ในเดือนเม.ย.66 ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ปรับลดลงที่ 34.5 จาก 35.8 ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดัชนี 3 เดือนข้างหน้าทรงตัว สะท้อนความกังวลของครัวเรือนที่มีมากขึ้นเกี่ยวกับราคาพลังงาน แม้เงินเฟ้อไทยอยู่ในช่วงของการชะลอตัว สอดคล้องกับผลสำรวจเพิ่มเติมสะท้อนว่าครัวเรือนส่วนใหญ่ (58.8%) มีความกังวลต่อเงินเฟ้อในระดับมากเนื่องจากมีผลต่อการใช้จ่าย รายได้และเงินออม ประกอบกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นยังคงสร้างความกังวลของครัวเรือนที่มีต่อภาระหนี้สินอย่างต่อเนื่อง โดยจากการสอบถามเพิ่มเติมศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า ครัวเรือนส่วนใหญ่ (76.5%) มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม โดยงดการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยมากที่สุด
ในระยะข้างหน้า การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคการท่องเที่ยวจะยังสร้างมุมมองที่ดีต่อรายได้และการจ้างงานของครัวเรือน แต่ก็อาจไม่เพียงพอให้ดัชนี KR-ECI กลับมาฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งในระยะอันสั้น ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่หลากหลายโดยเฉพาะสภาพแวดล้อมต้นทุนการครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูงอย่างค่าไฟฟ้าและ อัตราดอกเบี้ย รวมถึงยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง อาทิ การส่งผ่านราคาผู้ผลิต การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก
ดัชนี KR-ECI เดือนเม.ย.66 ปรับตัวลดลง สะท้อนครัวเรือนมีมุมมองความกังวลเกี่ยวกับภาวะต้นทุนที่อยู่ในระดับสูงอย่างค่าไฟฟ้าและดอกเบี้ยขาขึ้น
ในเดือนเม.ย.66 ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ถูกกดให้ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 5 เดือนที่ 34.5 จาก 35.8 ในเดือนมี.ค.66 ขณะที่ดัชนีฯ 3 เดือนข้างหน้ายังคงทรงตัว จากสภาพแวดล้อมของต้นทุนการครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูงในขณะนี้ ถึงแม้อัตราเงินเฟ้อไทยจะปรับลดต่ำสุดในรอบ 16 เดือนที่ 2.67%YoY ในเดือนเม.ย.66 แต่ครัวเรือนก็ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับราคาพลังงานโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าในงวดเดือนพ.ค.-ส.ค.66 ที่แม้ปรับลงจากงวดเดือนก่อนหน้าที่ 4.70 บาทต่อหน่วยแต่ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยครัวเรือนยังคงรู้สึกถึงผลกระทบของค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นท่ามกลางปริมาณการใช้ไฟที่เพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่ร้อน ซึ่งในเดือนพ.ค.66 ภาครัฐก็ได้มีมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นให้ได้รับส่วนลด แต่มาตรการดังกล่าวถูกปรับใช้กับเฉพาะกลุ่มเปราะบางเนื่องด้วยข้อจำกัดของงบประมาณ ทั้งนี้ ความกังวลของครัวเรือนสะท้อนผ่านองค์ประกอบของดัชนีด้านราคาสินค้าและค่าใช้จ่ายที่ไม่รวมหนี้ที่ปรับลดลง (กังวลมากขึ้น) ในเดือนนี้ ซึ่งสอดคล้องกับการสำรวจเพิ่มเติมของศูนย์วิจัยกสิกรไทยเกี่ยวกับระดับความกังวลต่อเงินฟ้อของครัวเรือนในขณะนี้พบว่า ครัวเรือนเกินครึ่งหนึ่ง (58.8%) มีความกังวลมากเนื่องจากมีผลต่อการใช้จ่าย รายได้และการออม ขณะที่ครัวเรือนอีกเกือบ 1 ใน 3 (30.3%) ยังมีความกังวลเนื่องจากแม้มีผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายแต่คาดว่าเงินเฟ้อจะมีทิศทางลดลง และครัวเรือนที่เหลือ (10.9%) ไม่ค่อยมีความกังวลเนื่องจากมองว่าเงินเฟ้อได้ชะลอลงแล้วและคาดว่าภาครัฐจะสามารถจัดการได้
นอกจากนี้ ต้นทุนทางเงินที่เพิ่มขึ้นตามทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็ยังเป็นปัจจัยที่สร้างความกังวลให้แก่ครัวเรือนอย่างต่อเนื่องถึงภาระในการชำระหนี้เมื่อดอกเบี้ยเงินกู้รายย่อย (MRR) ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งในการประชุม กนง. เดือนพ.ค.นี้ยังมีความเป็นไปได้ที่ กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้ง ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ 2.00% ต่อปี ทั้งนี้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจมุมมองของครัวเรือนเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของครัวเรือนท่ามกลางทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งพบว่า ครัวเรือนส่วนใหญ่ (76.5%) ได้มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมโดยงดการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยถึง 71.0% นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในรูปแบบอื่น ๆ ได้แก่ ลดการบริโภค 25.4% ชะลอการก่อหนี้หรือซื้อของที่มีมูลค่าสูง เช่น บ้าน รถยนต์ 21.2% หารายได้/ทำงานมากขึ้น 14.8% นำเงินเก็บออกมาใช้ 14.4% และกู้เงินจากแหล่งอื่น (นอกสถาบันการเงิน) 7.8% ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่สำคัญในปีนี้ยังคงฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง โดยยังคงเป็นปัจจัยหนุนมุมมองที่ดีต่อรายได้และการจ้างงานของครัวเรือนซึ่งมีในเดือนมี.ค.66 อัตราการว่างงานอยู่ที่ระดับ 1.0% แต่มุมมองที่ดีขึ้นจากภาคท่องเที่ยวดังกล่าวก็ยังไม่เพียงพอที่จะช่วยชดเชยแรงกดดันจากภาวะต้นทุนที่อยู่ในระดับสูงที่มีต่อภาพรวมการครองชีพของครัวเรือนในเดือนนี้ได้
ในระยะข้างหน้า การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวจะยังสร้างมุมมองที่ดีเกี่ยวกับรายได้และการจ้างงานของครัวเรือนได้ แต่ก็อาจไม่เพียงพอให้ดัชนี KR-ECI สามารถกลับมาฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งในระยะอันสั้น เนื่องจากยังมีหลายปัจจัยที่กดดันครัวเรือนที่โดยเฉพาะต้นทุนการครองชีพ ทั้งทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อไทยในระยะต่อไปที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังมีมุมมองว่าจะยังมีแนวโน้มต้องเผชิญกับแรงกดดันจากค่าไฟฟ้าและก๊าซหุงต้มที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงยังคงต้องติดตามการส่งผ่านราคาของผู้ผลิตไปยังผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับยังมีความไม่แน่นอนจากทิศทางเศรษฐกิจโลกรวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยหลังการเลือกตั้ง
โดยสรุปแล้ว ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ปัจจุบัน (เม.ย.66) ปรับลดลงที่ 34.5 จาก 35.8 ในเดือนมี.ค.66 ขณะที่ดัชนี 3 เดือนข้างหน้าทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ 37.7 โดยครัวเรือนมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับราคาสินค้าและค่าใช้จ่ายในเดือนนี้แม้ราคาสินค้าส่วนใหญ่ชะลอตัว ประกอบกับความกังวลเกี่ยวกับภาระในการชำระหนี้ก็ยังคงอยู่ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวที่ยังฟื้นตัวยังคงเป็นปัจจัยหนุนดัชนีที่สำคัญแต่อาจไม่เพียงพอให้ดัชนีกลับมาฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งในระยะอันสั้น
ข่าวเด่น