รายงาน Gold Demand Trends ฉบับล่าสุดจากสภาทองคำโลก (World Gold Council) เผยแม้ความต้องการทองคำทั่วโลก (ไม่รวมการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์) ลดลง 13% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา การฟื้นตัวของการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์ทำให้ดีมานด์ทองคำโดยรวมเพิ่มเป็น 1,174 ตัน กล่าวคือ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 1% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ของปี 2565
ในประเทศไทย ความต้องการทองคำของผู้บริโภคประจำไตรมาสที่ 1/2566 เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 3.9 ตัน จาก 3.8 ตันในไตรมาสที่ 1/2565 เนื่องจากความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น 15% มาอยู่ที่ 1.9 ตัน จาก 1.6 ตัน ในไตรมาสที่ 1/2565 แม้ว่าความต้องการอัญมณีในประเทศจะลดลง 6% ไปอยู่ที่ 2.1 ตัน จาก 2.2 ตันในไตรมาสที่ 1/2565 ก็ตาม
Mr. Shaokai Fan หัวหน้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมประเทศจีน) และหัวหน้าฝ่ายธนาคารกลางระดับโลกของสภาทองคำโลก กล่าวว่า “ราคาทองคำที่พุ่งสูงขึ้นและแรงกดดันจากค่าครองชีพเป็นตัวฉุดให้ดีมานด์อัญมณีของไทยลดลง 6% ในไตรมาสที่ 1 เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยราคาทองคำที่สูงขึ้นส่งผลให้ผู้บริโภคตัดสินใจขายเครื่องประดับทองคำที่มีอยู่”
ภาพรวมของทองคำในไตรมาสที่ 1 ชี้ให้เห็นถึงความต้องการทองคำจากแหล่งผู้ซื้อที่หลากหลายทั่วโลก ส่งผลให้ราคาทองคำในไตรมาสนี้ขึ้นสูงถึง 1,890 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งนับว่าเกือบสูงสุดเป็นประวัติการณ์
นอกจากนี้ธนาคารกลางยังหนุนดีมานด์ด้วยการเพิ่มทองคำ 228 ตัน ในทุนสำรองทั่วโลก ถือเป็นสถิติสูงสุดของไตรมาสที่ 1 ในช่วงเวลานี้ การซื้อทองคำจำนวนมากอย่างต่อเนื่องของภาครัฐเน้นย้ำถึงบทบาททองคำในพอร์ตทุนสำรอง ระหว่างประเทศในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนและกำลังเผชิญกับความเสี่ยงสูง
ในทางตรงกันข้าม อัญมณีค่อนข้างทรงตัวในไตรมาสแรก โดยอยู่ที่ 478 ตัน ด้วยความต้องการของจีนฟื้นคืนสู่ระดับเดิม โดยแตะ 198 ตัน ในไตรมาสแรกจากพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคที่เติบโตและมีอิสระมากขึ้นนับตั้งแต่มีการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งช่วยชดเชยความต้องการในอินเดียที่การซื้อทองคำลดลง 17% ไปอยู่ที่ 78 ตัน ในไตรมาสที่ 1/2566 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ราคาทองคำในประเทศที่พุ่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็วนี้เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการซื้อดีมานด์การลงทุนมีความขึ้นลงในช่วงไตรมาสแรก การไหลเข้าของเงินทุนรอบใหม่ในกองทุน ETF ที่หนุนโดยทองคำในเดือนมีนาคม ซึ่งได้รับแรงขับหลักจากความเสี่ยงในลักษณะลูกโซ่ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้สวนทางกับการไหลออกของเงินทุนในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์บางส่วน และช่วยให้การไหลออกของกองทุนรายไตรมาสลดลงเหลือ 29 ตัน
ในทางกลับกัน การลงทุนในทองคำแท่งและเหรียญทองคำแข็งแกร่งขึ้น 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยไปอยู่ที่ 302 ตัน แม้ว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดในตลาดสำคัญ ๆ ดีมานด์ทองคำแท่งและเหรียญทองคำในสหรัฐแตะ 32 ตัน ในช่วงไตรมาสที่ 1 ซึ่งนับเป็นระดับสูงสุดรายไตรมาสเทียบกับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา และมีสาเหตุสำคัญมาจากความกังวลถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอย และการแสวงหาความปลอดภัยท่ามกลางความผันผวนของธุรกิจธนาคาร ซึ่งการเพิ่มขึ้นดังกล่าวช่วยพยุงดีมานด์ในยุโรป โดยเฉพาะประเทศเยอรมนีที่ดีมานด์ลดลง 73% อันเป็นผลจากอัตราดอกเบี้ยแท้จริงที่สูงขึ้น และราคาทองคำยูโรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการเทขายเพื่อทำกำไร
ในด้านอุปทานพบว่า ภาพรวมในไตรมาสที่ 1 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 1,174 ตัน ทั้งมีการผลิตเหมืองเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 1% และการรีไซเคิลเพิ่มขึ้น 5% เพราะมาจากปัจจัยราคาทองคำที่สูงขึ้น
Ms. Louise Street นักวิเคราะห์การตลาดอาวุโสประจำสภาทองคำโลก ให้ความเห็นว่า “ภาพรวมของไตรมาสที่ 1 ชี้ให้เห็นว่าความต้องการทองคำจากแหล่งที่หลากหลายจะช่วยหนุนบทบาทและการทำกำไรของทองคำในฐานะสินทรัพย์ระดับโลกได้อย่างไร ดีมานด์ที่โตขึ้นในบางภูมิภาคชดเชยจุดอ่อนในภูมิภาคอื่นๆที่ไม่เติบโต เนื่องจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันและปัจจัยที่ขับเคลื่อนดีมานด์มีบทบาทในตลาดทองคำทั่วโลกสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือนักลงทุนประเภทต่างๆ มองว่าทองคำเป็นสินทรัพย์ที่เก็บรักษามูลค่าได้ในช่วงที่ไม่มีความแน่นอน”
“ท่ามกลางความผันผวนของภาคส่วนธนาคาร ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่มีความท้าทาย ทำให้บทบาทของทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยได้อย่างชัดเจน ด้วยสถานการณ์ดังกล่าว ความต้องการลงทุนจึงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในปีนี้ โดยเฉพาะเมื่อแรงต้านเศรษฐกิจลดลงจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งตัวและการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ความต้องการในกองทุนทองคำ ETF จะยังคงเป็นไปในเชิงบวกในไตรมาสที่ 2 และผลจากภาวะถดถอยของตลาดที่พัฒนาแล้วอาจเป็นตัวกระตุ้นให้มีเงินทุนไหลเข้าเร็วขึ้นในช่วงปลายปีนี้ การซื้อทองคำของธนาคารกลางยังคงมีแนวโน้มที่จะแข็งแกร่งและเป็นตัวหนุนที่สำคัญของอุปทานตลอดปี 2566 แม้ว่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าที่เคยขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อปีที่ผ่านมา”
“แม้เศรษฐกิจในหลายประเทศมีความไม่มั่นคงและเกือบเข้าสู่ภาวะถดถอย ทองคำยังคงเป็นสินทรัพย์ทางกลยุทธ์ในระยะยาวที่ได้รับความสนใจ เนื่องจากมีประวัติในการสร้างผลตอบแทนที่ดีแม้ในช่วงที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยถึง 5 ครั้ง จากทั้งหมด 7 ครั้ง”
สามารถอ่านรายงาน Gold Demand Trends ไตรมาสที่ 1/2566 รวมถึงข้อมูลที่ครอบคลุมจาก Metals Focus ได้ที่นี่
สภาทองคำโลกฉลองครบรอบ 30 ปี ในการเป็นผู้รวบรวมข้อมูลรายงาน Gold Demand Trends อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่
ข่าวเด่น