บมจ.สาลี่ คัลเล่อร์ ( COLOR ) ผนึก บมจ.แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย (PLANET) ลุยโปรเจคให้บริการจัดการไฟฟ้าจากระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งแบบทุ่นลอยน้ำ (Floating Solar) ของ "เหล็กสยามยามาโตะ" ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง มูลค่า 347 ล้านบาท ฟากผู้บริหาร COLOR “พีรพันธ์ จิวะพรทิพย์” มั่นใจเป็น New S Curve หนุนผลงานโตแกร่ง จากการเป็นผู้ผลิตออกแบบและติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจาก Floating Solar ด้าน “ประพัฒน์ รัฐเลิศกานต์” ผู้บริหาร PLANET ชี้ มีโอกาสต่อยอดคว้างานด้านพลังงานเพิ่มในอนาคต มั่นใจช่วยผลักดันรายได้โตก้าวกระโดด
นายพีรพันธ์ จิวะพรทิพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สาลี่ คัลเล่อร์ จำกัด (มหาชน) (COLOR) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา บริษัท เดอะบับเบิ้ลส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในกลุ่ม ดำเนินธุรกิจด้านพลังงานทดแทนได้ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ บริษัท แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย จำกัด (มหาชน) (PLANET) ในโครงการบริการจัดการไฟฟ้าจากระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งแบบทุ่นลอยน้ำ (Floating Solar) ของบริษัท เหล็กสยามยามาโตะ จำกัด ภายใน บริเวณบ่อน้ำ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง มูลค่ารวม 347,228,189 บาท ซึ่งโครงการอยู่ภายใต้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและบริษัท ไฮเพาเวอร์ เอ็นเนอยี่ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการให้บริการจัดการไฟฟ้าจากระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งแบบทุ่นลอยน้ำ (Floating Solar) ของ "เหล็กสยามยามาโตะ" ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง
ทั้งนี้ COLOR และ PLANET จะเป็นผู้ออกแบบ จำหน่าย และติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน (EPC) การผลิตทุ่นโซลาร์ลอยน้ำ (Floating Solar) ในโครงการดังกล่าวตามสัญญา
“การลงนาม MOU ครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทฯ มีศักยภาพ และเป็นที่ยอมรับ เป็นบริษัทฯ ที่มีความชำนาญ และยังเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ การขยายงานรวมถึงการรับงานที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วนงานด้านธุรกิจพลังงานทดแทน ซึ่งถือเป็น New S Curve ช่วยผลักดันธุรกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งในอนาคต” นายพีรพันธ์ กล่าว
ด้านนายประพัฒน์ รัฐเลิศกานต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย จำกัด(มหาชน) (PLANET) กล่าวว่า PLANET ได้รับการว่าจ้างบริษัท ไฮเพาเวอร์ เอ็นเนอยี่ จำกัด เข้าดำเนินการโครงการให้บริการจัดการไฟฟ้าจากระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งแบบทุ่นลอยน้ำ (Floating Solar) ให้กับบริษัท เหล็กสยามยามาโตะ จำกัด ทั้งนี้จะมีขนาดกำลังผลิตไม่ต่ำกว่า 11,984 กิโลวัตต์สูงสุด (kWp) หลังจากการลงนามในสัญญาแล้วคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ 180 วัน นับจากวันลงนามในสัญญา และจะสามารถผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ภายในปีนี้ ช่วยหนุนรายได้ในปี 2566 ให้เติบโตแบบก้าวกระโดด
“ถือเป็นก้าวแรกที่ดีหลังจากที่ PLANET ได้จัดตั้งบริษัทย่อย คือ บริษัท แพลนเน็ตยูทิลิตี้ จำกัด (Planet Utility) ขึ้นมาเพื่อประกอบธุรกิจบริหารจัดการ ให้บริการผลิตน้ำประปาและไฟฟ้า เพื่อจำหน่ายหรือจำหน่ายน้ำประปาหรือกระแสไฟฟ้า จากนั้นได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจกับ บริษัทย่อยของการไฟฟ้าแห่งชาติมาเลเซีย (Tenaga Nasional Berhad : TNB) เกี่ยวกับข้อเสนอในการร่วมมือสำรวจศักยภาพของเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนและการผลิตพลังงานในประเทศไทยเมื่อช่วงต้นปีนี้ ซึ่งจากนี้ มั่นใจว่าบริษัทฯ สามามรถขยายธุรกิจด้านพลังงานไฟฟ้าได้มากขึ้น เนื่องจากซึ่งมีหลายโครงการในอนาคตที่เรามีโอกาสต่อยอดได้งานเพิ่มมากขึ้น” นายประพัฒน์ กล่าว
สำหรับความร่วมมือกับ COLOR ถือว่าเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจร่วมกัน เป็นการต่อยอดจากธุรกิจเดิม และด้วยเทรนด์ปัจจุบันความต้องการใช้พลังงานทดแทนมีเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นโอกาสในการเข้าลงทุน นอกจากเป็นการสนับสนุนการเพิ่มรายได้ รวมถึงรองรับการขยายงานในอนาคตทั้งสองฝ่ายแล้ว ยังเป็นการสร้างพันธกิจสู่ความเป็นสังคม Carbon Neutrality ช่วยสร้างความยืดหยุ่นให้ผู้ประกอบการในการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมการดูแลสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ทั้งนี้ PLANET ยังคงเดินหน้าหาโอกาสที่จะลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ ตลอดจนหาพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อขยายโอกาสสร้างรายได้ตามแผนการลงทุนในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง
ข่าวเด่น