ไอที
เอ็นไอเอพาเปิดโปรไฟล์นักลงทุนหญิงแกร่งแห่งวงการดีพเทคสตาร์ทอัพไทยกับแรงหนุน ทาเลนท์เมตาเวิร์ส พร้อมเป้าหมายผลิตโปรแกรมโลกเสมือนให้คนทั่วโลกทำได้ด้วยตัวเอง


หากมองดูระบบนิเวศด้านนวัตกรรมของไทยในปัจจุบันโดยเฉพาะระบบนิเวศสตาร์ทอัพ พบว่าหลายปีที่ผ่านมาจำนวนสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเชิงลึก หรือ Deep Tech เติบโตขึ้นมาก แต่ปัญหาหนึ่งของสตาร์ทอัพที่ต้องการขยายธุรกิจคงหนีไม่พ้นเรื่องเงินลงทุน ซึ่งจะมีทั้งรูปแบบนักลงทุนบุคคล (Angel Investor) ธุรกิจร่วมลงทุน (Venture Capital; VC) การระดมทุน (Crowdfunding) หรือแม้แต่ทุนสนับสนุนจากภาครัฐ (Government Grant) เพื่อผลักดันให้ธุรกิจสตาร์ทอัพนั้นสามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด

กลุ่มนักลงทุนบุคคล หรือ Angel Investor หนึ่งในจิ๊กซอว์สำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจสตาร์ทอัพหน้าใหม่ที่อยู่ในระยะเริ่มต้นสามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด เพราะไม่เพียงแต่เป็นการสนับสนุนด้านเงินลงทุนเท่านั้น หากแต่กลุ่มจะเป็นกลุ่มคนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่น่าสนใจ ดังนั้น นอกจากการส่งเสริมการเข้ามาของสตาร์ทอัพและนักลงทุนจากนานาชาติแล้ว สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ยังเห็นโอกาสและศักยภาพของการพัฒนาเครือข่ายนักลงทุนกลุ่มนี้ภายในประเทศผ่านกิจกรรมพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทด้านการลงทุน ซึ่งประกอบด้วยการอบรมนักลงทุนรุ่นใหม่ กิจกรรมนักลงทุนพบสตาร์ทอัพ การอบรมกลยุทธ์และเทคนิคการลงทุนของ Angel Investor ในระดับสากล (Qualified Angel Investor Course; QBAC+) และสร้างเครือข่ายนักลงทุน 5 พื้นที่ทั้งกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งปัจจุบันมีเครือข่ายนักลงทุนรุ่นใหม่กว่า 1000 ราย

วันนี้ NIA จะพาไปทำความรู้จักกับ “คุณตุ๊ก สิริน ฉัตรวิชัย” นักธุรกิจหญิงผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการธุรกิจโคมไฟกว่า 20 ปี กับบทบาทการเป็นนักลงุทนอิสระที่พร้อมหยิบยื่นโอกาสและเงินทุนเพื่อสนับสนุนให้สตาร์ทอัพได้เติบโตถึงเป้าหมาย

 
“ตุ๊ก - สิริน ฉัตรวิชัย” ผู้เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีได้โลดแล่นทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ

คุณตุ๊ก สิริน ฉัตรวิชัย เล่าถึงแรงสนับสนุนที่ทำให้ตัดสินใจก้าวสู่บทบาทนักลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีและเทคโนโลยีเชิงลึกว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ บริการ และธุรกิจให้ก้าวทันโลกที่หมุนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และมีโอกาสเติบโตสูงในอนาคต แต่ด้วยพื้นฐานธุรกิจที่ทำอยู่ในปัจจุบันไม่ได้เชื่อมโยงกับความเป็นเทคโนโลยีมากนัก จึงต้องศึกษา ทำความเข้าใจ และพาตัวเองไปคลุกคลีกับเรื่องของเทคโนโลยี แพลตฟอร์ม เทรนด์ของเทคโนโลยีที่จะมาในอนาคต ทิศทางการเติบโตของธุรกิจ เพราะเชื่อว่าองค์ความรู้เหล่านี้มีความสำคัญและเป็นใบเบิกทางขั้นแรกที่จะช่วยพัฒนาตนเองให้มีความพร้อมในการก้าวสู่การเป็นนักลงทุนที่นอกจากจะให้เงินสนับสนุนแล้ว ยังให้โอกาสและเครือข่ายองค์กรธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมให้สตาร์ทอัพไทยสามารถเติบโตถึงระดับยูนิคอร์น

 
 
แอปพลิเคชัน "ยาพร้อม" ยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยเทคโนโลยี

ก้าวแรกที่ทำให้ “คุณตุ๊ก” เข้าไปสัมผัสโลกของธุรกิจเทคโนโลยีแบบเต็มตัว คือการเข้าไปบริหารงานบริษัท ยาพร้อม จำกัด ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน "ยาพร้อม" แพลตฟอร์มที่นำนวัตกรรมเข้ามาเชื่อมผู้ซื้อและผู้ขายให้เข้าถึงกันได้อย่างสะดวก รวดเร็ว บนโลกดิจิทัล เพื่อช่วยให้ร้านขายยา เภสัชกร และผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลซึ่งการเดินทางไปหาหมอที่โรงพยาบาลหรือไปร้านขายยานั้นเป็นเรื่องลำบาก ให้สามารถเข้าถึงยาและการให้คำปรึกษาเบื้องต้นได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุมมากขึ้น ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการเข้าถึงการรักษาของประชาชนในภาพรวม

“ยาพร้อมเป็นแอปพลิเคชันที่ยกร้านขายยาทั่วประเทศมาอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ทำให้ผู้ซื้อยาและเภสัชกรเข้าถึงกันได้ง่ายขึ้น เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่เลือกลงทุน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านการเข้าถึงบริการสุขภาพและยารักษาโรคของคนไทยด้วยเทคโนโลยี เมื่อได้เรียนรู้ยิ่งสนุก มองเห็นความสำคัญของเทคโนโลยี และโมเดลธุรกิจในโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แต่ยังมีความรู้ด้านเทคโนโลยีไม่ลึกซึ้งมากนัก ดังนั้น การจะลงทุนในธุรกิจจึงต้องมองหานวัตกรรม หรือสตาร์ทอัพที่ผ่านการคัดกรอง บ่มเพาะ จากองค์กรที่มีมาตรฐานสูงอย่าง NIA หนึ่งในองค์กรที่ทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และสะพานเชื่อมต่อระหว่างนักลงทุนให้ได้เจอกับสตาร์ทอัพที่ตรงกับความต้องการ”

 
 
 
จากธุรกิจโคมไฟแก้วเจียระไนสู่ประภาคารส่องแสงนำทางสตาร์ทอัพ

คุณตุ๊ก เล่าเพิ่มเติมว่า นอกจากเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับสุขภาพแล้ว ยังได้ร่วมลงทุนกับบริษัท อิมเมจ เอนจิน จำกัด สตาร์ทอัพคนรุ่นใหม่ผู้พัฒนาโปรแกรมสำเร็จรูป imgen. (อิมเจน) แพลตฟอร์มที่อยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์พื้นที่จักรวาลนฤมิตนวัตกรรมประเทศไทย หรือ NIA Metaverse ในงาน STARTUP x INNOVATION THAILAND EXPO 2022 (SITE 2022) อิมเจนเป็นโปรแกรมสำเร็จที่สร้างขึ้นมาเพื่อลดความยุ่งยาก ลดระยะเวลาในการทำงานให้สั้นลง และลดต้นทุนในอุตสาหกรรมเมตาเวิร์ส แต่ได้ผลงานที่สวยงาม โดยการหยิบยกจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ออกมาผลิตเป็นชิ้นงาน ทำให้ทุกคนสามารถออกแบบชิ้นงานสามมิติ หรือ ตัวตนเสมือน (Avatar) ได้ภายในระยะเวลาที่รวดเร็ว แม้จะไม่มีพื้นฐานด้านโค้ดดิ้งในระดับสูง อีกทั้งยังมีขั้นตอนการใช้งานที่ไม่ซับซ้อน เนื่องจากโปรแกรมถูกออกแบบมาให้ง่ายต่อการเรียนรู้ ไม่มีความรู้ด้านการเขียนโปรแกรมก็สามารถใช้งานได้ นอกจากนี้ โปรแกรมสำเร็จรูปอิมเจนยังสนับสนุนให้เกิดการเติบโตของธุรกิจบนโลกเสมือน เช่น การสร้างประสบการณ์สินค้า/บริการเสมือนกับได้สัมผัสจริงที่ร้านค้า (Virtual Shopping) ห้างสรรพสินค้าบนโลกเสมือน (Virtual Mall) การสร้างเมตาเวิร์ส (Metaverse) รวมถึงการสร้างแอนิเมชันสำหรับสื่อการเรียนการสอน หรือในเกมต่าง ๆ ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ จึงเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก

 
“นวัตกรรมของ อิม หรือ พลวัต ดีอันกอง ผู้ก่อตั้งบริษัท อิมเมจ เอนจิน จำกัด มีความโดดเด่นและสมควรที่จะได้รับโอกาส ซึ่งจะเห็นได้ว่าความคิด ความทันสมัย มุมมองของคนรุ่นใหม่ ช่วยให้เราได้เรียนรู้และนำมาปรับใช้กับธุรกิจได้ การที่พวกเค้ามีประสบการณ์ในเทคโนโลยีและมีผลงานเป็นที่ยอมรับตั้งแต่ตอนเรียนในระดับมหาวิทยาลัยทำให้มั่นใจว่าเราจะเสริมศักยภาพและอาวุธในการทำธุรกิจให้ทีมอิมเจนเติบโตและแข็งแรงถึงระดับนานาชาติได้ เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญจากทั้งไทยและต่างประเทศที่ได้ลองใช้ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นแพลตฟอร์มที่มีประสิทธิภาพ สามารถนำไปต่อยอดในต่างประเทศได้ เพราะอุตสาหกรรมเชิงโต้ตอบ (interactive) ที่อิมเจนเข้ามาเติมเต็มนั้น มีสัดส่วนที่ใหญ่และมีการแข่งขันรุนแรง ดังนั้น การสร้างและเตรียมความพร้อมตลาดผู้ใช้งานจากทั่วทุกมุมโลกจึงเป็นสิ่งสำคัญที่อิมเจนตั้งใจอยากจะพัฒนาให้เติบโต เพราะปัจจุบันการทำธุรกิจไม่ได้มุ่งแค่ตลาดในประเทศอีกต่อไป โอกาสการทำธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมไม่มีพรมแดน เราจึงตั้งเป้าหมายอยากให้โปรแกรมสำเร็จรูปอิมเจนเติบโตไปเป็นยูนิคอร์นสัญชาติไทยอีกตัวหนึ่ง”

ท้ายนี้ คุณตุ๊ก ฝากแนวคิดสำหรับผู้ที่สนใจอยากลงทุนในธุรกิจนวัตกรรม นอกจากจะหมั่นฝึกฝนตนเองให้มีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอยู่เสมอแล้ว ควรจะเรียนรู้และหาข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจที่จะเข้าไปให้การสนับสนุน เพราะไม่ใช่ทุกสตาร์ทอัพจะประสบความสำเร็จ ผู้ลงทุนจึงควรรู้ว่าจะช่วยเสริมศักยภาพและสร้างประโยชน์ให้กับสตาร์ทอัพในด้านใด ที่ไม่ใช่แค่การให้เงินทุน แต่รวมไปถึงช่องทางการจัดจำหน่าย เพิ่มการลงทุนทั้งในไทยและต่างประเทศ ทุกอย่างต้องสอดคล้องและเหมาะสม ดูแลกันเหมือนครอบครัว

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 05 พ.ค. 2566 เวลา : 17:53:08
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 9:40 am