IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2566 จะชะลอตัวลงเพียงเล็กน้อย แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมาย อีกทั้งตลาดแรงงานในหลายแห่งยังตึงตัวสังเกตจากอัตราส่วนระหว่างจำนวนตำแหน่งว่างงานและจำนวนผู้ว่างงานซึ่งอยู่ระดับสูงที่สุดในศตวรรษ อย่างไรก็ดี มีสัญญาณว่าอุปสงค์และอุปทานในตลาดแรงงานกำลังกลับสู่สมดุลที่ดีขึ้น นอกจากนี้ เริ่มเห็นผลกระทบจากการที่ธนาคารกลางหลายแห่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็วในภาคการเงิน โดยผู้ฝากเงินเกิดความไม่มั่นใจและทยอยถอนเงินจากธนาคารที่มีสถานะอ่อนแอ จนภาครัฐต้องรีบออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลาม อย่างไรก็ดี สำหรับบริษัทจดทะเบียนไทยมีผลกระทบค่อนข้างจำกัดเนื่องจากมีสินทรัพย์ที่เชื่อมโยงกับสถาบันการเงินดังกล่าวค่อนข้างน้อย
นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในเดือนเมษายน 2566 มีเงินลงทุนเคลื่อนย้ายออกจากตลาดหุ้นหลายแห่งในภูมิภาค รวมถึงตลาดหุ้นไทย อย่างไรก็ดี ตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่รายงานออกมาในเดือนล่าสุดสะท้อนให้เห็นถึงการส่งออก และการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีในอนาคต อีกทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือนมีนาคมกลับมาเกินดุลสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาด และโตบวกมา 2เดือนติดจนถึงเดือนเมษายน โดยเป็นผลจากทั้งดุลการค้าและการบริการ ทำให้เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น 1.7% YTD และแข็งค่ามากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค นอกจากนี้ยังสามารถสรุปสภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทยในเดือนเมษายนออกเป็นดังนี้
· ณ สิ้นเดือนเมษายน 2566 SET Index ปิดที่ 1,529.12 จุด ปรับลดลง 5.0% จากเดือนก่อนหน้า และปรับลดลง 8.4% เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนหน้า โดยปรับไปในทิศทางเดียวกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นใน ASEAN
· SET Index ที่ปรับตัวลงทำให้ผู้ลงทุนสนใจกองทุนหุ้นไทยมากขึ้น โดยกองทุนหุ้นไทย (ไม่รวมกองทุนประหยัดภาษี) มีเงินไหลเข้าสุทธิสะสม 3 เดือนแรกรวม 3.3 พันล้านบาท ซึ่งเป็นเงินไหลเข้าระดับพันล้านครั้งแรกในรอบ 3 ปี นอกจากนี้ กองทุน SSF ในไตรมาสแรกนี้มีเงินไหลเข้าสุทธิ 1.1 พันล้านบาท โดยมีเงินไหลเข้ากองทุน Equity Large-Cap มากที่สุด
· ในเดือนเมษายน 2566 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 46,811 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า 43.1% โดยมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในสี่เดือนแรกปี 2566 อยู่ที่ 62,461 ล้านบาท โดย ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิเป็นเดือนที่สาม หลังจากซื้อสุทธิสี่เดือนติดต่อ โดยในเดือนเมษายน 2566 ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 7,901 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนต่างประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12
· ในเดือนเมษายน 2566 มีบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ซื้อขายใน SET 1 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ. มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) (MGC) และใน mai 1 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ. พีลาทัส มารีน (PLT)
· Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนเมษายน 2566 อยู่ที่ระดับ 15.0 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.4 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 18.7 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 13.9 เท่า
· อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนเมษายน 2566 อยู่ที่ระดับ 3.14% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.36%
· ในเดือนเมษายน 2566 ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 402,387 สัญญา ลดลง 40.7% จากเดือนก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของทุกตราสาร โดยเฉพาะการลดลงของ SET50 Index Futures และ Single Stock Futures และในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 559,610 สัญญา ลดลง 1.1% จากปีก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของ Single Stock Futures
“ทั้งนี้ แม้จะมี Fundflow หรือเงินทุนเคลื่อนย้ายออกจากตลาดหุ้นไทย ซึ่งเดือนเมษายนนี้ลดลงเหลือ 7,900 ล้านบาท ผิดกับเดือนมกราคมที่เติบโตได้ดี ก็ต้องมารอดูกันในเดือนพฤษภาคมต่อไปว่าจะเป็นจุด Turning Point กลับเข้ามาหรือเปล่า เพราะตลาดอาจมีการตื่นตัวไปในช่วงก่อนหน้าที่มีข่าวเรื่องวิกฤติธนาคารของสหรัฐไปก่อนแล้ว และปัญหาของธนาคารของสหรัฐที่เกิดขึ้นก่อนหน้าที่ แม้ทาง IMF จะมองว่าเป็นเหตุการณ์เฉพาะ สามารถควบคุมได้ และคาดการณ์ว่าไม่มีผลกระทบที่จะก่อให้เกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ก็คงต้องรอดูว่าเรื่องนี้จะมีส่วนกระทบกับการปล่อยกู้ของธนาคารในสหรัฐหรือไม่ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องจับตาดูต่อไป” นายศรพล กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวเด่น