เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
บมจ.ไทยออยล์วิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ "ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันต่อเนื่อง จากสภาวะเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงชะลอตัวลง"


ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 65-75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 70-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

 
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (8 – 12 พ.ค. 66)
 
 
ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันต่อเนื่อง จากความวิตกกังวลต่อเศรษฐกิจโลกและความต้องการใช้น้ำมันที่ชะลอตัวลง จากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และความเสี่ยงจากการผิดชำระหนี้ของรัฐบาลสหรัฐ รวมถึงปัญหาวิกฤตการณ์ขาดสภาพคล่องของภาคธนาคารสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม การปรับลดกำลังผลิตของกลุ่ม OPEC ที่จะเริ่มมีผลในเดือน พ.ค. 66 เป็นต้นไปและความต้องการใช้น้ำมันของจีนที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น จะช่วยสนับสนุนราคาน้ำมันดิบให้ปรับลดลง

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้

เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงและคาดการณ์ว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.25% สู่ระดับ 5.0 - 5.25% ซึ่งนับเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 16 ปี เพื่อชะลอผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง โดยตลาดคาดว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้อาจจะเป็นการปรับขึ้นครั้งสุดท้าย เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงเผชิญความเสี่ยงในหลายภาคส่วน นอกจากนี้ ตลาดจับตาการเจรจาเรื่องเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ว่าจะสามารถเพิ่มขึ้นได้ภายใน 1 มิ.ย. หรือไม่ หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ คาดจะส่งผลกระทบต่อการชำระหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะมีกำหนดการนัดประชุมกับกลุ่มผู้นำระดับสูงภายในวันที่ 9 พ.ค. นี้ 
 
 
ความกังวลต่อวิกฤตภาคธนาคารกลับมาส่งผลต่อตลาดอีกครั้ง หลังสถาบันคุ้มครองเงินฝากสหรัฐฯ เข้ายึดธนาคาร First Republic Bank เนื่องจากประสบปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งนับเป็นสถาบันการเงินแห่งที่ 3 ที่มีปัญหาในปีนี้ และล่าสุดได้มีการจำหน่ายสินทรัพย์ให้กับ JPMorgan แล้ว นอกจากนี้ล่าสุดตลาดจับตา ธนาคาร Pacwest ว่าจะเป็นรายต่อไปที่ประสบปัญหาทางการเงินหรือไม่ หลังธนาคารออกมาประกาศว่ากำลังประเมินทางเลือกในการขายสินทรัพย์
 
 
กลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรเปิดเผยว่า กลุ่มผู้ผลิตจับตาสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงอย่างใกล้ชิดและคาดว่าเป็นการปรับลดลงเพียงชั่วคราวเท่านั้น โดยกลุ่มผู้ผลิตคาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดอุปทานลงตามข้อตกลงตั้งแต่เดือน พ.ค. 66 เป็นต้นไป ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบในครึ่งปีหลังค่อนข้างตึงตัว ทั้งนี้ ตลาดจับตาการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 4 มิ.ย. 66 ว่าจะมีการออกมาตรการเพิ่มเติมในการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันหรือไม่
 
 
ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันของจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สะท้อนจากการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงหยุดยาววันแรงงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดย กระทรวงคมนาคมของจีนเปิดเผยว่า นักท่องเที่ยวจีนมีการเดินทางมากกว่า 274 ล้านเที่ยว ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 20% จากในปี 2019 และนักท่องเที่ยวมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าจากปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม การเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศยังคงอยู่ในระดับประมาณ 50% ของช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
 
 
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน หลังโรงกลั่นน้ำมันของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มกำลังการกลั่นขึ้นเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูกาลขับขี่ โดย EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลง 1.2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 459.63 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะลดลง 1.1 ล้านบาร์เรล
 
 
การส่งออกน้ำมันดิบของอิรัก จากเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสสถานไปยังท่าเรือ Ceyhan ของตุรกี ยังคงปิดดำเนินการ แม้ว่ารัฐบาลอิรักและเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสสถานจะสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ แต่ยังคงไม่สามารถตกลงกับตุรกีได้ โดยความคืบหน้าล่าสุดอาจจะมีการกลับมาส่งออกน้ำมันดิบได้บางส่วนในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า โดยปริมาณการส่งออกที่ผ่านท่อส่งน้ำมันอยู่ที่ราว 450,000 บาร์เรลต่อวันหรือคิดเป็น 0.5 % ของอุปทานน้ำมันดิบโลก
 
 
เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ดัชนีราคาผู้ผลิตและผู้บริโภคของสหรัฐฯ เดือน เม.ย. 66 ดัชนีราคาผู้ผลิตและผู้บริโภคของจีน เดือน เม.ย. 66 และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (1 – 5 พ.ค. 66)  
 
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 4.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 71.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 4.01 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 75.30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 73.10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากตลาดกังวลเศรษฐกิจโลกและความต้องการใช้น้ำมันจะชะลอตัวลง จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และความเสี่ยงจากการผิดชำระหนี้ของสหรัฐฯ หากไม่สามารถเจรจาบรรลุข้อตกลงในการเพิ่มเพดานการชำระหนี้ได้ นอกจากนี้ ตลาดยังคงกังวลต่อความต้องการใช้น้ำมันของจีนหลังตัวเลขเศรษฐกิจทั้งในภาคอุตสาหกรรมและบริการของจีนในเดือน เม.ย. 66 มีการชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับลดลง 1.2 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับตัวลดลง 1.1 ล้านบาร์เรล
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 08 พ.ค. 2566 เวลา : 10:00:23
29-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 29, 2024, 7:04 am