และรายละเอียด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามลดความเสี่ยงที่ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2024 จะออกได้ล่าช้าเกินสมควรจนเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการบริหารราชการแผ่นดิน และ 2) โครงการลงทุนสำคัญ อาทิ โครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 4G/5G บนคลื่น 700 MHz ของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) กรอบวงเงินลงทุน 61,628 ล้านบาท โครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ - ถนนลำลูกกา) มูลค่าการลงทุน 24,060 ล้านบาท 3) โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรรวม 15,481 ล้านบาท
รูปที่ 2 : ภาครัฐได้เร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนในช่วงต้นปีงบประมาณ 2023 ส่งผลให้อัตราการเบิกจ่ายสะสมสูงกว่าหลายปีที่ผ่านมา
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงการคลัง
รูปที่ 3 : รัฐบาลมีการเร่งรัดนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีก่อนยุบสภา
หมายเหตุ : อาจรวมถึงเรื่องในวาระที่มีชั้นความลับหรือเรื่องในวาระจรไม่ครบถ้วน
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของรัฐบาล ทำเนียบรัฐบาล สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ
ประการที่สาม เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 จะได้รับแรงสนับสนุนจากเม็ดเงินที่นำมาใช้ในการหาเสียงก่อนการเลือกตั้ง โดยเฉพาะในไตรมาสที่สอง โดยหากพิจารณากรอบการใช้จ่ายหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีกอย่างน้อยราว 12,032 ล้านบาท หรือ 0.07% ของ Nominal GDP (รูปที่ 4) ซึ่งในความเป็นจริงเม็ดเงินที่ใช้อาจสูงกว่าที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดไว้หลายเท่าตัว โดยเม็ดเงินหาเสียงช่วงเลือกตั้งมีแนวโน้มที่จะลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจในหลายธุรกิจและกระจายไปยังกลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจป้ายโฆษณา ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจงานอีเวนต์ ช่วยทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยมากยิ่งขึ้น
รูปที่ 4 : เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มได้รับการสนับสนุนจากเม็ดเงินในการหาเสียงของพรรคการเมืองอย่างน้อย 0.07% ของ GDP
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของทำเนียบรัฐบาล, สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยบริษัท BBC ไทย และ MI Group
แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2023 จะได้รับผลกระทบด้านลบจากการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลที่จำกัด แต่ผลกระทบดังกล่าวจะรุนแรงขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปี 2023 เนื่องจากมีความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลและการพิจารณาอนุมัติ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2024 เนื่องจากโดยปกติแล้ว พ.ร.บ. งบประมาณจะมีการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาในช่วงเดือนกันยายน และเริ่มประกาศใช้ต้นปีงบประมาณในเดือนตุลาคม แต่การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจะทำให้กระบวนการพิจารณา พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2024 ล่าช้ากว่าปกติ
ในกรณีฐาน SCB EIC ประเมินว่ากระบวนการพิจารณาจะล่าช้าราว 3-4 เดือน ในช่วงเวลาดังกล่าวหน่วยงานภาครัฐจะสามารถใช้กฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปีก่อนนั้นไปพลางก่อนได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 (ค.ศ. 2017) มาตรา 141 แต่การดำเนินงานต่าง ๆ ก็จะไม่สามารถทำได้เต็มที่ดังปกติ อย่างไรก็ดีหน่วยงานภาครัฐจะมีการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณจนครบได้ใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2023 หรืออาจสรุปได้ว่าเม็ดเงินสนับสนุนเศรษฐกิจจากภาครัฐจะเบิกจ่ายในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2024 ไม่มาก แต่จะเร่งเบิกจ่ายได้ภายหลังในช่วง 3 ไตรมาสหลังของปีงบประมาณ 2024 สะท้อนจากข้อมูลสัดส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่มักจะลดลงเป็นอย่างมากในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ (ไตรมาสสุดท้ายของปีปฏิทิน) ที่มีการเลือกตั้งและเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่ (รูปที่ 5) ในกรณีเลวร้าย การจัดตั้งรัฐบาลไม่ราบรื่นอาจทำให้การประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2024 ล่าช้าถึง 6 เดือน ในกรณีนี้หน่วยงานภาครัฐจะไม่สามารถเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามเป้าหมาย ในกรณีนี้จะส่งผลลบโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2023 ถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2024
สำหรับผลกระทบด้านบวกต่อเศรษฐกิจจากการเลือกตั้งและเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2023 มีไม่มากนัก เนื่องจากนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่ หากเริ่มดำเนินการได้อย่างเร็วในช่วงสิ้นปีจะมีผลกระทบสู่เศรษฐกิจอย่างเต็มที่ภายหลังปี 2023 นอกจากนี้ โครงการขนาดใหญ่ที่หน่วยงานภาครัฐเตรียมเสนอเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) มูลค่า 2.24 แสนล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการพิจารณาและดำเนินการเป็นระยะเวลานาน
อย่างไรก็ดี ผลกระทบด้านบวกต่อเศรษฐกิจของการเลือกตั้งจะชัดเจนขึ้นในปี 2024 หากการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปอย่างราบรื่น เนื่องจากพรรคการเมืองขนาดใหญ่ทุกพรรคได้มีการนำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนมากมาใช้ในการหาเสียง อีกทั้ง มีนโยบายจำนวนมากที่เป็นนโยบายเร่งด่วนที่พรรคการเมืองให้คำสัญญาว่าจะดำเนินการภายใน 3-4 เดือนหลังจากที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ที่จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างชัดเจน เช่น นโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ นโยบายลดค่าครองชีพของประชาชน (เช่น ค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า) และนโยบายให้เงินประชาชนโดยตรงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
รูปที่ 5 : แรงสนับสนุนเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยเฉพาะงบลงทุน มีแนวโน้มลดลงในไตรมาสสุดท้ายของปี 2023 (ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2024) จากการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2024 ที่ล่าช้า
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกระทรวงการคลัง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
3. ฉากทัศน์การจัดตั้งรัฐบาลใหม่
หากพิจารณาผลสำรวจแนวโน้มการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2023 ของหลายหน่วยงาน พบว่าฝ่ายเสรีนิยมมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมสูงกว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมมาก โดยฝ่ายเสรีนิยม 2 พรรคที่ได้รับความนิยมสูงสุดได้รับความนิยมรวมกันมากถึง 68-84% ของผู้ตอบสำรวจทั้งหมด อย่างไรก็ดี ผลสำรวจมีแนวโน้มที่จะสะท้อนจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อได้แม่นยำกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายเขต ส่งผลให้ผลสำรวจสะท้อนว่าพรรคการเมืองที่มีฐานเสียงรายพื้นที่มีแนวโน้มที่จะได้รับเลือกตั้งในสัดส่วนที่สูงกว่า ภายใต้สมมติฐานดังกล่าวนี้ SCB EIC ได้ประเมินฉากทัศน์ของผลการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ไว้ 5 กรณี ดังนี้
รูปที่ 6 : ผลสำรวจการเลือกตั้งในปี 2023 และผลการเลือกตั้งในปี 2019 มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยฝ่ายเสรีนิยมได้รับความนิยมสูงขึ้นมากอย่างชัดเจน ในขณะที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้รับความนิยมลดลง
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ NIDA Poll, มติชน, เดลินิวส์ และสำนักข่าวต่าง ๆ
กรณีที่ 1 : ฝ่ายเสรีนิยมจัดตั้งรัฐบาล ฝ่ายเสรีนิยมได้เสียงข้างมากของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สูงกว่า 250 เสียง) และอาจรวมตัวกับพรรคการเมืองที่ไม่ได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนไว้แต่ยินดีจะเข้าร่วมด้วย ประกอบกับอาจได้รับเสียงจากสมาชิกวุฒิสภาบางส่วน ทำให้มีคะแนนเสียงรวมกันเกิน 375 เสียง และสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งจะช่วยให้การประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2024 ล่าช้าไม่มาก 3-4 เดือน แต่กรณีนี้มีโอกาสเกิดชุมนุมทางการเมืองขนาดเล็ก ในภาพรวมกรณีนี้มีโอกาสเกิดปานกลางและจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย
กรณีที่ 2 : รัฐบาลผสมสองฝ่าย ฝ่ายเสรีนิยมได้เสียงข้างมากจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (เกิน 250 เสียง) แต่ยังไม่เพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ (ต่ำกว่า 375 เสียง) ฝ่ายเสรีนิยมบางส่วนจึงร่วมมือกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมบางส่วน ตกลงจัดสรรตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีได้อย่างลงตัว ทำให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมสองฝ่ายได้ ในกรณีนี้แม้รัฐบาลจะมีเสียงสนับสนุนจากทั้งฝั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา แต่อาจไม่มีความแข็งแกร่งในการบริหารราชการแผ่นดินมากนัก เนื่องจากทั้งสองพรรคมีแนวความคิดที่แตกต่างกันหลายด้าน การประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2024 อาจล่าช้าไม่นาน 3-4 เดือน แต่กรณีนี้มีโอกาสที่จะเกิดการชุมนุมทางการเมืองขนาดใหญ่สูงกว่ากรณีอื่นเนื่องจากอาจขัดกับหลักการที่พรรคการเมืองสื่อสารหาเสียงไว้ หรือขัดกับหลักการที่ประชาชนกลุ่มฐานเสียงแต่ละฝ่ายต่างยึดมั่น ในภาพรวมกรณีนี้มีโอกาสเกิดปานกลาง แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจยังไม่แน่นอน ขึ้นกับความรวดเร็วในการจัดตั้งรัฐบาลและการตอบรับของประชาชน
กรณีที่ 3 : รัฐบาลอนุรักษ์นิยมเสียงข้างน้อย ฝ่ายเสรีนิยมได้เสียงข้างมากจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สูงกว่า 250 เสียง) ขณะที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมและพรรคการเมืองที่ไม่ได้แสดงจุดยืนชัดเจนไว้แต่ยินดีจะเข้าร่วมด้วย รวมตัวกันได้เสียงจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ถึง 250 เสียง แต่เมื่อรวมกับเสียงจากสมาชิกวุฒิสภาจำนวนมาก ส่งผลให้มีคะแนนเสียงรวมเกิน 375 เสียง ทำให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ในกรณีนี้รัฐบาลจะมีความเปราะบางสูง และมีโอกาสเกิดเหตุการณ์ลบหลายเรื่อง เช่น การประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2024 ล่าช้าเกิน 3-4 เดือน หรือไม่สามารถออกใช้ได้ ความเสี่ยงต้องจัดการเลือกตั้งใหม่สูง นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมีความเสี่ยงถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ อีกทั้ง กรณีนี้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมซึ่งเป็นรัฐบาลรักษาการอยู่ อาจประวิงเวลาให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายอื่นเข้าร่วมกับฝ่ายตน จนฝ่ายอนุรักษ์นิยมสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งจะทำให้ไทยมีรัฐบาลรักษาการนานเกินควร นอกจากนี้ ยังมีโอกาสเกิดการชุมนุมทางการเมืองขนาดใหญ่ ในภาพรวมกรณีนี้มีโอกาสเกิดปานกลางและจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจไทยสูงที่สุด
กรณีที่ 4 : ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจัดตั้งรัฐบาล ฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้เสียงข้างมากจากทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สูงกว่า 250 เสียง) และสมาชิกวุฒิสภา (รวมมีคะแนนเสียงเกิน 375 เสียง) จึงสามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มีความแข็งแกร่งในการบริหารราชการแผ่นดินสูงจากเสียงสนับสนุนจากทั้งฝั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ทำให้การประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2024 ล่าช้าเพียง 3-4 เดือน แต่มีโอกาสเกิดการชุมนุมทางการเมืองขนาดเล็ก ในภาพรวมกรณีนี้มีโอกาสเกิดน้อยและจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย
กรณีที่ 5 : นายกรัฐมนตรีนอกบัญชีรายชื่อ ฝ่ายเสรีนิยมได้เสียงข้างมากจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (เกิน 250 เสียง) แต่ยังไม่เพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ (ต่ำกว่า 375 เสียง) ฝ่ายเสรีนิยมบางส่วนจึงร่วมมือกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมบางส่วน ซึ่งคล้ายกับกรณีที่ 4 แต่ไม่สามารถตกลงจัดสรรตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีได้อย่างลงตัว ทำให้ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ รัฐบาลรักษาการจึงต้องบริหารราชการแผ่นดินเป็นเวลานานเกินควรและจำเป็นต้องเลือกบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอมาเป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 (ค.ศ. 2017) ส่งผลให้รัฐบาลใหม่มีความเปราะบางสูง และการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2024 อาจล่าช้าเกิน 3-4 เดือนไปมาก ในภาพรวมกรณีนี้มีโอกาสเกิดน้อยและจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจไทย
รูปที่ 7 : สรุปความน่าจะเป็นและผลกระทบทางเศรษฐกิจในกรณีต่างๆ
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC
โดยสรุปการเลือกตั้งและการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลในปี 2023 จะไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจไทย
ใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2023 อีกทั้ง เศรษฐกิจไทยจะยังได้รับแรงสนับสนุนจากเม็ดเงินหาเสียงในช่วงก่อนการเลือกตั้ง แต่ผลกระทบด้านลบจะเริ่มเห็นชัดเจนขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปี 2023 เนื่องจากมีความล่าช้าในการพิจารณาอนุมัติ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2024 ขณะที่ผลกระทบด้านบวกต่อเศรษฐกิจยังมีไม่มากนัก
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยจะต้องเผชิญความไม่แน่นอนสูงจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่และการจัดทำงบประมาณปี 2024 โดย SCB EIC ประเมินว่าไม่มีฉากทัศน์การจัดตั้งรัฐบาลที่มีโอกาสเกิดขึ้นสูงเกิน 50% แตกต่างจากบริบทการเลือกตั้งในปี 2019 ที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลได้สูงอย่างชัดเจน เนื่องจากได้รับคะแนนความนิยมจากประชาชนสูง อีกทั้งยังได้รับแรงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภาอย่างท่วมท้น สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ SCB EIC ประเมินว่า ฉากทัศน์กรณีฝ่ายเสรีนิยมจัดตั้งรัฐบาล กรณีรัฐบาลผสมสองฝ่าย และกรณีรัฐบาลอนุรักษ์นิยมเสียงข้างน้อย ทั้ง 3 ฉากทัศน์นี้มีโอกาสเกิดขึ้นในระดับปานกลางใกล้เคียงกันมาก สำหรับอีก 2 ฉากทัศน์กรณีฝ่ายอนุรักษ์นิยมจัดตั้งรัฐบาล และกรณีนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีรายชื่อมีโอกาสเกิดขึ้นอยู่บ้าง
นอกจากผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการยุบสภา การเลือกตั้ง และการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลตามที่วิเคราะห์ข้างต้นแล้ว นโยบายที่พรรคการเมืองต่างๆ ได้นำเสนอไว้ก่อนการเลือกตั้งนับว่าเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและภาระการคลัง เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นนโยบายมหภาคที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดย SCB EIC จะเผยแพร่บทวิเคราะห์ตอนต่อไปหลังการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น
บทวิเคราะห์โดย... https://www.scbeic.com/th/detail/product/election-030523
ผู้เขียนบทวิเคราะห์
วิชาญ กุลาตี นักวิเคราะห์ vishal.gulati@scb.co.th
ECONOMIC AND FINANCIAL MARKET RESEARCH
ดร. สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน
ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
จงรัก ก้องกำชัย นักวิเคราะห์
ณิชนันท์ โลกวิทูล นักวิเคราะห์
ปัณณ์ พัฒนศิริ นักวิเคราะห์
วิชาญ กุลาตี นักวิเคราะห์
ดร.อสมา เหลี่ยมมุกดา นักวิเคราะห์
ข่าวเด่น